EA เจอวิกฤตปี 67! ติดหล่มหนี้สินหนัก-ราคาหุ้นต่ำรอบ 11 ปี ลุ้นโชคแผนขายโรงไฟฟ้าลดภาระ
ย้อนรอย EA สะเทือนตลาดหุ้นไทย! จับตาอนาคต “ฟื้นหรือดับ”? หลังความเชื่อมั่นนักลงทุนหดหาย ธุรกิจ EV-แบตฯรายได้แผ่ว แถมธุรกิจไม่โปร่งใส หลังโดนก.ล.ต. ลงดาบกรณีผู้บริหารไซฟอนเงิน 3.46 พันล้าน พ่วงทริสเรทติ้งหั่นเครดิตเหลือ BB+จากเดิม BBB+ แถมหลุดกลุ่ม ESG เสี่ยงกระทบชำระหนี้แบงก์-เบี้ยวหุ้นกู้ครบไถ่ถอนปี 67-76 วงเงินกว่า 3 หมื่นล้าน ทำราคาหุ้นต่ำสุดในรอบ 11 ปี ต้องเร่งกู้ “วิกฤติศรัทธา” ในตลาดหุ้นไทยให้กลับคืนมาโดยเร็วที่สุด
หากย้อนรอยสถานการณ์ของ บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA เมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ถือเป็นหุ้นมหากาพย์สะเทือนตลาดหุ้นไทยอีกราย ที่กระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุน และภาพลักษณ์ของบริษัทอย่างมาก ไม่เพียงเท่านั้นแนวโน้มรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้าในอนาคตลดลง และธุรกิจยานยนต์ไฟฟ้า-แบตเตอร์รี่เผชิญภาวะแข่งขันรุนแรง อีกทั้งธุรกิจเผชิญปัญหาด้านการเงินและมีหนี้สินจำนวนมากที่เข้ามากดดันให้ราคาหุ้นต่ำสุดในรอบ 11 ปี เวลานี้จึงเป็นช่วงที่บริษัทต้องเร่งฟื้นความเชื่อมั่น และเร่งกู้ “วิกฤติศรัทธา” ให้กับบริษัทกลับคืนมาโดยเร็วที่สุด
แน่นอนว่าปีที่ผ่านมามีหลายประเด็นที่ส่งผลกระทบต่อราคาหุ้น EA และภาพลักษณ์ของบริษัท โดยต้องไล่เรียงตั้งแต่ประเด็นธุรกิจโรงไฟฟ้าที่ในอนาคตจะหมดสิทธิได้รับ Adder สนับสนุนจากรัฐบาล เพื่อมาส่งเสริมการผลิตไฟฟ้าพลังงานทดแทน นั้นหมายความรายได้ธุรกิจโรงไฟฟ้าที่เคยเข้ามาจะทยอยหมดลงในอนาคต ได้แก่ โครงการ Solar ลำปาง กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ หมดอายุปี 2568, โครงการ Solar พิษณุโลก กำลังการผลิต 90 เมกะวัตต์ หมดอายุปี 2569, โครงการ Wind หาดกังหัน กำลังการผลิต 126 เมกะวัตต์ หมดอายุปี 2570 และโครงการ Wind หนุมาน กำลังการผลิต 260 เมกะวัตต์ หมดอายุปี 2572 ตามลำดับ
ทั้งนี้คาดว่ารายได้สัญญาขายไฟฟ้าดังกล่าวในปี 2572 จะลดลงเหลือประมาณ 5,000 ล้านบาท จากปี 2568 ที่คาดว่าจะมีรายได้อยู่ที่ไม่น้อยกว่า 9,000 ล้านบาท การหาธุรกิจใหม่หรือแหล่งรายได้ใหม่จึงเป็นเรื่องเร่งด่วนที่ EA ต้องดำเนินการเพื่อทดแทนการขาดหายไปต่อไป
ด้านธุรกิจรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ซึ่งมีบริษัทในเครืออย่างบริษัท เน็กซ์ พอยท์ จำกัด (มหาชน) หรือ NEX เป็นผู้ดำเนินกิจการและถือเป็นอีกธุรกิจที่ต้องจับตา เพราะจะเห็นว่าเวลานี้ในตลาดรถยนต์ไฟฟ้ามีการแข่งขันสูง โดยเฉพาะสินค้าจากจีนที่เข้ามาตีตลาดในไทยและได้รับความนิยม โดยเฉพาะแบรนด์ BYD ที่มีฐานลูกค้าและเทคโนโลยีที่แข็งแกร่ง ได้เข้ามาเจาะตลาดและตั้งฐานการผลิตในไทย
ขณะที่ EA แนวโน้มยอดส่งมอบรถไฟฟ้าในปี 2567 ไม่เป็นไปตามเป้าหมายที่วางไว้ จากที่คาดว่าจะมีการส่งมอบรถประมาณ 3,300 คัน แต่เมื่อเทียบช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 จะพบว่าบริษัทมีการส่งมอบเพียง 1,678 คัน ต่ำกว่าปีก่อนที่มี 2,000 คัน
