“ชัชชาติ” เซ็นเช็ค 1.4 หมื่นล้าน จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง “สายสีเขียว” สัปดาห์นี้!

ผู้ว่าฯ กทม.เซ็นเช็ค 1.45 หมื่นล้านบาท! จ่ายหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุงสายสีเขียวให้ BTS ภายในสัปดาห์นี้ ตามคำสั่งศาลปกครองสูงสุด ลั่นพร้อมเจรจาหนี้ O&M ที่เหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท เร็ว ๆ นี้ ก่อนนำเข้าหารือในสภากรุงเทพมหานครช่วงเดือน ม.ค. 68 ผู้บริหารบีทีเอสมั่นใจหลังได้รับเงิน D/E ลดฮวบต่ำกว่า 2 เท่า นัดถก “ชัชชาติ” เคลียร์หนี้ที่เหลือ ส่วนสัมปทานสายสีเขียว ชมพู และเหลือง หากได้ราคาดีพร้อมขายให้รัฐ หนุนนโยบายค่าโดยสาร 20 บาทตลอดสาย


นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC ในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า บริษัทได้รับแจ้งจากกรุงเทพมหานครแล้วว่า กทม.ได้เตรียมชำระเงินชำระหนี้ค่าจ้างเดินรถและซ่อมบำรุง (O&M) โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว ซึ่งสภากรุงเทพมหานครได้ให้ความเห็นชอบจ่ายขาดเงินสะสมจำนวนไม่เกิน 14,549,503,800 บาท ได้ภายในสัปดาห์นี้

“ล่าสุดกทม.บอกว่าจะจ่ายหนี้เราภายใน 24-27 ธ.ค.นี้ ขณะนี้อยู่ในขั้นตอนทำเช็คอยู่ หลังผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครเซ็นแล้ว จากนั้นจะไปยื่นที่สำนักบังคับคดีและส่งให้ผู้พิพากษา ต่อจากนั้นก็เรียกบีทีเอสมารับเช็ค อย่างเร็วที่สุดคือวันที่ 24 ธ.ค.นี้” นายสุรพงษ์ กล่าว

สำหรับหนี้ที่ได้รับการชำระในครั้งนี้ บริษัทจะนำไปชำระหนี้ที่ครบกำหนดก่อน ส่วนที่เหลือจะเก็บเป็นเงินทุนหมุนเวียนของบริษัท ไว้สำหรับจ่ายหนี้ที่เหลือต่อไป ผลจากการได้รับการชำระหนี้ จะทำให้หนี้สินต่อทุนหรือ D/E ลดลงเหลือต่ำกว่า 2 เท่า

นายสุรพงษ์ กล่าวเพิ่มเติมว่า ส่วนหนี้ O&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่เหลืออีก 3 หมื่นล้านบาท จะมีการเจรจากับกรุงเทพมหานครเร็ว ๆ นี้ หลังจากได้รับเงิน 1.45 หมื่นล้านบาท เรียบร้อยแล้ว

ส่วนกรณีบริษัท กรุงเทพธนาคม จำกัด หรือ KT ยื่นอุทธรณ์คำสั่งศาลปกครองสูงสุดที่ไม่รับพิจารณาคดีใหม่ กรณีอัยการสูงสุดเคยยื่นอุทธรณ์ เนื่องจากคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) มีมติแจ้งข้อกล่าวหากับผู้เกี่ยวข้องรวมทั้งสิ้น 12 ราย ที่ทำสัญญาจ้าง BTSC เดินรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนต่อขยาย 3 เส้นทางไปจนถึงปี 2585 โดยมิชอบนั้น กรุงเทพมหานครไม่ได้นำมาพิจารณาในการชำระหนี้ครั้งนี้

พร้อมเจรจาขายสัมปทาน

นอกจากนี้ BTS พร้อมเจรจากับภาครัฐกรณีซื้อคืนสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว สายสีชมพู และสายสีเหลือง หากได้ราคาที่เหมาะสม ตามนโยบายรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย อย่างไรก็ตามแม้จะขายส้มปทานไปแล้ว บริษัทก็ยังคงรับจ้างเดินรถอยู่ ที่มีรายได้ที่แน่นอนสม่ำเสมอ

ปัจจุบันสายสีเขียวหลักคือ สายสุขุมวิท หมอชิต-อ่อนนุช ระยะทาง 17 กิโลเมตร (กม.) และสายสีลม สนามกีฬาแห่งชาติ-สะพานตากสิน ระยะทาง 6.5 กม. เหลือสัญญาอีกประมาณ 5 ปี จะสิ้นสุดสัมปทานในวันที่ 4 ธันวาคม 2572 จากนั้นกทม.จะเปลี่ยนเป็นสัญญาจ้าง BTS เดินรถจนถึงปี 2585 ขณะที่สายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง และสายสีชมพู แคราย-มีนบุรี ยังมีอายุสัมปทานเหลืออีกกว่า 20 ปี

ก่อนหน้านี้ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า รัฐเตรียมตั้งกองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่อซื้อสัมปทานรถไฟฟ้าคืนจากบริษัทเอกชนที่รับสัมปทานอยู่ในปัจจุบัน เช่น รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน สายสีชมพู สายสีเหลือง และสายสีส้ม ที่ยังมีอายุสัมปทานเหลืออีกกว่า 20 ปี ยกเว้นรถไฟฟ้าสายสีเขียวที่ยังเหลืออายุอีกประมาณ 5 ปีเท่านั้น

โดยเมื่อรัฐซื้อคืนสัมปทานกลับมาแล้ว จะปรับรูปแบบสัญญาจากสัมปทาน PPP Net Cost เป็นการจ้างเดินรถ หรือ PPP Gross Cost โดยจะจ้างเอกชนรายเดิมที่ยังไม่หมดสัมปทานเดินรถต่อไปจนหมดสัญญา ดังนั้นเอกชนจะไม่ได้รับผลกระทบ หรือมีความเสี่ยงในการเดินรถจากการปรับเปลี่ยนรูปแบบสัญญาจ้างดังกล่าว

ชงหนี้ 3 หมื่นล้านเข้าสภาฯ ม.ค.นี้ 

นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ได้หารือกับนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร เกี่ยวกับแนวทางการชำระหนี้ O&M โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวส่วนที่เหลือ โดยคาดว่าจะมีการนำเรื่องดังกล่าวเข้าหารือในสภากรุงเทพมหานครสมัยสามัญ ในเดือนมกราคม ปี 2568 นี้

ที่ประชุมบอร์ดวิสามัญฯ ได้มอบหมายให้ผู้ว่าชัชชาติไปเจรจากับ BTS เพื่อขอลดดอกเบี้ยก่อนจะสรุปแนวทางชำระหนี้กันอีกครั้ง เพื่อลดภาะดอกเบี้ยที่มีวันละ 7 ล้านบาท”

โดยเป็นค่าจ้างเดินรถที่ BTSC ได้ยื่นฟ้องเพิ่มเติม เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2565 ปัจจุบันอยู่ในกระบวนการพิจารณาของศาลชั้นต้น จำนวน 11,811 ล้านบาท ซึ่งเป็นยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564-ต.ค. 2565 

รวมทั้งยอดหนี้ค่าจ้างงานเดินรถและซ่อมบำรุงของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565-มิ.ย. 2567 ประมาณ 13,513 ล้านบาท ที่ยังไม่ได้ฟ้องศาล

Back to top button