“บอร์ด รฟท.” ไฟเขียวยืดเวลาสร้าง “ไฮสปีดไทย-จีน” 3 สัญญา เหตุติดเวนคืนที่ดิน
บอร์ด รฟท. ไฟเขียวขยายเวลาและแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน งานโยธา 3 สัญญา เพื่อชดเชยการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรถไฟแห่งประเทศไทย (บอร์ดรฟท.) มีมติอนุมัติขยายเวลาและแก้ไขสัญญาจ้างก่อสร้างโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน งานโยธา 3 สัญญา ได้แก่ สัญญา 4-3 ช่วงนวนคร-บ้านโพ สัญญาที่ 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร และสัญญาที่ 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี เพื่อชดเชยการส่งมอบพื้นที่ให้ผู้รับจ้างล่าช้า
–สัญญา 4-3 ช่วง นวนคร-บ้านโพ จากระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 1,080 วัน ขอขยายเวลา 452 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญาวันที่ 23 ม.ค. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 20 เม.ย. 2569 ซึ่งถือเป็นการขยายเวลาครั้งที่ 2 จากก่อนหน้านี้ เคยขยายเวลาก่อสร้างไปแล้ว จำนวน 163 วัน จากระยะเวลาก่อสร้างเริ่มงาน( NTP ) วันที่ 30 ส.ค. 2564 สิ้นสุด วันที่ 13 ส.ค. 2567 เป็นวันที่ 23 ม.ค. 2568 เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างได้ตามเงื่อนไขสัญญา ซึ่งเป็นพื้นที่เวนคืน
–สัญญา 4-2 ช่วงดอนเมือง-นวนคร ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 1,080 วันเริ่มงานวันที่ 20 ม.ค. 2565 สิ้นสุด วันที่ 3 ม.ค. 2568 ขอขยายเวลา 641 วัน นับจากวันสิ้นสุดสัญญาเดิม วันที่ 3 ม.ค. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 7 ต.ค. 2569 เนื่องจากมีการเปลี่ยนแปลงแบบรายละเอียดโครงสร้างและตำแหน่งตอม่อ รวมถึงเพื่อหลีกเลี่ยงแนวท่อขนส่งน้ำมันของบริษัท บาฟส์ ขนส่งทางท่อ จำกัด (BPT) และ บริษัท ท่อส่งปิโตรเลียมไทย จำกัด (THappline)
– สัญญา 4-6 ช่วงพระแก้ว-สระบุรี ระยะเวลาก่อสร้างตามสัญญา 1,080 วัน เริ่มงานวันที่ 20 ม.ค. 2565 สิ้นสุด วันที่ 3 ม.ค. 2568 ขอขยายระยะเวลาก่อสร้างอีก 780 วัน นับจากวันสิ้นสุด วันที่ 3 ม.ค. 2568 ไปสิ้นสุดวันที่ 23 ก.พ. 2570 เนื่องจาก รฟท.ไม่สามารถส่งมอบพื้นที่ก่อสร้างให้ผู้รับจ้างได้ตามเงื่อนไขสัญญา ทำให้มีผลกระทบต่อการก่อสร้างไม่เป็นไปตามแผนงาน
แหล่งข่าว รฟท. กล่าวว่า บอร์ดรฟท. ยังเห็นชอบทบทวนมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 ที่ให้รฟท.จัดตั้งองค์กรพิเศษ ขึ้นมาบริหารจัดการเดินรถไฟความเร็วสูง เส้นทางกรุงเทพ-นครราชสีมา โดยจะปรับรูปแบบเป็นการให้เอกชนร่วมลงทุน ตลอดสาย กรุงเทพ-หนองคาย ทั้งนี้ รฟท.คาดใช้งบ 40 ล้านบาท สำหรับจ้างที่ปรึกษาศึกษารูปแบบการร่วมทุนเอกชนฯ ใช้เวลาศึกษา 6-8 เดือน โดยจะนำเสนอกระทรวงคมนาคม เพื่อเสนอทบทวนมติครม.ต่อไป
สำหรับการเดินรถ เดิมจะมีการจัดตั้ง”องค์กรพิเศษ” เพื่อกำกับการดำเนินงานโครงการรถไฟความเร็วสูงตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 11 ก.ค. 2560 โดยกำหนดให้เป็นองค์กรอิสระจากการกำกับกิจการของการรถไฟฯ เพื่อให้กำกับการดำเนินงานโครงการให้มีประสิทธิภาพมีโครงสร้างองค์กรที่มีความคล่องตัวและเหมาะสม สำหรับดำเนินกิจการระบบรถไฟความเร็วสูง รวมทั้งกำหนดมาตรการ หรือแนวทางในการสนับสนุน ทั้งด้านบุคลากรและงบประมาณ โดยไม่เป็นภาระผูกพันต่องบประมาณของรัฐ สามารถวางแผนและควบคุมให้โครงการสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และบริหารความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต
ล่าสุด กรมการขนส่งทางราง ได้เสนอผลการศึกษาต่อกระทรวงคมนาคมว่า การเดินรถไฟความเร็วสูงควรให้รฟท.ศึกษารูปแบบการให้เอกชนร่วมลงทุนตาม พ.ร.บ.การร่วมลงทุนระหว่างรัฐและเอกชนพ.ศ. 2562 เพื่อลดภาระด้านงบประมาณของรัฐบาล ในการลงทุนงานระบบราง ระบบไฟฟ้าและเครื่องกล และขบวนรถ ลดความเสี่ยงของภาครัฐในด้านการบริหารจัดการ และสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่อง และเอกชนสามารถบริหารจัดการ บำรุงรักษา และเดินรถได้อย่างมีประสิทธิภาพ มีอิสระจากการบริหารจัดการ มีความคล่องตัวและเหมาะสมกว่า