CGSI มอง “แบงก์” รับผลกระทบมาตรการช่วย “ลูกหนี้”

CGSI คงน้ำหนักลงทุน “หุ้นแบงก์” พร้อมมองว่ามาตรการช่วยเหลือลูกหนี้รายย่อยของภาครัฐ ทำให้แบงก์ต้องยอมหั่นรายได้ดอกเบี้ย เพื่อแลกกับอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลงและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นตลอดอายุโครงการ 3 ปี


ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ ว่า เมื่อวันที่ 11 ธ.ค.67 กระทรวงการคลังและธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ประกาศมาตรการช่วยเหลือ ลูกหนี้ 2 มาตรการ โดยมาตรการแรกจะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อบ้านไม่เกิน 5 ล้านบาท, สินเชื่อรถและสินเชื่อจำนำทะเบียนรถไม่เกิน 800,000 บาท, สินเชื่อเช่าซื้อรถจักรยานยนต์และสินเชื่อจำนำทะเบียน รถจักรยานยนต์ไม่เกิน 50,000 และสินเชื่อ SME ไม่เกิน 5 ล้านบาท

มาตรการนี้จะลดภาระการผ่อนชำระค่างวดของลูกหนี้เป็นเวลา 3 ปี โดยลูกหนี้จะต้องชำระค่างวดขั้นต่ำในอัตรา 50% ของค่างวดเดิมในปีที่ 1 ก่อนจะเพิ่มเป็น 70% ในปีที่ 2 และเพิ่มเป็น 90% ในปีที่ 3 ซึ่งค่างวดทั้งหมดจะนำไปตัดเงินต้น จากนั้นลูกหนี้จะกลับมาชำระค่างวดเท่าเดิมหลังจากปีที่ 3 นอกจากนี้ เจ้าหนี้ยังจะให้ลูกหนี้พักชำระดอกเบี้ยในระหว่าง 3 ปีนี้

ขณะที่คุณสมบัติของลูกหนี้ที่สามารถเข้าร่วมมาตรการจะต้องทำสัญญากู้เงินก่อนวันที่ 1 ม.ค. 2567และเป็นหนี้ที่ค้างชำระไม่เกิน 1 ปีในวันที่ 31 ต.ค.2567 ส่วนเงื่อนไขในการเข้าร่วมมาตรการคือ ลูกหนี้จะต้องไม่ทำสัญญาขอสินเชื่อเพิ่มเติมในช่วง 12 เดือนแรก และเจ้าหนี้จะต้องส่งค่างวดให้กับบริษัทข้อมูลเครดิตแห่งชาติ (เครดิตบูโร)

มาตรการที่สอง จะช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีวงเงินสินเชื่อไม่เกิน 5,000 บาท ซึ่งมีสถานะเป็นหนี้เสีย (NPL) แล้ว โดยลูกหนี้ที่มีปัญหาสามารถขอเจรจากับเจ้าหนี้ เพื่อชำระหนี้บางส่วนและปิดจบหนี้ เพื่อไม่ให้มีประวัติหนี้เสียในเครดิตบูโร แต่ปัจจุบันยังไม่มีรายละเอียดเกี่ยวกับสัดส่วนหนี้ที่ต้องชำระคืน

สำหรับสถาบันการเงินที่เข้าร่วมมาตรการนี้ ได้แก่ ธนาคารพาณิชย์, สถาบันการเงินเฉพาะกิจและผู้ประกอบการในกลุ่ม Non-bank ที่เป็นบริษัทลูกของธนาคาร ดังนั้น SAWAD และ MTC จึงไม่ได้ประโยชน์จากมาตรการนี้ ส่วน TIDLOR ไม่มีวงเงินสินเชื่อต่ำกว่า 5,000 บาท ทั้งนี้กระทรวงการคลังจะนำเงินสมทบกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบัน การเงิน (FIDF) 0.23% (เทียบกับ FDIF fee ที่ 0.46% ของเงินฝาก) มาใช้ดำเนินการมาตรการเหล่านี้

ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI มีมุมมอง Neutral ต่อมาตรการช่วยเหลือลูกหนี้ เพราะมองว่าธนาคารพาณิชย์ต้องยอมหั่นรายได้ดอกเบี้ย เพื่อแลกกับอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลงและคุณภาพสินทรัพย์ที่ดีขึ้นตลอดอายุโครงการ 3 ปี ส่วนผลกระทบต่อธนาคารจะขึ้นอยู่กับพอร์ตสินเชื่อ, จำนวนลูกหนี้ที่มีคุณสมบัติเข้าร่วมมาตรการและอัตราการเข้าร่วมมาตรการ

ขณะที่ยังแนะนำให้คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral) ในกลุ่มธนาคาร เนื่องจากคาดว่ากำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) จะเติบโตชะลอตัวในอัตรา 1.3-2.0% และ ROE น่าจะอยู่ที่เพียง 9.0% ในปี 68-69 โดยกลุ่มธนาคารจะมี downside risk หาก NPL เพิ่มขึ้นและมีการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วน upside risk จะมาจากการที่นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติเดินทางมาไทยมากขึ้น, ความตึงเครียดทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ลดลงและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ

Back to top button