รัฐเร่งแก้ พ.ร.ก. ป้องกันอาชญากรรม “ไซเบอร์” จับตาหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีรับประโยชน์
รัฐเตรียมแก้ พ.ร.ก.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ให้ ค่ายมือถือ-ธนาคาร ร่วมรับผิดชอบหากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน โปรกแนะหุ้นกลุ่มเทคโนโลยีได้ประโยชน์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายประเสริฐ จันทรรวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม เปิดเผยว่า การปราบปรามอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ตและการช่วยเหลือเหยื่อที่ถูกโกง ภายหลัง สิงคโปร์ เตรียมบังคับใช้กฎหมายให้ธนาคารและค่ายมือถือร่วมรับผิดชอบหากลูกค้าโดนหลอกว่า รัฐบาลก็มีการดำเนินการในเรื่องนี้เช่นเดียวกัน โดยเป็นการแก้ไขพระราชกำหนดว่าด้วยการป้องกันและปราบปรามอาชญากรรมด้านไซเบอร์ ซึ่งอยู่ระหว่างการนำเสนอเข้าสู่การพิจารณาของสำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกา
ส่วนรายละเอียดการแก้ไขพระราชกำหนดดังกล่าว มีหลายเรื่อง ซึ่ง มาตรการที่ 1 คือ การมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบของธนาคารพาณิชย์และโอเปอเรเตอร์ มาตรการที่ 2 คือ การจ่ายเงินคืน และ มาตรการที่ 3 คือ การเพิ่มโทษผู้กระทำความผิด ส่วนรายละเอียดการคืนเงินให้กับผู้เสียหายอยู่ระหว่างการพูดคุย ซึ่งยังไม่มีกำหนดและไม่ต้องนำเรื่องเข้าที่ประชุมสภา สามารถดำเนินการได้เลยและขณะนี้ตนก็เร่งรัดเรื่องนี้อยู่
ขณะที่ในวันที่ 1 มกราคม 2568 จะมีอีก 1 มาตรการออกมาเพื่อป้องกันปัญหาอาชญากรรมทางอินเตอร์เน็ต คือมาตรการการส่ง SMS ไปยังโทรศัพท์ต่างๆ ที่จะมีการแนบลิงก์เพื่อลงทะเบียนผู้ส่งต้องแจ้งสถานะว่าเป็นใคร หากไม่พบข้อมูลผู้ส่งโอเปอเรเตอร์จะมีการระงับการส่งดังกล่าว
ทั้งนี้ สอดคล้องกับบทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ที่ระบุว่า รมว. ดิจิทัลฯ เปิดเผยว่ากำลังเร่งแก้ พ.ร.ก.ป้องกันปราบปรามอาชญากรรมไซเบอร์ ให้ค่ายมือถือ-ธนาคาร ร่วมรับผิดชอบหากประชาชนถูกมิจฉาชีพหลอกโอนเงิน ประเมินจิตวิทยาลบกลุ่มธนาคารและสื่อสาร จากความเสี่ยงอาจต้องมีต้นทุนพัฒนาระบบป้องกันเพิ่มขึ้น อิงฐานธุรกิจปัจจุบันคาดว่าเม็ดเงินไม่น่าสร้าง Downside ที่มีนัยฯต่อประมาณการ จึงให้น้ำหนักเป็นเพียงจิตวิทยาลบ ส่วนกรณีมีความเสียหายที่เกิดขึ้น ยังต้องติดตามแนวทางกำหนดความรับผิดชอบ ขณะที่ในทางกลับกัน จะถือเป็นจิตวิทยาบวกต่อหุ้นกลุ่ม Digital Tech จากโอกาสที่อาจจะได้งานในลักษณะดังกล่าวเข้ามาเสริมการฟื้นตัว
นอกจากนี้ บริษัทหลักทรัพย์ ดาโอ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) ระบุว่า มองเป็นลบเล็กน้อยต่อประเด็นดังกล่าว เพราะกลุ่มธนาคารต้องเข้ามาร่วมรับผิดชอบกับความเสียหายที่เกิดขึ้น โดยอิงจากมูลค่าความเสียหายจากภัยไซเบอร์อยู่ที่ราว 4 หมื่นล้านบาท ขณะที่ระบบสถาบันการเงินไทยมีจำนวน 35 ธนาคาร ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์คิดมูลค่าความเสียหายของแต่ละแห่งเฉลี่ยแบบ worst case scenario จะได้ที่ราว 900 ล้านบาท (จากการคำนวณโดยใช้มูลค่าความเสียหายที่ 4 หมื่นล้านบาท หารจำนวนบริษัทที่ร่วมรับผิดขอบ 35 แห่ง และพักภาษีที่ 20%)
อย่างไรก็ดี ฝ่ายวิเคราะห์ยังคงต้องรอรายละเอียดในการรับรู้ค่าเสียหายอีกที ซึ่งฝ่ายวิเคราะห์เชื่อว่าผลกระทบจะน้อยกว่าที่คาด เพราะมีค่ายมือถือเข้ามาร่วมรับผิดชอบด้วย ทั้งนี้กลุ่มธนาคารยังคงน้ำหนักเป็น “บาทกว่าตลาด” โดยฝ่ายนักวิเคราะห์แนะนำ “ซื้อ” KTB ราคาเป้าหมาย 24.50 บาท และ KBANK แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 176.00 บาท พร้อมยกให้เป็น Top pick ของกลุ่ม