นอกจากนี้ธุรกิจแบตเตอรี่ที่ EA ปัจจุบันมีกำลังการผลิต 1 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี วางแผนเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 3 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เเละในปี 2568 จะเพิ่มกำลังการผลิตเป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปี เพื่อช่วยสร้างอีโคซิสเต็ม EV ได้วางเป้าขยายกำลังการผลิตโรงงานผลิตแบตเตอรี่ เป็น 4 กิกะวัตต์ชั่วโมงต่อปีขนาดใหญ่ที่สุดในภูมิภาคอาเซียน เพื่อทำให้เห็นว่าไทยมีอุตสาหกรรมที่ใช้นวัตกรรมเเละเทคโนโลยีสูง “ไม่แพ้ชาติใดในโลก” ตรงนี้น่าถือเป็นโจทย์ใหญ่ที่บริษัทจะต้องเร่งสร้างความชัดเจนให้นักลงทุนได้เชื่อมั่น เพราะอย่าลืมว่าการเพิ่มกำลังผลิตต้องมีเงินทุนในการพัฒนาสูง อีกทั้งขณะนี้มีคู่แข่งเข้ามาตีตลาดในไทยมากขึ้น
ดังนั้น EA ต้องเร่งหาพันธมิตรที่สามารถช่วยพัฒนาแบตเตอรี่ที่มีคุณภาพสูง และมีต้นทุนการผลิตที่สามารถแข่งขันได้ เพื่อรองรับความต้องการของตลาดรถไฟฟ้าที่กำลังเติบโต นอกจากนี้การสร้างความแตกต่างในเทคโนโลยีแบตเตอรี่และการพัฒนาโซลูชั่นที่มีความยั่งยืนจะเป็นกุญแจสำคัญในการแข่งขันในตลาดนี้ เพราะอย่าลืมว่าปัจจุบันตลาดแบตเตอรี่เผชิญกับความท้าทายจากการเข้ามาของสินค้าจากจีนซึ่งมีราคาถูกและคุณภาพที่ดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง
ขณะเดียวกันการลงทุนในโครงการพลังงานทดแทนในลาวภายใต้ชื่อ Lao’s Renewable Super Holding ถือเป็นอีกส่วนที่นักลงทุนจับตา เพราะบริษัทมองว่าจะสามารถสร้างรายได้ในอนาคตจากการพัฒนาแหล่งพลังงานทดแทน โดยบริษัทตั้งเป้าที่จะระดมทุนจำนวน 1,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ แน่นอนว่าโครงการนี้มีการระดมทุนสูงและถือความท้าทายของบริษัทจะหาแหล่งเงินทุนให้ได้ตามแผน หากบริษัทยังเผชิญภาวะหนี้สินจำนวนมากขณะนี้
ไม่เพียงเท่านั้นบริษัทต้องเผชิญกับปัญหาความไม่โปรงใส่ในการบริหารธุรกิจ เมื่อสำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) ได้กล่าวโทษ นายสมโภชน์ อาหุนัย และนายอมร ทรัพย์ทวีกุล กรรมการ และผู้บริหาร EA รวมทั้งนายพรเลิศ เตชะรัตโนภาส ต่อกรมสอบสวนคดีพิเศษ (DSI) กรณีทุจริตการจัดซื้ออุปกรณ์จากต่างประเทศ และทุจริตการจัดซื้อโปรแกรมซอฟต์แวร์วงเงิน 3.4 พันล้านบาท เพื่อใช้ในโครงการก่อสร้างโรงไฟฟ้า 2 แห่ง ได้แก่ บริษัท อีเอ โซล่า นครสวรรค์ จำกัด และบริษัท อีเอ โซล่า ลำปาง จำกัด โดย ก.ล.ต. ยังได้แจ้งการดำเนินคดีต่อสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) อันเป็นความผิดมูลฐานตาม พ.ร.บ.ป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน
จากกรณีดังกล่าวยังทำให้คณะทำงานของตลาดหลักทรัพย์ฯเพื่อการลงทุนอย่างยั่งยืนได้มีมติถอด EA ออกจากรายชื่อหุ้นยั่งยืน SET ESG Ratings เนื่องจากบริษัทฯขาดคุณสมบัติตามเกณฑ์ SET ESG Ratings ที่กำหนดไว้
ขณะเดียวกันทริสเรทติ้งได้ปรับลดอันดับเครดิตองค์กร EA และอันดับเครดิตของหุ้นกู้ไม่มีประกัน มาอยู่ที่ระดับ BB+ จากเดิมที่ระดับ BBB+ ด้วยแนวโน้มอันดับเครดิต “Negative” หรือลบ ซึ่งถือว่าเป็น Junk Bond โดยการปรับลดอันดับเครดิตสะท้อนถึงความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สูงขึ้นในระยะอันใกล้ รวมไปถึงประเด็นเกี่ยวกับธรรมาภิบาลของบริษัทภายหลัง ก.ล.ต.ได้กล่าวโทษผู้บริหารร่วมกระทำการทุจริต
