กังขา! “พีระพันธุ์” อ้างความเห็น “กฤษฎีกา” ลักไก่ เบรกเซ็นไฟฟ้าสะอาด รอบ 2
กังขา "พีระพันธุ์" อ้างความเห็น "กฤษฎีกา" ชะลอเซ็นสัญญาไฟฟ้าสะอาด รอบ 2 ก่อนที่ "กฤษฎีกา" จะทำมีหนังสือตอบกลับ กกพ.ว่าไม่มีหนังสืออย่างเป็นทางการ เป็นเพียงการหารือแค่ “วาจา" เท่านั้น ด้าน กกพ. ลั่น ปลดล็อกเซ็นไฟฟ้าสะอาด รอบ 2 ต้นปี'68 หลังบอร์ด กกพ. สั่งเบรกลงนามสัญญาขายไฟ
แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยว่า จากกรณีการประชุม คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.67 ที่มี นายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เป็นประธานการประชุม มีมติให้ชะลอการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ตามแผนการเพิ่มการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสะอาด สำหรับปี 2565-2573 ปริมาณรวม 3,668.5 เมกะวัตต์ ที่ กพช. ได้ให้ความเห็นชอบไว้ เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 โดยเป็นการชะลอการลงนามสัญญากับ 3 การไฟฟ้าไว้ก่อน เพื่อดำเนินการตรวจสอบความถูกต้อง
ทั้งนี้มอบหมายให้ฝ่ายเลขานุการฯ หารือสำนักงานคณะกรรมการกฤษฏีกา ในประเด็นข้อกฎหมายและอำนาจหน้าที่ของ กพช. และให้นายกรัฐมนตรีในฐานะประธาน กพช. มีอำนาจพิจารณาแต่งตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงเรื่องดังกล่าวได้ พร้อมมอบให้ฝ่ายเลขานุการฯ แจ้งให้ กกพ. และ 3 การไฟฟ้าทราบมติ กพช. ต่อไป
อย่างไรก็ดีวันที่ 11 ธ.ค.67 สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ส่งหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เรื่อง ขอข้อมูลความเห็นของเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา ดังนั้นวันที่ 19 ธ.ค.67 สำนักงาน กกพ. ได้ส่งหนังสือถึงรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน เรื่อง การระงับโครงการรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติม สำหรับกลุ่มที่ไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิงและขยะอุตสาหกรรม ในรูป แบบ Feed – in Tarff (FIT) เป็นการชั่วคราว โดยอ้างถึงหนังสือกระทรวงพลังงาน ที่ พน 0100/754 ลงวันที่ 14 พ.ย.67
เพื่อให้เกิดความชัดเจนในการดำเนินการ คณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) ในการประชุมครั้งที่ 54/2567 (ครั้งที่ 939) เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. 67 มีมติให้สำนักงาน กกพ. มีหนังสือถึงเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา เพื่อขอรายละเอียดตามที่ ปรึกษาหารือกับเลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกาที่เห็นควรระงับการดำเนินการรับซื้อไฟฟ้า จากพลังงานหมุนเวียนเพิ่มเติมฯ สำหรับนำมาใช้เป็นแนวทางดำเนินการให้ถูกต้องครบถ้วนตามกฎหมาย ระเบียบ ประกาศและมติที่เกี่ยวข้อง
โดยวันที่ 16 ธ.ค.67 เลขาธิการคณะกรรมการกฤษฎีกา มีหนังสือแจ้งมายังเลขาธิการสำนักงาน กกพ. ว่า ไม่มีหนังสือหารือเรื่องนี้มายังสำนักงานฯ มีเพียงกรณีที่รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานหารือด้วยวาจา เกี่ยวกับอำนาจของรัฐมนตรีผู้รักษาการตามกฎหมาย ซึ่งเลขาธิการฯ ได้ตอบข้อหารือด้วยวาจาตามแนวความเห็นของคณะกรรมการกฤษฎีกาตามสิ่งที่ส่งมาด้วยเท่านั้น
ด้าน แหล่งข่าวจาก กกพ. เปิดเผยว่า ทาง กกพ. จะต้องรอหนังสือจากสำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) เพื่อรวบรวมรายละเอียดมติ กพช. ดังกล่าวเป็นลายลักษณ์อักษร จากนั้นจะเสนอพิจารณาในที่ประชุมบอร์ด กกพ. ต่อไป ช่วงต้นปี 2568 และคาดว่า จะมีความชัดเจนด้านแนวทาง โดยจะชี้แจงรายละเอียดต่อไป
“ตอนนี้ กกพ. ยังไม่สามารถตอบได้ว่าจะต้องรื้อหลักเกณฑ์การรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 หรือไม่ เพราะรอ บอร์ดกกพ. พิจารณา มติกพช. เมื่อวันที่ 25 ธ.ค. ที่ผ่านมาก่อน หลังจากมีคำสั่งชะลอมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 ออกไป ซึ่งกกพ. ดำเนินการตามกรอบมติกพช. ดังนั้นเมื่อมีการเปลี่ยนแปลง คงต้องกลับมาตีความ คาดว่าจะมีความชัดเจนภายในต้นปีหน้า” แหล่งข่าว ระบุ
สำหรับความคืบหน้าโครงการพลังงานลมเฟสแรก จำนวน 22 โครงการ รวม 1,490 เมกะวัตต์ ที่ก่อนหน้านี้ต้องชะลอออกไป เนื่องจากคำสั่งศาลปกครอง จากคดีฟ้องร้องของเอกชนบางรายนั้น แม้ว่าขณะนี้ยังไม่มีการลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (PPA) กับการไฟฟ้าฯ แต่ก็ยังไม่พบปัญหาติดขัดอะไร คาดว่าจะสามารถทยอยลงนาม PPA ได้ภายในปี 2568 พร้อมปรับเลื่อนกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ให้เหมาะสมกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงไปของแต่ละโครงการได้ตามสมควร ซึ่งต้องไม่ให้เกินกรอบภายในปี 2573
