ราชกิจจาฯ ประกาศ ข้อบัญญัติกทม. จ่ายหนี้ BTS วงเงิน 1.45 หมื่นล้านบาท
ราชกิจจานุเบกษา ประกาศ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร จ่ายหนี้ BTS วงเงิน 14,549.50 ล้านบาท ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 18 ธ.ค.67 เป็นต้นไป
ผู้สื่อข่าวรายงาน (18 ธ.ค.67) ว่า ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่ ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติม ประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ 2567 ระบุว่า โดยที่กรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องจ่ายรายจ่ายพิเศษจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร
โดยอาศัยอำนาจตามความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ. 2528 ประกอบกับข้อ 12 แห่งข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม พ.ศ. 2562 ซึ่งแก้ไขเพิ่มเติมโดยข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง เงินสะสม (ฉบับที่ 3) พ.ศ. 2564
กรุงเทพมหานครโดยความเห็นชอบของสภากรุงเทพมหานคร จึงตราข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครขึ้นไว้ ดังต่อไปนี้
ข้อ 1 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้เรียกว่า “ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. 2567”
ข้อ 2 ข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป
ข้อ 3 งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. 2567 ให้ตั้งเป็นรายจ่ายพิเศษ จำนวน 14,549,503,800 บาท ตามรายละเอียดเอกสารงบประมาณ โดยจำแนก ดังนี้
งบประมาณรายจ่ายของหน่วยรับงบประมาณ
สำนักการจราจรและขนส่ง รวม 14,549,503,800 บาท
งบประมาณภารกิจประจำพื้นฐาน 14,549,503,800 บาท
ผลผลิตระบบขนส่งมวลขนกรุงเทพ 14,549,503,800 บาท
ข้อ 4 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครควบคุมการใช้จ่ายเงินและการบริหารงบประมาณตามรายการและจำนวนเงินที่กำหนดไว้ในข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
ข้อ 5 ให้ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครรักษาการตามข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครนี้
สำหรับข้อบัญญัติกรุงเทพมหานครดังกล่าวเกิดขึ้นจากการประชุมสภากรุงเทพมหานคร สมัยประชุมวิสามัญ สมัยที่สาม (ครั้งที่ 1) ประจำปี 2567 เมื่อวันที่ 22 พฤศจิกายน 2567 โดยผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ได้เสนอญัตติร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 โดยกรุงเทพมหานครขออนุมัติการตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมจำนวน 14,549,503,800 บาท จากเงินสะสมเพื่อชดเชยขาดดุล เนื่องจากกรุงเทพมหานครมีความจำเป็นต้องชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงตามคำพิพากษาของศาลปกครองสูงสุด
โดยสถานะการเงินการคลังของกทม. ณ วันที่ 1 พ.ย. 67 กทม.มีเงินฝากธนาคารเป็นเงิน 96,010.04 ล้านบาท แบ่งเป็น รายรับหักรายจ่ายสุทธิ 4,326.23 บาท เงินนอกงบประมาณที่มีภาระผูกพัน 1,602.12 ล้านบาท เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปีที่ยังไม่เบิก 1,696.22 ล้านบาท เงินสะสมกรุงเทพมหานครคงเหลือ 64,019.05 ล้านบาท ทุนสำรองเงินคงคลังกรุงเทพมหานคร 9,366.42 ล้านบาท
ขณะที่ภาระหนี้ตามโครงการต่อเนื่องที่ได้ก่อหนี้ผูกพันแล้ว ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.67 มีรายละเอียดคือวงเงินสูงกว่า 1,000 ล้านบาท มี 5 หน่วยงาน 32 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาจำนวนคงเหลือ 61,659.69 ล้านบาท โครงการที่มีวงเงินตั้งแต่ 500-1,000 ล้านบาท ประกอบด้วย 6 หน่วยงาน 29 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 11,516.85 ล้านบาท โครงการที่มีวงเงินต่ำกว่า 500 ล้านบาท จำนวน 21 หน่วย 117 โครงการ มีภาระผูกพันตามสัญญาคงเหลือจำนวน 7,348.13 ล้านบาท
สถานะเงินสะสมประจำปีงบประมาณ 2568 ณ วันที่ 1 พ.ย.67 จำนวน 81,436.90 ล้านบาท แบ่งเป็น เงินกันไว้เบิกเหลื่อมปี 17,198.31 ล้านบาท ภาระผูกพันและการสำรองเงินที่ทำให้ยอดสะสมเงินลดลง จำนวน 3,399.63 ล้านบาท เงินสำรองสะสมกรุงเทพมหานคร ตามกฎหมาย จำนวน 6,500 ล้านบาท กันไว้สำหรับจ่ายกรณีสาธารณภัย 5,433.89 ล้านบาท คาดการณ์การใช้จ่ายในปี 2568 กรณีจัดเก็บรายได้ไม่เพียงพอ 10,600 ล้านบาท เงินสะสมที่ปลอดภาระผูกพัน 38,305.07 ล้านบาท
จึงอาศัยความในมาตรา 97 และมาตรา 103 แห่งพระราชบัญญัติระเบียบบริหารราชการกรุงเทพมหานคร พ.ศ.2528 เสนอร่างข้อบัญญัติกรุงเทพมหานคร เรื่อง งบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ.2568 จำนวน 14,549,503,800 บาท โดยจ่ายจากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร