“กิตติรัตน์” หนุนทบทวนเกณฑ์ “ชอร์ตเซล” พ่วงกระทุ้งขึ้นค่าฟี “เทรดหุ้น”

“กิตติรัตน์” อดีตผจก.ตลาดฯ หนุนทบทวนเกณฑ์ Short Sell สร้างการแข่งขัน พร้อมกระทุ้งขึ้นค่าธรรมเนียม “เทรดหุ้น”


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ในฐานะอดีตกรรมการและอดีตผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย กล่าวในเวทีเสวนา ครั้งหนึ่งในตลาดหลักทรัพย์ฯ ตอน “50 ปี ตลาดหลักทรัพย์ฯ กับความท้าทายในยุคสมัย” ภายในห้องสมุดมารวย อาคารตลาดหลักทรัพย์ฯ เมื่อวันที่ 19 ธ.ค.67

นายกิตติรัตน์ แสดงความเห็นเรื่องค่าธรรมเนียมนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์ว่า ปัจจุบันอยู่ในระดับที่ต่ำเกินไป ทำให้ไม่เกิดการแข่งขันเชิงคุณภาพระหว่างผู้ประกอบการ และกระทบต่อผลตอบแทนการลงทุนของนักลงทุนที่น้อยลง โดยช่วงที่ตนดำรงตำแหน่ง ผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ได้ไปพูดคุยกับผู้บริหาร สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) เพื่อขอให้ปรับขึ้น “ค่าธรรมเนียม” เพราะถ้านักลงทุนยอมจ่ายค่าธรรมเนียมที่สูงขึ้น ก็จะได้รับบริการที่ดีขึ้นจากเจ้าหน้าที่ที่มีความสามารถ โบรกเกอร์ต่าง ๆ ทั้งมีเงินลงทุนทีมวิจัยเพื่อการวิเคราะห์ที่ดีและมีสินค้าบริการที่หลากหลายจะสร้างผลตอบแทนของนักลงทุน หลังค่าธรรมเนียมสูงขึ้น

ส่วนการทำธุรกรรม Short Sell คือการที่นักลงทุน “ยืมหุ้น” จากผู้ถือหุ้นอื่นแล้วขายในตลาดโดยคาดว่าราคาหุ้นจะลดลงในอนาคต จากนั้นซื้อหุ้นกลับมาในราคาที่ต่ำกว่าเพื่อคืนให้กับผู้ให้ยืม รวมถึง Naked Short Sell คือการที่ไม่ได้มีหุ้นอยู่ในมือ มีเพียงวงเงินในการซื้อขายก่อนที่จะส่งคำสั่งซื้อขายเท่านั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า ในยุคที่ตนเป็นผู้จัดการตลาดหลักทรัพย์ฯ ไม่มีการทำธุรกรรมดังกล่าว มองว่าการทำ Short Sell เป็นเรื่องที่ดี อย่างไรก็ตาม หากเกิดข้อสงสัยจากการทำ Short Sell ก็ต้องระงับชั่วคราว ซึ่งเป็นอีกหนึ่งทางเลือก ทั้งนี้ด้วยรูปแบบที่เปลี่ยนไป การกลับมาทบทวนอีกครั้งไม่ใช่เรื่องแปลก

นอกจากนี้ นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวถึงความกังวลของนักลงทุนเกี่ยวกับบรรษัทภิบาลของบริษัทจดทะเบียนที่กำลังเป็นประเด็นว่า ต้องพิจารณาทั้งรูปแบบหรือกฎเกณฑ์ในการตรวจสอบและเนื้อหา ซึ่งอาจมีผลต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน ซึ่งตลาดหลักทรัพย์ฯ มีหน้าที่ตรวจสอบตามกฎเกณฑ์ และแนะนำ หากมีข้อกังวลความเชื่อมั่นก็อาจช่วยระงับเหตุได้เบื้องต้น แต่หากตรวจสอบแล้วบริษัทยังยืนยันจะเดินหน้าต่อ ก็ต้องรายงาน ก.ล.ต.

“บางเรื่องเป็นไปตามกฎระเบียบ แต่อาจกระทบความเชื่อมั่น สังคมที่เป็นผู้เกี่ยวข้องรอบเขา เขาเห็นว่าสิ่งที่ทำมันควรไหม แม้ระเบียบให้ทำได้แต่ไม่ควร แล้วท่านยังฝืนจะทำ ท่านก็รับผลกระทบของความไม่เชื่อมั่นที่จะเกิดขึ้นไปสู่ตัวท่าน และผู้ที่เกี่ยวข้องด้วย” นายกิตติรัตน์ ระบุ

Back to top button