BGRIM ขึ้นแท่นพลังงานโลก! ทุ่ม 1.36 แสนล้าน ลุยซื้อโรงไฟฟ้า ดันผลิต 10 กิกะวัตต์ ปี 73
BGRIM จัดทัพใหญ่ปรับโครงสร้างองค์กร ยกระดับสู่ผู้นำพลังงานสะอาดระดับโลก ทุ่มงบก้อนใหญ่ 1.36 แสนล้านบาท เข้าซื้อกิจการโรงไฟฟ้าในเกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐฯ และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ตั้งเป้าผลิต 10 กิกะวัตต์ ภายในปี 73 เตรียมทำสัญญาซื้อขายไฟ 310 เมกะวัตต์ ป้อนดาต้าเซ็นเตอร์ ล่าสุดชนะประมูลรีนิวรอบสอง กำลังผลิต 51.12 เมกะวัตต์ เซ็นกฟภ. กำลังผลิตติดตั้ง 10.26 เมกะวัตต์ ระยะเวลา 25 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ภายหลังจากบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ปรับโครงสร้างองค์กรครั้งใหญ่เพื่อรองรับการเติบโตสู่อนาคตพลังงานสะอาด และการขยายธุรกิจระดับโลก โดยแบ่งเป็น 3 กลุ่มงาน ได้แก่ กลุ่มธุรกิจพัฒนาพลังงานหมุนเวียน, กลุ่มธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม และกลุ่มงานการเงินและบัญชี ภายใต้การนำของ ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บี.กริม เพาเวอร์ และ 3 ผู้บริหารระดับสูง อาทิ นายพีรเดช พัฒนจันทร์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจพลังงานหมุนเวียน, นายนพเดช กรรณสูต ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธุรกิจในประเทศไทยและโซลูชั่นธุรกิจอุตสาหกรรม และนางสาวศิริวงศ์ บวรบุญฤทัย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารงานการเงินและบัญชี
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มบริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM กล่าวว่า ในปี 2567 บี.กริม เพาเวอร์ ประสบความสำเร็จในการขยายกำลังผลิตโครงการโรงไฟฟ้าหลากหลายโครงการ โดยเฉพาะโครงการพลังงานหมุนเวียน ที่ยังเป็นทิศทางหลักที่บริษัทจะมุ่งไปตลอดปี 2568 เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน ภายใต้วิสัยทัศน์ “สร้างพลังให้กับสังคมโลกด้วยความโอบอ้อมอารี” พร้อมเดินหน้าพัฒนา ความร่วมมือทางธุรกิจกับพันธมิตรที่แข็งแกร่งทั้งในและต่างประเทศ
สำหรับแผนกลยุทธ์สำคัญสำหรับปี 2568 ได้แก่ 1)การเติบโตของพลังงานหมุนเวียน และการขยายธุรกิจในระดับโลก โดยตั้งเป้ามีกำลังการ ผลิตพลังงานหมุนเวียนรวม 10 กิกะวัตต์ ภายในปี 2573 ผ่านการลงทุนในพลังงานแสงอาทิตย์ พลังงานลม และพลังน้ำ พร้อมดำเนินการตามแนวทาง Net Zero ภายในปี พ.ศ. 2593 ควบคู่กับการขยายธุรกิจในตลาดโลก อาทิ เกาหลีใต้, ญี่ปุ่น, สหรัฐอเมริกา และเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ผ่านการร่วมทุน การเข้าซื้อกิจการ และการสร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อเสริมความแข็งแกร่งและ สร้างการเติบโตอย่างยั่งยืน