แน่นอนว่าประเด็นนี้กลายเป็นแรงกดดันและกระทบความเชื่อมั่นเจ้าหนี้(แบงก์)อย่างหนัก และเสี่ยงปล่อยกู้ให้บริษัทยากมากขึ้นในอนาคต เพราะปัจจุบันบริษัทฯ มีภาระเงินกู้ยืมที่ต้องชำระโดยแบ่งเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงินรวมจำนวน ทั้งสิ้นประมาณ 27,498.20 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 31,166.00 ล้านบาท
โดยในปี 2568 บริษัทฯมีภาระทางการเงินที่ต้องชำระเงินกู้ยืมให้กับสถาบันการเงินและผู้ถือหุ้นกู้เป็นจำนวนรวมทั้งสิ้นประมาณ 15,194.06 ล้านบาท แบ่งเป็นเงินกู้ยืมจากสถาบันการเงิน จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7,744.06 ล้านบาท และหุ้นกู้จำนวนทั้งสิ้นประมาณ 7,450.00 ล้านบาท
อย่างไรก็ตามเมื่อวันที่ 2 ธ.ค.67 บริษัทมีแผนเสนอขายหุ้นสามัญเพิ่มทุน RO จำนวน 3,713 ล้านหุ้น หรือเพิ่มทุน 1 ต่อ 1 ในอัตราหุ้นละ 2 บาท โดยผู้ที่จองซื้อหุ้น RO ก็จะได้รับสิทธิ EA-W1 ในอัตราส่วน 3 ซ หุ้น RO ต่อ 1 EA วอร์แรนท์ 1 ซึ่งวอร์แรนท์มีราคาใช้สิทธิที่ 4 บาทต่อหุ้น มีอายุ 3 ปี โดยจะมีการเสนอขายหุ้นเพิ่มทุน RO ในวันที่ 17 ธ.ค.67-3 ม.ค.68 หากขายได้หมดจะระดมทุนได้ 7,400 ล้านบาท โดย 90% จะเอาไปใช้ชำระคือหนี้และหุ้นกู้
อีกทั้งเมื่อวันที่ 13 ธ.ค.67 ที่ประชุมคณะกรรมการบริษัทมีมติอนุมัติการเข้าทำรายการขายโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท อีเอ โซล่า พิษณุโลก จำกัด (ESP) มูลค่ากว่า 8,000 ล้านบาทเพื่อนำเงินไปชำระหนี้และไปเป็นทุนหมุนเวียน คาดธุรกรรมเสร็จสิ้นภายในเดือนเมษายน 2568 ต้องจับตาชงที่ประชุมผู้ถือหุ้นไฟเขียว 31 ม.ค. 68
ในอนาตหากบริษัทไม่สามารถหาเงิน หรือรีไฟแนนซ์หนี้ได้ อาจทำให้บริษัทต้องเผชิญกับภาวะผิดนัดชำระหนี้ และส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และความเชื่อมั่นจากนักลงทุนที่วิตกกังวลเกี่ยวกับฐานะการเงินของบริษัทที่อ่อนแอในเวลานี้มากขึ้น
แรงกดดันดังกล่าวไม่เพียงฉุดความเชื่อมั่นเจ้าหนี้และผู้ถือหุ้นกู้แล้วเสี่ยงเบี้ยวหนี้ ในด้านผู้ถือหุ้น EA ก็ระส่ำไม่แพ้กัน โดยจะเห็นได้จากราคาหุ้นที่เคยอยู่ในระดับ 70 บาท ร่วงหล่นมาอยู่ที่ระดับ 4 บาทกว่า ต่ำสุดในรอบ 11 ปี และทำให้บริษัทที่เคยมีมูลค่าตลาด (มาร์เก็ตแคป) มากถึงระดับ 3 แสนล้านบาท แต่ในปัจจุบันมาร์เก็ตแควูบหายเหลือเพียงระดับหมื่นล้านบาทเท่านั้น
แน่นอนคำถามที่เกิดขึ้น EA ในอนาคตจะ “ฟื้นหรือดับ” เป็นสิ่งที่นักลงทุนเฝ้าติดตาม โดยเฉพาะผู้บริหารชุดใหม่ที่เข้ามาสานต่อแผนงานจาก “สมโภชน์” ที่ต้องพิสูจน์ความสามารถในการเพิ่มรายได้ให้บริษัทและดำเนินธุรกิจให้โปร่งใส่ รวมทั้งหาพันธมิตรและเร่งหาคู่ค้าที่แข็งแกร่งทั้งธุรกิจรถไฟฟ้าและแบตเตอรี่ เพื่อเข้ามาช่วยเพิ่มโอกาสในการเติบโตในตลาดที่มีการแข่งขันสูง และเร่งสร้างเสถียรภาพทางการเงินให้แข็งแกร่งขึ้น และจัดการปัญหาหนี้สินที่ยังคงเป็นข้อกังวลจากนักลงทุนให้หมดไป หากทำได้ EA จะสามารถฟื้นฟูความเชื่อมั่นและกลับมามีอนาคตที่สดใสได้อีกครั้ง