นักกฎหมายธุรกิจ มอง UOB ฟ้องล้มละลาย “วนรัชต์” โปร่งใสไม่ล้มบนฟูก-เจอไล่บี้อายัดทรัพย์ต่อ
นักกฎหมายธุรกิจ วิเคราะห์ UOB ฟ้องล้มละลาย "วนรัชต์ ตั้งคารวคุณ" อดีตผู้บริหาร STARK เป็นการดำเนินตามขั้นตอนทางกฎหมายที่จะได้เงินคืน และเป็นการปกป้องสิทธิ อึ้งทำให้พบเรื่องหย่าภรรยา เล็งเตรียมไล่บี้หาทรัพย์สินเพิ่มเติม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ศาลล้มละลายกลางได้นัดอ่านคำพิพากษา ระหว่าง ธนาคารยูโอบี จํากัด (มหาชน) ฟ้องร้อง นายวนรัชต์ ตั้งคารวคุณ อดีตผู้บริหาร บริษัท สตาร์ค คอร์เปอเรชั่น จํากัด (มหาชน) หรือ STARK (จำเลย) เมื่อวันที่ 18 ธ.ค.67 ที่ผ่าน โดยศาลได้สั่งให้พิทักษ์ทรัพย์ของจำเลยเด็ดขาด ส่งผลให้นายวนรัชต์อาจจะกลายเป็นบุคคลล้มละลายได้ ซึ่งปรากฎว่ามีการตั้งข้อสังเกตจากผู้เสียหายรายย่อย ว่าคำสั่งดังกล่าวนี้เป็นการทำให้นายวนรัชต์ จะล้มบนฟูกและผู้เสียหายรายย่อยอาจจะไม่ได้รับเงินชดเชยที่มีการลงทุนกลับคืน
แหล่งข่าวในแวดวง “นักกฎหมายธุรกิจ” ได้วิเคราะห์ประเด็นดังกล่าว พร้อมกับระบุว่า การฟ้องร้องของธนาคารยูโอบีนั้นเป็นการฟ้องร้องเพื่อติดตามหนี้ หลังจากที่พบว่า นายวนรัชต์ เป็นผู้ค้ำประกันหนี้ ของ บริษัท เฟิลปส์ ดอด์จ อินเตอร์เนชั่นแนล (ไทยแลนด์) จํากัด และบริษัทไทย เคเบิ้ล อินเตอร์เนชั่นแนล จํากัด ที่ทำให้ธนาคารปล่อยสินเชื่อไปประมาณ 3,510 ล้านบาท เมื่อลูกหนี้นิติบุคคลทั้ง 2 บริษัทผิดนัดชำระ ผู้คำประกันก็ต้องร่วมรับผิดชอบ เนื่องจากทำให้ธนาคารสูญเสียเงินจำนวนนี้ ซึ่งเท่าที่ทราบข้อมูลเจ้าหนี้ได้มีการฟ้องแพ่ง และชนะคดีมาบางส่วนแล้วเช่นกัน
ขณะเดียวกันกรณีของนายวนรัชต์ ถือว่ามีเจ้าหนี้จำนวนมาก และทุกคนก็ได้ใช้สิทธิทางกฎหมายดำเนินคดีทั้งนั้น ถ้าทุกคนต่างแยกกันฟ้องก็จะเกิดกรณีว่าใครจะได้รับเงินก่อนหรือได้รับเงินหลัง ทำให้คนได้หลังก็จะเสียเปรียบ ดังนั้นทางธนาคารยูโอบีจึงจำเป็นต้องปกป้องสิทธิของตัวเอง ด้วยการเอาเข้ากระบวนการล้มละลายเพื่อไม่ให้เป็นการล่าช้า ดังนั้นจึงเป็นเรื่องปกติที่ฝ่ายกฎหมายธนาคารยูโอบี