“เจ.พี.มอร์แกน” มอง “กลุ่มแบงก์” ปี 68 เพิ่มนโยบายปันผล ชู SCB-KTB เด่นสุด
“เจ.พี.มอร์แกน” มองกลุ่มแบงก์ “SCB-KTB-TTB-TISCO-BBL-KBANK” จ่ายปันผลสูงขึ้นในปี 67-68 พร้อมเพิ่มน้ำหนักลงทุน SCB
เจ.พี.มอร์แกน (J.P. Morgan) เปิดเผยว่าฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่าผลการดำเนินงานของ กลุ่มธนาคาร ในไทยจะคงที่ในอีก 12-18 เดือนข้างหน้าโดยความเสี่ยงด้านกำไรจากการดำเนินงานและต้นทุนสินเชื่อได้ลดลงแล้ว ซึ่งมูลค่าในปัจจุบันไม่ได้อยู่ในระดับที่เป็นที่ต้องการจากนักลงทุน โดยมองว่าอยู่ต่ำกว่าระดับกลางเพียงเล็กน้อย ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์คาดการณ์ว่า การจ่ายเงินปันผลจะเป็นตัวกำหนดผลการดำเนินงานของกลุ่มแบงก์ในอีก 3-6 เดือนข้างหน้านี้
โดยมี บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) หรือ SCB จ่ายปันผลอยู่ที่ 80% ส่วน ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KTB คาดการณ์ว่าจะเพิ่มขึ้นเป็น 40% ในปี 67 ส่วนปี 68 อยู่ที่ 50% และปี 69 อยู่ที่ 50% เมื่อเทียบกับปี 66 อยู่ที่ 33%
นอกจากนั้นฝ่ายวิเคราะห์ยังคาดการณ์ว่า ธนาคารทหารไทยธนชาต จำกัด (มหาชน) หรือ TTB จะยังคงใช้ประโยชน์ทางด้านภาษีในการเพิ่มอัตราการจ่ายปันผลเป็น 65% ในปี 67 ส่วนปี 68 อยู่ที่ 70% และปี 69 อยู่ที่ 70% เมื่อเทียบกับปี 66 อยู่ที่ 55%
ด้าน ธนาคารกสิกรไทย จำกัด (มหาชน) หรือ KBANK คาดการณ์ว่าจะจ่ายปันผลเพิ่มเป็น 41% ในปีนี้ เมื่อเทียบกับปี 66 อยู่ที่ 36% และ บริษัท ทิสโก้ไฟแนนเชียลกรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TISCO จะยังคงเป็นผู้นำในเรื่องยีลด์ปันผลโดยจะจ่ายที่ 7.75 บาท ประมาณ 90% ส่วน ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน)หรือ BBL คาดการณ์ว่าในปี 67 จะยังอยู่ที่ 32 ส่วนปี 68 อยู่ที่ 33% เทียบกับปี 66 อยู่ที่ 32%
อย่างไรก็ดี เจพี มอร์แกน มองว่าการดำเนินงานของกลุ่มธนาคารยังไม่เห็นการปรับตัวที่ดีขึ้น โดย GDP ของปี 67 คาดการณ์ว่าจะโตที่ 3% ส่วนปี 68-69 จะอยู่ที่ 3.1-3.3% ในขณะที่ธนาคารยังคงมีมาตรการการปล่อยสินเชื่อที่เข้มงวด ส่งผลให้การเติบโตของงบดุลที่ต่ำในปีหน้า
นอกจากนี้ เจ.พี.มอร์แกน คาดการณ์ว่ากำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย และค่าเสื่อมราคา (PPOP) จะลดลง 5% ในปี 68 สำหรับธนาคารทั้ง 6 ที่มีการกล่าวถึง โดยจะมีการเติบโตของสินเชื่อ อยู่ที่ 3% อัตรากำไรสุทธิจากการปล่อยสินเชื่อลดลง 0.09% และอัตราค่าใช้จ่ายเทียบกับรายได้ (CIR) ที่เพิ่มขึ้น 45.6% เพิ่มขึ้น 1.52% ต่อปี ทั้งนี้ฝ่ายวิเคราะห์ได้รวมการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาสที่ 1 และผลกระทบจากการปรับโครงสร้างหนี้เข้าไปในการวิเคราะห์ด้วย ซึ่งบางส่วนจะเป็นการส่งผ่านไปยังผู้กู้และผู้ฝากเงิน
อีกทั้ง คาดการณ์อัตรากำไรสุทธิจากการปล่อยสินเชื่อ (NIM) ลดลงเนื่องจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยและมีการแข่งขันที่เพิ่มขึ้นในกลุ่มลูกค้าประเภทเดียวกัน ส่วนรายได้ที่ไม่ใช่ดอกเบี้ยและค่าใช้จ่ายยังคงอยู่ในกรอบ
ด้านความเสี่ยงด้านคุณภาพสินทรัพย์ใน 3 ถึง 5 ปีข้างหน้ายังมีอยู่ แต่มาตรการการปรับโครงสร้างในสัปดาห์นี้น่าจะทำให้สามารถมองเห็นต้นทุนสินเชื่อในอีก 4-8 ไตรมาสข้างหน้าได้ชัดเจนยิ่งขึ้นส่งผลให้ความเสี่ยงของการปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นจึงต่ำ
ส่วนข้อเสนอการปรับโครงสร้างหนี้ล่าสุดจะนำไปสู่ภาระการชำระหนี้ที่ลดลงสำหรับสินเชื่อ 2% ของธนาคารพาณิชย์ แต่ยังไม่สามารถแก้ไขสาเหตุพื้นฐานของสินเชื่อที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPLs) ได้อย่างเต็มที่ ดังนั้นความชัดเจนของกำไร สำหรับธนาคารในปี 68-69 จะดีขึ้น แต่ความชัดเจนของงบดุลในระยะ 3 ถึง 5 ปีอาจไม่เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญ โดย เจ.พี.มอร์แกน ระบุว่าเพิ่มเติมว่าปัญหาคือการเติบโตของรายได้ที่ช้าในกลุ่มใหญ่ของเศรษฐกิจ ซึ่งต้องการมาตรการทางการคลังและนโยบายอุตสาหกรรมที่สำคัญ รวมถึงเวลาในการปรับเปลี่ยน
ทั้งนี้ เจ.พี.มอร์แกน คาดการณ์ว่า KBANK, KTB, และ TTB จะมีการจ่ายปันผลที่สูงขึ้นในปี 67- 68 ส่วน BBL มีการปรับประมาณการกำไรต่อหุ้นที่สูงขึ้น ด้าน SCB คาดการณ์ว่าจะมีนโยบายการจ่ายเงินปันผลที่ 80% โดยรวมทั้งหมดนี้ โดยฝ่ายนักวิเคราะห์จึงปรับเพิ่มมุมมอง KBANK เป็นแนะนำ “ถือ” ขณะที่ KTB และ TTB เป็นแนะนำลงทุน Overweight, พร้อมทั้งคงน้ำหนักลงทุน สำหรับ SCB, และ “ถือ” สำหรับ BBL และ TISCO