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การรับซื้อไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน เฟส 2 จำนวน 3,668.5 เมกะวัตต์ ก่อนหน้านี้นายพีระพันธุ์ ได้ท้วงติงรวมทั้งส่งหนังสือให้ กกพ. ชะลอออกไปก่อน แต่ กกพ.ในการประชุมครั้งที่ 55/2567 (ครั้งที่ 940) เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.ที่ผ่านมา โดยอ้างคำสั่งมติ กพช. เมื่อวันที่ 9 มี.ค.66 ได้ประกาศรายชื่อผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าเพิ่มเติมจำนวน 72 ราย ปริมาณพลังไฟฟ้าที่เสนอขายรวม 2,145.4 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น พลังงานลม จำนวน 8 ราย กำลังการผลิตรวม 565.40 เมกะวัตต์ กำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ (SCOD) ตั้งแต่ปี 2571-2573 และพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 64 ราย กำลังการผลิตรวม 1,580 เมกะวัตต์ กำหนด SCOD ตั้งแต่ปี 2569-2573 อย่างไรก็ตามในส่วนที่เหลือ (เฟส 3) อีกประมาณ 1,454 เมกะวัตต์ กกพ. เตรียมเปิดรับทั่วไป
หุ้นไฟฟ้าลุ้นรีบาวด์
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วานนี้ (26 ธ.ค.67) ราคาหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าที่ชนะประมูลพลังงานหมุนเวียน รอบที่ 2 ปรับตัวลดลง นำโดย บริษัท กันกุลเอ็นจิเนียริ่ง จำกัด (มหาชน) หรือ GUNKUL ลดลง 5.13% ปิดที่ 2.22 บาท มูลค่าซื้อขาย 74.71 ล้านบาท, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ลดลง 2.52% ปิดที่ 38.75 บาท มูลค่าซื้อขาย 680 ล้านบาท และ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM ลดลง 1.54% ปิดที่ 19.20 บาท มูลค่าซื้อขาย 253 ล้านบาท
นักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ บัวหลวง จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ผลกระทบจากการชะลอรับซื้อไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียนรอบ 2 จากกลุ่มผู้ชนะประมูลครั้งนี้ จะส่งผลกระทบต่อราคาหุ้นเพียงระยะสั้นเท่านั้น เนื่องจาก วานนี้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าได้ปรับตัวลดลงมาถึงระดับที่ใกล้เคียง หรือต่ำกว่าราคาหุ้นก่อนประกาศผลผู้ชนะประมูล เมื่อวันที่ 16 ธ.ค.แล้ว โดยเฉพาะหุ้น GUNKUL ที่ชนะประมูล 7 โครงการ รวม 319 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นวินด์ฟาร์ม 4 โครงการ จำนวน 284 เมกะวัตต์ และโซลาร์ฟาร์ม จำนวน 3 โครงการจำนวน 35 เมกะวัตต์ โอกาสที่ราคาจะลงต่อมีค่อนข้างจำกัดแล้ว แนะนำ “ซื้อ” เก็งกำไรราคาเป้าหมาย 5.40 บาท เชื่อว่า รัฐจะประกาศให้ลงนามขายไฟฟ้าใหม่ช่วงไตรมาส 1/68 นี้
ส่วน หุ้น BGRIM แม้ว่าจะชนะประมูลพลังงานหมุนเวียน 5 โครงการ กำลังผลิต 51.12 MW แต่ราคาไม่ตอบรับมากนัก และยังมีการปรับตัวลดลงมาระยะหนึ่ง ราคาจึงน่าสนใจเข้าลงทุน หลังอัพไซด์เปิดกว้างมากขึ้น ขณะที่ปี 2568 จะเป็นปีที่โรงไฟฟ้า SPP จะเติบโตดี เนื่องจากมีความต้องการใช้ไฟฟ้าจากดาต้าเซ็นเตอร์เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ให้ราคาเป้าหมาย 31 บาท
ขณะที่ หุ้น GPSC เป็นหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าอีกบริษัทหนึ่งที่มีแนวโน้มผลประกอบการในปีหน้าดีขึ้น จากความต้องการไฟฟ้าจากกลุ่มโรงงานอุตสาหกรรมดีขึ้น ขณะที่ราคาหุ้นที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากการเลื่อนเซ็นสัญญาซื้อขายไฟฟ้า และการเลื่อนเปิดโครงการพลังงานสะอาด โดยให้ราคาเป้าหมาย 54 บาท ขณะที่ GPSC ชนะประมูล พลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน 4 โครงการ กำลังการผลิตกว่า 193 เมกะวัตต์
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) ระบุ กรณี กพช. สั่งชะลอซื้อไฟฟ้าสะอาดจากภาคเอกชน จะส่งผลลบต่อบริษัทที่ได้รับการคัดเลือก อย่าง GUNKUL, GPSC, บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO, BGRIM, บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA และ บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) หรือ BANPU ที่ต้องเลื่อนการเซ็นสัญญา PPA ออกไปอีก และอาจกระทบต่อราคาหุ้นระยะสั้น แต่อยู่ในวงจำกัด เนื่องจากหลังประกาศรายชื่อที่ได้การคัดเลือกราคาหุ้นบริษัทเหล่านี้ไม่ได้ปรับขึ้นมากนัก เพราะยังกังวลประเด็นการตรวจสอบความถูกต้อง หลังรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานมีคำสั่งระงับการรับซื้อไฟฟ้าโครงการนี้เป็นการชั่วคราวก่อนหน้านี้