“พาณิชย์” หนุน SME ไทย ใช้ FTA ลดเสี่ยง “ทรัมป์ 2.0”

กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ ชี้ FTA ทางรอดธุรกิจไทย ลดเสี่ยงมาตรการภาษี ยุค “ทรัมป์ 2.0”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (19 ธ.ค.67) นางอารดา เฟื่องทอง อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ เปิดงานสัมมนาภายใต้โครงการส่งเสริม SME ให้แข่งขันได้ในตลาดสากล เรื่อง FTA ขยายธุรกิจ พิชิตส่งออก” ที่โรงแรม อวานี สุขุมวิท กรุงเทพฯ โดยเชิญภาคเอกชน ร่วมหารือประเด็นร้อน โอกาสและความท้าทาย จากสถานการณ์ทางการค้าโลก ในยุค “ทรัมป์ 2.0”

กรมการค้าต่างประเทศ เห็นว่า FTA จะเป็นทางรอดธุรกิจไทยในการส่งออก โดยจะช่วยกระจายความเสี่ยงการส่งออกไปยังตลาดใหม่และตลาดที่ไทย มี FTA ซึ่งผู้ส่งออกไทยจะมีแต้มต่อด้านภาษี พร้อมเน้นย้ำความสำคัญของการผลิตสินค้าโดยใช้วัตถุดิบภายในประเทศ (Local content) ให้ได้ถิ่นกำเนิดไทย ตามกฎว่าด้วยถิ่นกำเนิดสินค้าที่กำหนดไว้ เพื่อป้องกันการถูกเพ่งเล็งว่า เป็นสินค้าที่ปลอมแปลงหรือแอบอ้างถิ่นกำเนิดจากประเทศที่สหรัฐอเมริกา มีแนวโน้มดำเนินนโยบายกีดกันทางการค้าแบบแข็งกร้าว

นางอารดา กล่าวถึงคาดการณ์แนวโน้มการใช้สิทธิ FTA ในปี 2568 ว่า มีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้น ซึ่งเป็นผลจากนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการส่งออกผ่านการใช้สิทธิ FTA และสิทธิประโยชน์ทางภาษีจาก FTA ที่จะเป็นแต้มต่อให้สินค้าไทยในการรักษาตลาดและขยายตลาดได้เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะในภาวการณ์แข่งขันของการค้าระหว่างประเทศที่มีความเข้มข้น โดยอันดับ 1 คาดว่าจะยังคงเป็นตลาดอาเซียน

สำหรับสิ่งที่น่าจับตามองในปี 2568 ของตลาดอาเซียน คือ การส่งออกไปยังเวียดนามที่มีสถิติการใช้สิทธิฯ เติบโตอย่างต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2567 ในขณะที่ตลาดสำคัญอื่น เช่น จีน นั้น จากข้อมูลสถิติช่วงเดือน ม.ค.-ก.ย.67 พบว่า “ทุเรียนสด” ยังเป็นสินค้าที่มีมูลค่าการส่งออกสูงที่สุดและมีแนวโน้มที่จะยังคงครองตลาดในจีนอย่างต่อเนื่องในปี 2568

นางอารดา กล่าวอีกว่า นอกจากกรมการค้าต่างประเทศเป็นหน่วยงานร่วมเจรจาด้านกฎถิ่นกำเนิดสินค้าให้เหมาะกับรูปแบบการผลิตสินค้าของไทยแล้ว ยังมีบทบาทขับเคลื่อนการใช้ประโยชน์ของความตกลง FTA โดยดูแลการออกหนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้า ซึ่งเป็นหลักฐานสำคัญที่ใช้ประกอบการลดหรือยกเว้นภาษีขาเข้าจากประเทศคู่ภาคี โดยใช้ระบบเทคโนโลยีเพื่ออำนวยความสะดวกแก่ผู้ประกอบการสูงสุด

อธิบดีกรมการค้าต่างประเทศ กล่าวด้วยว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างเตรียมการออกกฎระเบียบและจัดทำระบบอิเล็กทรอนิกส์ เพื่อรองรับการใช้บังคับความตกลง ทั้งความตกลงที่มีอยู่เดิม เช่น อาเซียน – ออสเตรเลีย – นิวซีแลนด์ (AANZFTA) ที่เพิ่มรูปแบบการรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าด้วยตนเอง และไทย – ญี่ปุ่น (JTEPA) ที่ให้มีการใช้หนังสือรับรองถิ่นกำเนิดสินค้าแบบ อิเล็กทรอนิกส์ หรือ e – CO ตั้งแต่เดือน มิ.ย.68  และความตกลงฉบับใหม่ล่าสุด ได้แก่ FTA ไทย – ศรีลังกา (SLTFTA) ที่คาดว่าจะใช้บังคับในวันที่ 1 มี.ค.68

นอกจากนี้ กรมการค้าต่างประเทศ มีแผนจัดสัมมนาต่อเนื่องทั้งปี 2568 ให้ความรู้แก่ผู้ประกอบการไทยทั่วประเทศ รวม 10 จังหวัด ได้แก่ ระยอง, ชลบุรี, พระนครศรีอยุธยา, ลำพูน, หนองคาย, นครพนม, นครราชสีมา, กาญจนบุรี, บุรีรัมย์ และสงขลา

ตามนโยบายของนายพิชัย นริพทะพันธุ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพาณิชย์ ครั้งล่าสุดคือเดือน ม.ค.68 ที่ จ.ระยอง การจัดสัมมนาทั้งหมดนี้ จะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการไทย โดยเฉพาะกลุ่ม SME ให้สามารถใช้สิทธิประโยชน์จาก FTA ลดภาษีนำเข้า เพิ่มผลกำไร และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันให้มีทักษะและศักยภาพต่อยอดธุรกิจเพื่อขยายตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ

Back to top button