เสี่ยงเกินไป? แนวคิดดึง “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
เสี่ยงเกินไป? แนวคิดดึง “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” แก้ปัญหาเศรษฐกิจ
การใช้ “ทุนสำรองระหว่างประเทศ” หรือ Foreign Exchange Reserves กลายเป็นหัวข้อวิพากษ์วิจารณ์ครั้งใหญ่ หลัง นายพิชัย ชุณหวชิร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง เปิดเผยแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน เฟส 2 โดยมีแนวคิดที่จะใช้เงินสำรองบางส่วน ซึ่งมีมูลค่าประมาณ 4-5 ล้านล้านบาท เพื่อช่วยเหลือผู้ที่เข้าไม่ถึงสินเชื่อในชนบท ผ่านกลไกสถาบันการเงินของรัฐ
ข้อถกเถียงในสภา
แนวคิดดังกล่าวถูกตั้งคำถามโดย นางสาวศิริกัญญา ตันสกุล รองหัวหน้าพรรคประชาชน ในการตั้งกระทู้ถามสดในสภาผู้แทนราษฎร โดยเธอชี้ว่า การนำเงินทุนสำรองที่สะสมเป็นเงินตราต่างประเทศมาใช้ในประเทศ อาจส่งผลให้ “เงินบาทแข็งค่าเกินไป” และสร้างผลกระทบต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจในระยะยาว
ขณะที่ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง ยอมรับในระหว่างการตอบกระทู้ถามสดว่า เรื่องดังกล่าวยังไม่มีข้อมูลเพียงพอ และจะนำข้อกังวลกลับไปหารือเพิ่มเติม
เสียงค้านจากนักวิชาการ
ดร.นณริฏ พิศลยบุตร นักวิชาการอาวุโสจากทีดีอาร์ไอ (TDRI) เตือนว่า การดึงเงินทุนสำรองออกมาใช้นอกจาก จะ “ทำลายสภาพคล่อง” ยังอาจก่อให้เกิดความผันผวนของค่าเงินบาท กระทบความเชื่อมั่น และทำลายกลไกตลาด เพราะหน้าที่ของทุนสำรองคือการสนับสนุนธุรกรรมระหว่างประเทศ ไม่ใช่ปล่อยกู้หรือแก้ปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ
เขาเสนอว่า การแก้ปัญหาเศรษฐกิจควรมุ่งเน้นการปรับโครงสร้างเศรษฐกิจ เพิ่มศักยภาพธุรกิจไทย และกระจายความเจริญไปยังพื้นที่ต่าง ๆ มากกว่าการแตะต้องทุนสำรอง ซึ่งอาจสร้างความเสียหายระยะยาว
ผลกระทบต่อหุ้นไทย
ในมุมมองตลาดทุน การดึงเงินทุนสำรองออกมาใช้อาจทำให้นักลงทุนต่างชาติขายหุ้นไทย หันมาลงทุนในค่าเงินแทน ส่งผลให้ตลาดหุ้นไทยร่วงและเกิดสภาวะซึมยาว
บทบาทของเงินทุนสำรองระหว่างประเทศ
“ทุนสำรองระหว่างประเทศ” ทำหน้าที่เป็นเกราะป้องกันเศรษฐกิจของประเทศ โดยใช้สนับสนุนการพิมพ์ธนบัตร ดูแลเสถียรภาพค่าเงิน และสร้างความเชื่อมั่นแก่ประชาชนและนักลงทุนทั่วโลก ปัจจุบันไทยมีทุนสำรอง รวม 236 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ (ข้อมูล ณ เดือนสิงหาคม 2567) ซึ่งถือว่าสูงกว่ามาตรฐานสากล
แต่การใช้ทุนสำรองระหว่างประเทศเพื่อแก้ไขปัญหาเศรษฐกิจในประเทศ โดยมีเป้าหมายช่วยเหลือผู้ด้อยโอกาส อาจเป็นการเกาไม่ถูกที่คัน และอาจนำประเทศไปยืนอยู่บนความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกที่มีความผันผวนจากปัจจัยคาดเดาได้ยาก นำไปสู่ความเสี่ยงต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและตลาดทุน