บล.กรุงศรี เตือนทบทวนฐานภาษีสรรพสามิต กระทบหุ้น ”เครื่องดื่ม-ยานยนต์“ เสี่ยงยอดขายวูบ

สรรพสามิต” สั่งทบทวนราคาขายปลีกสินค้า หลังพบผู้ประกอบการแจ้งราคาขายเพื่อคำนวณภาษีต่ำกว่าความเป็นจริงราว 5-10% เบื้องต้นอาจครอบคลุม 22 รายการ รวมถึงรถยนต์และน้ำดื่ม “บล.กรุงศรี” ประเมินกลุ่มเครื่องดื่มเสี่ยงกระทบสูง ICHI-OSP-CBG-SAPPE และกลุ่มเชื่อมโยงธุรกิจยานยนต์ หากฐานที่ใช้สูงขึ้นอาจจะทำให้ผู้บริโภคชะลอบริโภคลง โบรกแนะเลี่ยงลงทุนจนกว่าจะมีสัญญาณทางบวก


บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุในบทวิเคราะห์เมื่อวันที่ 17 ธ.ค. 67 ว่า จากกระแสข่าว “กรมสรรพสามิต” สั่งทบทวนราคาขายปลีก ซึ่งใช้เป็นฐานการเก็บภาษีสรรพสามิต โดยเบื้องต้นอาจครอบคลุม 22 รายการ รวมถึงรถยนต์และน้ำดื่ม

โดยประเมินประเด็นดังกล่าวเป็นจิตวิทยาลบต่อกลุ่มเครื่องดื่ม,ยานยนต์ และกลุ่มที่เชื่อมโยงกับธุรกิจยานยนต์ อาทิ ธนาคารที่เน้นสินเชื่อเช่าซื้อ โดยหากฐานที่ใช้สูงขึ้นอาจจะทำให้ผู้บริโภคชะลอบริโภคลง

ทั้งนี้กลุ่มเครื่องดื่มประเมินหุ้นเสี่ยงกระทบสูง คือ กลุ่มที่มีสัดส่วนยอดขายในประเทศมากๆ อาทิ บริษัท อิชิตัน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ ICHI, บริษัท โอสถสภา จำกัด (มหาชน)หรือ OSP ,บริษัท คาราบาวกรุ๊ป จำกัด (มหาชน)หรือ CBG, บริษัท เซ็ปเป้ จำกัด (มหาชน) หรือ SAPPE ซึ่งมียอดขายในประเทศ 95%, 60%, 30% และ 20% ของยอดขายรวม ตามลำดับ

ส่วนกลุ่มยานยนต์และสถาบันการเงินที่เชื่อมโยง ประเมินหุ้นเผชิญแรงกดดันยอดขายซบเซามาตลอดทั้งปี น่าจะทำให้ผลกระทบจำกัด ทั้งนี้ยังไม่แนะนำให้กลับเข้าลงทุนจนกว่าจะมีสัญญาณทางบวก

ทั้งนี้มีรายงานข่าวจากกรมสรรพสามิต เปิดเผยว่า กรมสรรพสามิตเตรียมทบทวนราคาขายปลีกแนะนำสินค้าที่อยู่ในพิกัดการจัดเก็บของกรมสรรรพสามิต เพื่อใช้เป็นฐานในการคำนวณภาษีสรรพสามิตใหม่ เนื่องจากเห็นว่าราคาขายปลีกแนะนำของสินค้าหลากหลายรายการ ในปัจจุบันมีราคาที่ต่ำกว่าความเป็นจริง ร้อยละ 5-10

ทั้งนี้ราคาขายปลีกแนะนำ ทางผู้ผลิตสินค้าจะเป็นผู้กำหนด ขณะที่กรมสรรพสามิตจะเป็นผู้เข้าไปตรวจสอบว่าเป็นราคาขายปลีกที่เหมาะสมหรือไม่ ดังนั้น เมื่อมีการกำหนดราคาขายปลีกแนะนำที่ต่ำ ก็ส่งผลให้การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต ต่ำลงตามไปด้วยเช่นกัน

สำหรับปัจจุบันการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิตอยู่ในระดับ 500,000-600,000 ล้านบาทต่อปี โดยสินค้าและบริการที่อยู่ในพิกัดภาษีมีอยู่ 22 รายการ โดยเน้นการจัดเก็บภาษีเพื่อลดผลเสียต่อสุขภาพและสินค้าที่มีลักษณะฟุ่มเฟือยเป็นหลัก โดย 6 รายการแรกที่มียอดจัดเก็บภาษีมากที่สุด คือ น้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน รถยนต์ เบียร์ สุรา ยาสูบ และเครื่องดื่ม หากมีการปรับเพิ่มราคาขายปลีกเพิ่มขึ้นอีกประมาณ ร้อยละ 5 รัฐบาลก็จะมีรายได้เพิ่มขึ้นอีก 20,000-30,000 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม การปรับปรุงราคาขายปลีกแนะนำใหม่นั้น จะเน้นไปยังสินค้าที่มีราคาสูงเช่น รถยนต์ โดยเฉพาะรถยนต์ในตลาดเกรย์ มาร์เกต เป็นรถหรู รถที่มีราคาสูง ซึ่งเป็นสินค้านำเข้าที่มีมูลค่าสูงและมีการคิดราคาขายปลีกที่ต่ำกว่าความเป็นจริงร้อยละ 5-15

ก่อนหน้านี้กรมสรรพสามิต ได้รับเป้าหมายการจัดเก็บรายได้ในปีงบประมาณ 68 ไว้ที่ 600,000 ล้านบาท โดยมองว่าหากไม่ มีปัจจัยภายนอกกระทบ เชื่อว่าการจัดเก็บรายได้จะเป็นไปตาม เป้าหมาย ขณะที่การจัดเก็บภาษีคาร์บอน ได้ดำเนินการเรียบร้อย แล้ว และอยู่ระหว่างเสนอให้ ครม.พิจารณา โดยยืนยันว่าในหลักการจะไม่ส่งผลกระทบกับประชาชนอย่างแน่นอน เพราะในระยะแรก จะเริ่มเก็บจากน้ำมัน ซึ่งเก็บจากสัดส่วนการปล่อยก๊าซคาร์บอน ไดออกไซด์ เป็นหลัก

Back to top button