“สถิตย์”เชื่อตั้ง“ปธ.บอร์ดแบงก์ชาติ”มีการเมือง 2 ฝ่ายจุ้น! แนะยึดหลักกฎหมาย-มาตรฐานเดียว
ประธานกรรมการคัดเลือกฯ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” ย้ำหลักการ-เจตนารมณ์กฎหมาย "กฤษฎีกา" ชุดใหญ่เคยชี้ไว้ ยันมาตรฐาน “กิตติรัตน์-กุลิศ” แบบเดียวกัน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นายสถิตย์ ลิ่มพงศ์พันธุ์ ประธานกรรมการคัดเลือก ประธานกรรมการและกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) หรือ บอร์ดแบงก์ชาติ ให้สัมภาษณ์ในรายการ เจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand วันนี้ (26 ธ.ค.67) กรณีข่าวกฤษฎีกา 3 คณะตีความว่านายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ขาดคุณสมบัติ เพราะดำรงตำแหน่งประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (เศรษฐา ทวีสิน) ซึ่งถือเป็นตำแหน่งทางการเมือง
โดยนายสถิตย์ ยืนยันว่า จนถึงขณะนี้ยังเป็นเพียงข่าวที่ยังไม่ได้ยืนยันอย่างเป็นทางการ โดยตามขั้นตอนคณะกรรมการกฤษฎีกาจะต้องตอบผลการตีความคุณสมบัติผู้ถูกเสนอชื่อเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติไปที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการคลัง จากนั้นรัฐมนตรีจะส่งให้ นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลังดำเนินการต่อไป
นายสถิตย์ อธิบายต่อว่า เมื่อเรื่องมาถึงปลัดกระทรวงการคลัง ตามอำนาจจะทำได้ 2 อย่าง คืออย่างแรก “นิ่งเฉย” หรือสอง “ขอเสนอชื่อบุคคลใหม่” หากคณะกรรมการกฤษฎีกาได้มีมติเช่นนั้นจริง
“ผมก็ยังไม่แน่ใจในสิ่งที่ท่านเลขาธิการกฤษฎีกา (ปกรณ์ นิลประพันธ์) ท่านพูด เพราะว่าถ้าตีความจากที่ท่านพูดว่าเป็นแค่ไว้พิมพ์นามบัตร ถ้าเป็นแค่ไว้พิมพ์นามบัตรมันต้องไม่ใช่ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองแน่นอน คณะกรรมการกฤษฎีกาชุดใหญ่เคยมีบันทึกเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองว่า ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง หมายถึงผู้ดำรงตำแหน่ง ที่มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ หรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน เพราะฉะนั้นถ้าหากว่าตำแหน่งนี้มีแค่เพียงพิมพ์นามบัตรก็ต้องไม่ใช่ตำแหน่งทางการเมืองตามคำวินิจฉัยของคณะกรรมการกฤษฎีกา ซึ่งเป็นการวินิจฉัยโดยคณะกรรมการกฤษฎีกาของที่ประชุมใหญ่ด้วย” ประธานกรรมการคัดเลือกฯ กล่าว
ส่วนคำว่า “มีหน้าที่อำนวยการบริหารประเทศ” หรือ “ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน” ครอบคลุมการให้คำแนะนำให้คำปรึกษาในเรื่องการบริหารราชการแผ่นดินด้วยหรือไม่นั้น นายสถิตย์ ยืนยันว่า ไม่ได้กล่าวไปถึงขั้นนั้น คือถ้าดูตามตัวอักษรและเจตนารมณ์แล้ว คงต้องเป็นเรื่องที่มีอำนาจหน้าที่ในการ “อำนวยการบริหารประเทศ” คำหนึ่ง กับ “ควบคุมการบริหารราชการแผ่นดิน” อีกคำหนึ่ง เพราะฉะนั้นการให้คำปรึกษา ก็ขึ้นอยู่กับผู้ที่ได้รับคำปรึกษาจะไปอำนวยการหรือควบคุมการบริหารราชการแผ่นดินอย่างไร ซึ่งตำแหน่ง “ที่ปรึกษา” กับ “ประธานที่ปรึกษา” ตีความเรื่องการดำรงตำแหน่งทางการเมืองแบบเดียวกัน
ส่วนกรณีสมมุติเป็นไปตามข่าวที่ว่าคณะกรรมการกฤษฎีกา 3 คณะตีความว่าตำแหน่ง ประธานที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี เป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติไม่ได้ เพราะเข้าข่ายตำแหน่งทางการเมือง ดังนั้นเท่ากับเป็นมาตรฐานใหม่ใช่หรือไม่ นายสถิตย์ ยอบรับว่า ใช่ เพราะเดิมที่ประชุมใหญ่กฤษฎีกามีความเห็นเช่นนั้นแล้ว ถ้าในครั้งนี้หากว่าเป็นจริงตามข่าว คงต้องดูคำอธิบายอีกครั้งว่าคำอธิบายที่ออกมานั้น 1.เป็นจริงตามข่าวหรือไม่ 2.ถ้าเป็นจริงตามข่าว มีเหตุผลทางข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายอย่างไร คงต้องรอฟัง และพิจารณาด้วยเหตุด้วยผล”
