“เพื่อไทย” โต้กลับฝ่ายค้าน! ย้ำพลังงานสะอาดไม่กระทบ “ค่าไฟ” ชี้ข้อมูลบิดเบือนทำเข้าใจผิด
พรรคเพื่อไทยออกมาตอบโต้ ส.ส.ฝ่ายค้าน บิดเบือนข้อเท็จให้ประชาชนเข้าใจผิด กกพ.รับรับซื้อพลังงานหมุนเวียนส่วนขยาย 3,600 MW ทำราคาค่าไฟแพง พร้อมย้ำการดำเนินการเป็นไปตามแผนพลังของประเทศ เพื่อสร้างความมั่นคงในราคาที่เหมาะสม
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่ ส.ส.ฝ่ายค้าน ออกมากล่าวอ้างถึงประเด็นค่าไฟฟ้าที่มีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น โดยระบุว่าสัมปทานพลังงานสะอาดในโครงการใหม่อาจส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าที่ประชาชนต้องจ่าย และตั้งคำถามถึงความโปร่งใสของการให้สัมปทานดังกล่าว ทำให้ล่าสุด ดร.หญิง ลิณธิภรณ์ วริณวัชรโรจน์ ส.ส.บัญชีรายชื่อ และรองเลขาธิการพรรคเพื่อไทย ได้โพสต์ข้อความยืนยันผ่านแพลตฟอร์ม X (Twitter) ว่า ข้อกล่าวหาดังกล่าว “ไม่จริง”
ดร.หญิง ระบุว่า การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนส่วนขยาย 3,600 MW ที่คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ดำเนินการอยู่นั้น ไม่ได้ส่งผลกระทบต่อค่าไฟฟ้าตามที่ฝ่ายค้านกล่าวอ้าง พร้อมขอให้ประชาชนพิจารณาข้อเท็จจริงเกี่ยวกับโครงการดังกล่าว
ดร.หญิง ยังอธิบายเพิ่มเติมว่า การรับซื้อพลังงานสะอาดในโครงการนี้เป็นส่วนหนึ่งของแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้า (PDP) ซึ่งต่อเนื่องจากการรับซื้อรอบแรก ซึ่งมุ่งเสริมสร้างพลังงานสะอาด เพื่อตอบสนองความต้องการของอุตสาหกรรมยุคใหม่ เช่น Data Center, Semiconductor, และ AI ที่ต้องการพลังงานสะอาด และเพื่อดึงดูดการลงทุนจากบริษัทชั้นนำทั่วโลก เช่น Microsoft, Google, และ Amazon โดยการพัฒนานี้จะช่วยส่งเสริมเศรษฐกิจและความมั่นคงทางพลังงานในระยะยาว
ส่วนคำถามที่ว่า ทำไมต้องทำสัญญาระยะยาว 25 ปี แทนการต่อสัญญาทุก 3 ปี เพราะราคาพลังงานมีความผันผวนนั้น ดร.หญิงชี้แจงว่า พลังงานสะอาดมีต้นทุนหลักจากการก่อสร้างเท่านั้น ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง จึงไม่มีความเสี่ยงจากราคาพลังงานโลก เช่น น้ำมันหรือก๊าซ โดยอัตราค่าไฟฟ้าเฉลี่ยที่ 2.20 บาท/หน่วย เกิดจากการประเมินที่ EGAT คำนวณราคา และคาดการณ์ล่วงหน้าอย่างสมเหตุสมผล ซึ่งถือเป็นต้นทุนพลังงานที่ถูกที่สุดเมื่อเทียบกับพลังงานรูปแบบอื่น ๆ และยังช่วยถัวเฉลี่ยค่าไฟฟ้าในระบบให้ลดลง
หากเกิดวิกฤตในอนาคตมีการแพร่ระบาดของโรคอุบัติใหม่ เหมือนช่วงโควิด-19 มีความต้องการใช้ไฟเพิ่ม เอกชนที่ได้สัมปทานต้องมีการแบกรับต้นทุนจากค่าซ่อมบำรุงเอง หรือถ้าเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตใดๆ ก็จะไม่มีผลต่อราคาค่าไฟ เพราะรัฐบาลรับซื้อโดยประกันค่าไฟไปแล้วที่ 2.20บาท/หน่วย
สำหรับข้อกังวลเรื่องการเอื้อประโยชน์ให้ทุนใหญ่ ดร.หญิงชี้แจงว่า เกณฑ์การพิจารณาสัมปทานพลังงานสะอาดให้ความสำคัญทั้งในด้านราคา คุณสมบัติ และเทคนิค เพื่อความมั่นคงใน 3 มิติ ได้แก่ ความมั่นคงพลังงาน ความมั่นคงด้านราคา และความมั่นคงสิ่งแวดล้อม เกณฑ์ดังกล่าวกำหนดให้ผู้ประกอบการที่ผ่านเงื่อนไข เช่น การเป็นนิติบุคคลไทย มีทุนจดทะเบียนขั้นต่ำ และความพร้อมด้านเทคนิคและการเงิน สามารถเข้าร่วมได้โดยไม่มีการเอื้อประโยชน์ต่อกลุ่มทุนใด
ดร.หญิงยังกล่าวปิดท้ายว่า การบิดเบือนข้อเท็จจริงสร้างความเข้าใจผิดในสังคม และการใช้พลังงานสะอาดเป็นการยกระดับประเทศไทยสู่อนาคตที่ยั่งยืน
โดยก่อนหน้านี้ นางสาวรักชนก ศรีนอก สส.กทม.พรรคประชาชน ได้ออกมาแสดงความคิดเห็นว่า การรับซื้อพลังงานหมุนเวียนส่วนขยาย 3,600 MW จะทำให้ราคาค่าไฟในประเทศจะแพงขึ้น เนื่องจากเป็นการประมูลที่ไม่มีการเสนอราคา และเป็นการเอื้อประโยชน์ให้กับกลุ่มนายทุน พร้อมบอกว่าเรื่องนี้ นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน บอกว่า การรับซื้อครั้งนี้มีปัญหา และไม่เห็นด้วยกับการรับซื้อไฟในลักษณะนี้
นอกจากนี้คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ที่มีนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน แต่นายรัฐมนตรีไม่ได้หยุดยั้งการรับซื้อไฟครั้งนี้ แต่หากดูข้อเท็จจริงตามที่หลายฝ่ายอธิบายการรับซื้อไฟฟ้าเป็นการดำเนินการของ กกพ. ซึ่งเป็นองค์กรอิสระด้านพลังงาน