อยากให้เข้ากระบวนการที่เป็นกลางโดยการล้มละลาย เพราะจะได้เอาทรัพย์สินของทุกคนมาวางไว้ตรงกลาง และถ้าหากไม่เข้ากระบวนการนี้ก็จะไม่รู้เลยว่า ทรัพย์สินมีอยู่จำนวนเท่าใด และยังทำให้รู้อีกว่า นายวนรัชต์ได้มีการจดทะเบียนหย่าร้างกับภรรยา ซึ่งขั้นตอนจากนี้จะต้องไปสืบอีกว่าเป็นการหย่าจริงหรือหย่าปลอม
“หากพบว่า นายวนรัชต์มีการหย่าภรรยาแบบปลอม ก็จะดำเนินการตามกฎหมายฟ้องร้องไปเอาทรัพย์สินมาเพิ่มเติมอีก ทั้งนี้เห็นว่าการที่ธนาคารยูโอบีจะเกี้ยเซียะตกลงกับนายวนรัชต์นั้นไม่น่าเป็นไปได้ เพราะธนาคารยูโอบีเป็นธนาคารต่างชาติ อีกทั้งยังเป็นผู้เสียหายในครั้งนี้ด้วยมากถึงกว่า 3,000 ล้านบาท” แหล่งข่าวระบุ
อีกหนึ่งเหตุผลสำหรับการฟ้องร้องล้มละลายนั้น คือการทราบข้อมูลจริงของนายวนรัชต์ เกี่ยวกับทรัพย์สินอะไรบ้าง เพราะที่ผ่านมาอาจจะไม่ได้มีการตรวจสอบ แต่เมื่อเข้าสู่กระบวนการล้มละลายแล้ว จะทำให้มีการตรวจสอบว่าทรัพย์สิน นายวนรัชต์ ว่าอยู่ที่ไหนบ้าง จึงเห็นว่าการฟ้องแบบนี้เป็นประโยชน์กับทุกคน โดยที่ผ่านมาก็ไม่รู้ว่ามีการยักย้ายถ่ายเทไปไหนบ้าง
โดยขั้นตอนต่อไปจากนี้ก็จะเข้าสู่กระบวนการมุ่งสู่การล้มละลาย คือจะมีเจ้าพนักงานพิทักษ์ทรัพย์เข้ามารวบรวมทรัพย์สิน แล้วให้เจ้าหนี้ทุกคนไปยื่นเอกสารว่ามีหนี้กันอยู่เท่าไหร่ จากนั้นเจ้าหน้าที่จะรวบรวมทรัพย์สินมาเพื่อเอาทรัพย์สินมาแบ่งกัน อันนี้เป็นกระบวนการตามขั้นตอนปกติ ซึ่งก็เชื่อว่าน่าจะเดินไปสู่การล้มละลายได้ แต่นายวนรัชต์เองก็อาจจะใช้สิทธิอุทธรณ์ได้
ส่วนข้อสังเกตที่ทนายความของทั้ง 2 ฝ่าย คือ ธนาคารยูโอบีและนายวนรัชต์ จะรู้เห็นกันนั้น เรื่องนี้ไม่น่าเป็นไปได้ เพราะคนที่เป็นเจ้าหนี้ก็อยากได้เงินคืน ซึ่งคนที่ไม่ใช่นักกฎหมายอาจจะไม่เข้าใจประเด็นนี้ และไม่น่าจะการ “ล้มบนฟูก” เพราะถ้าไม่ทำให้นายนวรัชต์ล้มละลายผู้เสียหุ้นกู้ก็อาจจะไม่ได้เงินคืน เพราะเจ้าหนี้ที่มีหลักประกันอาจจะเป็นคนที่ได้เงินก่อน การทำแบบนี้ก็คือการที่ธนาคารยูโอบีตั้งใจเอาเงินตรงนี้มาเป็นกองกลาง ยืนยันไม่ใช่ล้มบนฟูก แต่เป็นการดำเนินการตามกฎหมาย