2) การจัดสรรเงินทุน (Capital Allocation) อย่างมีประสิทธิภาพและยั่งยืน ให้ความสำคัญกับการจัดสรรเงินทุนอย่างมีประสิทธิภาพ เพื่อรองรับการเติบโตในระยะยาวและยั่งยืน โดยวางแผนการลงทุนในโครงการต่าง ๆ ในช่วงปี 2567-2573 รวมทั้งสิ้น 136,000 ล้านบาท ซึ่งเน้นลงทุน ในโครงการพลังงานหมุนเวียนถึง 85% ในขณะที่แผนการลงทุนเฉพาะส่วนทุนของ บี.กริม เพาเวอร์ จำนวน 70,000 ล้านบาท จะเป็นพลังงานหมุนเวียนถึง 94% ทั้งนี้แหล่งที่มาของเงินลงทุนของ บี.กริม เพาเวอร์ จะมาจากกระแสเงินสดจากการดำเนินงาน, การออกหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ และหุ้นกู้ทั่วไป, เงินกู้จากสถาบันการเงิน รวมถึงการสร้างมูลค่าเพิ่มจากพันธมิตรเชิงกล ยุทธ์ และการขายสินทรัพย์ที่มีศักยภาพ
3) การเป็นพันธมิตรด้านพลังงานสำหรับ Data Centers บี.กริม เพาเวอร์ มุ่งสู่การเป็นพันธมิตร หลักในการจัดหาพลังงานให้กับ Data Centers ในประเทศไทย โดยร่วมกับนิคมอุตสาหกรรมอมตะ เพื่อจัดหาพลังงานหมุนเวียนและให้บริการโซลูชั่นพลังงานครบวงจรรองรับความต้องการของ Data Centers ในนิคมอุตสาหกรรมอมตะ ชลบุรี นอกจากนี้ยังอยู่ระหว่างกระบวนการเจรจาทำสัญญา 310 เมกะวัตต์ซื้อขายไฟฟ้ากับศูนย์ข้อมูลขนาดรวม 150 เมกะวัตต์
ดร.ฮาราลด์ ลิงค์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ยังดำเนินกลยุทธ์การลงทุนด้วยการพิจารณาอัตราผลตอบแทนจากการลงทุน (EIRR) เป้าหมาย 10-15% ขึ้นอยู่กับความเสี่ยงของเทคโนโลยีแต่ละโครงการความน่าเชื่อถือของประเทศ และผู้รับซื้อไฟฟ้า (Offtaker) รวมถึงความผันผวนของกระแสเงินสดที่คาดการณ์ไว้
นอกจากนี้ บี.กริม เพาเวอร์ ยังมุ่งเน้นการบริหารหนี้สินและทุนอย่างเหมาะสม โดยตั้งเป้าอัตราหนี้สินต่อทุน ที่ 3.0 เท่าในช่วงเริ่มต้นของการจัดหาเงินทุนโครงการ พร้อมทั้งใช้ limited-recourse loan และ back-end equity ทั้งนี้บริษัทให้ความสำคัญกับการกระจายความเสี่ยง และยกระดับการลงทุนในภูมิภาคเอเชียและตลาดโลก เพื่อสร้างการเติบโตอย่างมั่นคงและยั่งยืนในระยะยาว
สำหรับเป้าหมายระยะยาว บี.กริม เพาเวอร์ พร้อมเดินหน้าเติบโตสู่องค์กรชั้นนำระดับโลก ก้าวสู่ความสำเร็จและขยายธุรกิจไปในหลายประเทศทั่วโลก ผลักดันให้ต่างประเทศเห็นถึงศักยภาพของคนไทย และช่วยนำพาธุรกิจ และพันธมิตรทุกคนสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
ล่าสุดบริษัทย่อย BGRIM ได้รับคัดเลือกเป็นผู้ผลิตและขายไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนให้กับรัฐบาลตามประกาศสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน คิดเป็น กำลังการผลิตรวมตามสัญญาที่ 51.12 เมกะวัตต์ นอกจากนี้บริษัท บี.กริม โซลาร์ เพาเวอร์ รูฟท็อป จำกัด (บริษัทย่อยที่ บี.กริม เพาเวอร์ ถือหุ้นทั้งหมด) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค หรือ กฟภ. ได้ลงนามในสัญญาจ้างงานตามโครงการจัดการพลังงานไฟฟ้าจากระบบผลิตไฟฟ้าแสงอาทิตย์ กำลังผลิตติดตั้ง 10.26 เมกะวัตต์ เป็นระยะเวลา 25 ปี
ด้วยประสบการณ์ในการพัฒนาพลังงานหมุนเวียนและการส่งเสริมการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมอย่างยั่งยืน บี.กริม เพาเวอร์ ยังคงมุ่งมั่นขับเคลื่อนการใช้พลังงานสะอาด เพื่อตอบโจทย์การเปลี่ยนแปลงของธุรกิจพลังงานและการจัดหาพลังงานสะอาดให้กับประเทศไทย ซึ่งสอดคล้องกับกลยุทธ์ “GreenLeap-Global and Green ของ บี.กริม เพาเวอร์ เพื่อบรรลุเป้าหมายสู่องค์กรที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซต์เป็นศูนย์ (Net Zero Carbon Ermissions) ภายในปี 2593