นายสถิตย์ กล่าวถึงทางเลือก “นิ่งเฉย” ของปลัดกระทรวงการคลังต่อเรื่องนี้ว่า ไม่ได้มีกำหนดว่าเมื่อปลัดกระทรวงการคลังได้รับเรื่องมาแล้วกี่วัน จะเข้าข่ายนิ่งเฉย ซึ่งคงต้องประสานงานเป็นการภายใน และประมาณ 3 วันก็คงต้องหารือเป็นทางการว่าจะนิ่งเฉยต่อไปหรือไม่ ถ้านิ่งเฉยต่อไปทางคณะกรรมการคัดเลือกฯ คงต้องนัดประชุมเพื่อพิจารณาผู้ที่มีคุณสมบัติครบถ้วนคนถัดไป เพื่อเสนอแต่งตั้งเป็นประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ซึ่งก็คือ นายกุลิศ สมบัติศิริ อดีตปลัดกระทรวงพลังงาน
“หากว่าคณะกรรมการกฤษฎีกาทั้ง 3 คณะ ได้มีมติตามที่เป็นข่าวจริง คุณกุลิศก็อยู่ในฐานะเดียวกันกับคุณกิตติรัตน์ ก็คือถ้าคุณกิตติรัตน์ถือเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง คุณกุลิศถือว่าเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองด้วยเช่นเดียวกัน” ประธานกรรมการคัดเลือกฯ กล่าว
อย่างไรก็ตามหากสุดท้ายเหลือเพียงชื่อนายสุรพล นิติไกรพจน์ อดีตอธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ฝั่งธปท. เสนอเข้ามาให้คณะกรรมการคัดเลือกพิจารณาเมื่อครั้งที่แล้ว นายสถิตย์ กล่าวว่า ก็ต้องนำเข้าสู่ที่ประชุมฯ เพื่อพิจารณามีมติอีกครั้งหนึ่ง แต่หากปลัดกระทรวงการคลังเลือกอีกทางคือไม่นิ่งเฉย ปลัดกระทรวงการคลังก็สามารถเสนอชื่อบุคคลใหม่เข้ามาให้คณะกรรมการคัดเลือกในโอกาสเดียวกันก็ต้องขอให้ผู้ว่าการธปท. เสนอรายชื่อเข้ามาใหม่ได้เช่นเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเท่าเทียมกันด้วยกัน
“คือความจริงเรื่องนี้ ถ้าพูดกันตามหลักการก็ต้องพิจารณาตามตัวบทกฎหมาย ในระเบียบที่เกี่ยวข้อง ซึ่งก็คือระเบียบในการคัดเลือกประธานฯ และกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิของแบงก์ชาติ แต่ว่าเรื่องปรากฏว่าเรื่องนี้มีหลักรัฐศาสตร์เข้ามาด้วยซะแล้ว คือมีการเมืองเข้ามาเกี่ยวข้อง หมายถึงว่าทั้งการเมืองของฝ่ายที่สนับสนุนและการเมืองของฝ่ายไม่สนับสนุน นำข้อเท็จจริงที่นอกเหนือจากหลักเกณฑ์ทางกฎหมายและระเบียบที่เกี่ยวข้องด้วย และก็บังเอิญสิ่งเหล่านั้นที่อยู่นอกเหนือหลักการของกฎหมายและระเบียบเสียงดังกว่า มันก็เลยทำให้มีความรู้สึกที่แตกต่างกันออกไปหลายอย่างครับ” ประธานกรรมการคัดเลือกฯ กล่าว
นายสถิตย์ กล่าวทิ้งทายว่า ในหลักการแล้วตนคิดว่าก็คือต้องรักษาหลักการของกฎหมาย และก็ต้องตีความให้สอดคล้องกับเจตนารมณ์ของกฎหมายที่มีอยู่ และก็ในการวินิจฉัยข้อกฎหมายทั้งหลายตามที่ครูบาอาจารย์ได้สอนมาก็ต้องทำใจเป็นกลาง และยึดมั่นในหลักการที่กำหนดไว้ ทั้งที่เป็นตัวอักษรและที่เป็นเจตนารมณ์ โดยที่ไม่ได้พะวงถึงสภาพแวดล้อมอย่างอื่นที่เป็นทัศนคติหรือความเห็น ซึ่งอาจจะโดยสุจริตใจแต่ว่าเราก็ต้องคำนึงถึงหลักกฎหมาย หลักนิติธรรม หลักนิติรัฐที่มีอยู่
อย่างไรก็ตาม ก่อนหน้านี้ ก็เคยมีบุคคลที่ดำรงตำแหน่ง ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี ยังสามารถปฏิบัติหน้าที่ในฐานะฝ่ายบริหารของ ธปท. อาทิ นายวิรไท สันติประภพ และนายเศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ เคยเป็นที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรี (พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา)