สภาผู้บริโภคฯ กระทุ้ง “กสทช.” จัดการดีล “ทรู-ดีแทค” ลอยแพประชาชนเกิน 2 ปี
“สภาองค์กรเพื่อผู้บริโภคฯ” เล็งยื่นโนติสถึงกสทช. หลังดีล “ทรู-ดีแทค” หลังทำประชาชนถูกลอยแพมากว่า 2 ปี ไม่เคยได้รับประโยชน์ใดจากการรวมธุรกิจของค่ายมือถือ ระบุการขอลดมาตรการเยียวยาเหลือ 5 ปี ยังเอาเปรียบผู้บริโภค พร้อมจวกกสทช.เสือกระดาษไม่กล้าจัดการบ้านตัวเอง ปล่อย สนง.เกียร์ว่าง
นายอิฐบูรณ์ อ้นวงษา รองเลขาธิการสำนักงานสภาองค์กรเพื่อผู้บริโภค เปิดเผยว่า การที่มีรายงานข่าวจากสื่อมวลชนว่าบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE ขอให้สำนักงาน คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ทำเรื่องเสนอบอร์ดให้ลงมติลดระยะเวลาการบังคับใช้มาตรการเยียวยาจาก 10 ปีเป็น 5 ปีน้้น
สภาฯ อยากจะให้ความเห็นว่า ปัจจุบันตลาดโทรคมนาคมก็เหลือผู้เล่นรายใหญ่เพียง 2 ราย ดัชนีการกระจุกตัวและถือว่าการควบรวมที่เกิดขึ้นทำให้ทรูและดีแทคถือเป็นผู้มีอำนาจเหนือตลาด และแม้บอร์ด กสทช.จะลงมติให้ตงแบรนด์ทรูและดีแทคไว้ 3 ปี ส่วนตัวไม่เห็นว่าจะมีประโยชน์ใดกับผู้บริโภคเพราะเหมือนเป็นวาระกรรมที่เขียนไว้เท่านั้น เพราะอัตราค่าบริการ โปรโมชั่น แพคเก็จ และการจ่ายเงิน ช่องทางการจ่ายบิลก็เป็น ช้อปเดียวกันทั้งหมด
ภายในสัปดาห์นี้ สภาฯ จะส่งหนังสือทวงถามความคืบหน้า (Notice) ให้กับคณะกรรมการกิจการกระจายเสียงกิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติหรือ กสทช. ทำรายงานการบังคับใช้มาตรการเฉพาะเพื่อการคุ้มครองผู้บริโภค ภายหลังการรวมธุรกิจระหว่าง บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) (TUC) และบริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTN) หลังจากที่ส่งให้ส่งภายใน 60 วันตั้งแต่เมื่อต้นปี 2567 ที่ผ่านมา แต่ก็ยังไม่เคยได้รับรายงานใดๆ ตอบกลับจากทาง กสทช.เลย
นายอิฐบูรณ์ กล่าวเสริมว่า พบประเด็นที่สำคัญ คือ กสทช. ต้องมีการปฏิรูปการพิจารณาการควบรวบธุรกิจใหม่ให้เป็นมาตรฐาน โดยอ้างอิงหลักเกณฑ์การพิจารณาตามกฎหมายในต่างประเทศที่จะต้องนำมาตรการไปจัดทำประชาพิจารณ์เพื่อรับฟังความคิดเห็นจากนักวิชาการ ประชาชน ผู้ประกอบการรายอื่น ๆ ที่ร่วมกันวิเคราะห์และแสดงความคิดเห็น อีกทั้งยังต้องมีการกำกับติดตามให้ทรูและดีแทคปฏิบัติตามข้อกังวลและเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะให้ครบถ้วนเพื่อคุ้มครองผู้บริโภคตามแนวทางของคณะกรรมการ กสทช. ที่กำหนดไว้หลังอนุญาตให้ควบรวมกิจการ
รองเลขาธิการสภาฯ กล่าวอีกว่า สภาฯอาศัยอำนาจตามพ.ร.บ. การจัดตั้งสภาองค์กรของผู้บริโภคพ.ศ. 2562 มาตรา 14 (3) ให้อำนาจสภาฯทำรายงานการกระทำหรือละเลยการกระทำอันมีผลกระทบต่อสิทธิของผู้บริโภค ไปยังหน่วยงานของรัฐหรือหน่วยงานอื่นที่รับผิดชอบและเผยแพร่ให้ประชาชนทราบ แต่จนถึงขณะนี้ กสทช.ก็ไม่ให้ความร่วมมือ ซึ่งประเด็นตรงนี้ ตนอยากจะพุ่งเป้าไปที่สำนักงาน กสทช. เพราะเป็นเหมือนผู้รับผิดชอบตามมติที่บอร์ดกสทช.แต่จากทุกคนก็ทราบดี ปัญญาภายในขององค์กร ที่มีสำนักงาน กสทช. ทำตัวเป็นเพียงคนส่งสารไม่ใช่คนไปกำกับดูแล และทำตามมติบอร์ดอย่างเข้มงวดและจริงจัง
“ประชาชนไม่ได้รับประโยชน์จากการกำกับดูแลของสำนักงาน กสทช. มันส่งผลทั้งต่อผู้บริโภคและประเทศชาติด้วย การไม่ดำเนินการเอาจริงจังปล่อยเวลาล่วงเลย 2 ปี ถือว่ากสทช.ขาดธรรมาภิบาลอย่างประจักษ์”
อีกทั้ง ก่อนหน้านี้ เกิดปัญหาภายในองค์กร จากที่ปรากฏมีหนังสือ ด่วนที่สุด ที่ สทช. 1001/63 ลงวันที่ 20 กรกฎาคม 2566 เรื่อง การปฏิบัติตามหน้าที่และอำนาจ แจ้งเลขาธิการ กสทช. เพื่อให้แจ้งพนักงานสำนักงาน กสทช. ทราบและถือปฏิบัติ โดยส่งจากประธาน ถึงกรรมการ กสทช.ทุกคน มีการย้ำชัดว่า สำนักงานต้องฟังคำสั่งของประธาน กสทช.แต่เพียงผู้เดียว หากกรรมการ กสทช. ท่านใดประสงค์จะให้สำนักงาน กสทช. ดำเนินการใด ๆ ขอให้ทำเป็นหนังสือถึงประธาน กสทช. เพื่อจะได้พิจารณามอบหมายตามสายบังคับบัญชาต่อไป
โดยเรื่องดังกล่าว อาจจะเป็นมูลเหตุทำให้เกิดปัญหา ที่ประธาน กสทช.แทรกวาระ 4.23 เรื่อง รายงานการศึกษาเปรียบเทียบมาตรการเฉพาะกรณีการรวมธุรกิจขึ้นมาพิจารณา โดยไม่ได้นำผลการศึกษามาเสนอในที่ประชุม แต่กลับนำเอกสารขอยกเลิกเงื่อนไขมาตรการหลังควบรวมกิจการทรู-ดีแทค มาให้ กรรมการ กสทช. พิจารณาแทน ทั้งที่ วาระต้องพิจารณาเกือบ 40 วาระ แต่ที่ประชุมไม่สามารถพิจารณาได้เลยแม้แต่วาระเดียว มีเพียงเรื่องแจ้งเพื่อทราบเท่านั้น จนทำให้ กรรมการ กสทช.บางท่าน ไม่พอใจกับการรวบอำนาจของประธาน กสทช. จนเกิดความขัดแย้งภายในองค์กรแห่งนี้