PCB โลกโตแรง! พณ.เล็งคว้าส่วนแบ่งตลาด กว่า 1.5 แสนล้านดอลลาร์ ดันไทยฮับเทคฯ
สนค. กระทรวงพาณิชย์ หนุนผลักดัน “อุตสาหกรรม PCB” แนะศึกษาประเทศตัวอย่าง สู่การก้าวเป็นศูนย์กลางทางเทคโนโลยีของโลก
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (27 ธ.ค.67) นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (ผอ.สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า มูลค่าตลาดของอุตสาหกรรมแผงวงจรพิมพ์ (Printed Circuit Board: PCB) คือ ส่วนประกอบพื้นฐานที่สำคัญของวงจรอิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งเป็นทางเดินสัญญาณไฟฟ้าของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ต่าง ๆ อาทิ ตัวเก็บประจุ ตัวต้านทาน ไดโอด และเซมิคอนดักเตอร์ ทำให้อุปกรณ์เชื่อมต่อกันได้และสามารถทำงานได้อย่างสมบูรณ์ โดย PCB มีส่วนสำคัญอย่างมากในการสร้างอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ อาทิ คอมพิวเตอร์ โทรศัพท์ เครื่องใช้ไฟฟ้า และยานยนต์
จากข้อมูลของ Precedence Research ผู้ให้บริการด้านข้อมูลตลาดเชิงลึก ระบุว่า ในปี 2566 อุตสาหกรรม PCB ทั่วโลกมีมูลค่า 86.8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และคาดการณ์ว่าจะเติบโตต่อเนื่อง 5.8% ต่อปี จนมีมูลค่าถึง 152.5 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ ในปี 2576 ตามการเพิ่มขึ้นของความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ในอุตสาหกรรมยานยนต์ รวมทั้งการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะ และปัญญาประดิษฐ์ (Artificial Intelligence: AI)
ทั้งนี้ในปี 2566 จีนเป็นประเทศที่มีมูลค่าการส่งออก PCB มากที่สุดในโลก มูลค่า 17.55 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 4.62% ขณะที่ประเทศไทยเป็นผู้ส่งออกอันดับที่ 7 ของโลกและอันดับที่ 2 ของอาเซียนในปี 2566มูลค่า 1.30 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ และมีอัตราการเติบโตเฉลี่ย 5 ปี อยู่ที่ 1.86%
ข้อมูลเพิ่มเติม ยังพบว่า หลายประเทศทั่วโลกสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB เนื่องจากเป็นหัวใจสำคัญของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ และเป็นรากฐานในการต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมเป้าหมายที่มีมูลค่าสูง เห็นได้จากการจัดทำนโยบายและยุทธศาสตร์ที่สนับสนุนการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB อาทิ จีน มีนโยบาย “Made in China 2568 (ค.ศ.2025)” ที่มุ่งส่งเสริมการพัฒนานวัตกรรมและเทคโนโลยีการผลิต PCB ขั้นสูง เพื่อตอบสนองความต้องการของตลาด
ส่วนมาเลเซีย จัดทำแผนแม่บทอุตสาหกรรมแห่งชาติ (New Industrial Master Plan: NIMP) 2573 (ค.ศ.2030) ที่มุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึง PCB และยุทธศาสตร์ เซมิคอนดักเตอร์แห่งชาติ (National Semiconductor Strategy: NSS) ที่ส่งเสริมและพัฒนาการผลิต PCB ให้สามารถรองรับการใช้งานเซมิคอนดักเตอร์ ที่มีความซับซ้อนสูง ขณะที่เวียดนาม จัดทำแผนปฏิบัติการและกลยุทธ์การพัฒนาศูนย์นวัตกรรมแห่งชาติ และเขตอุตสาหกรรมไฮเทค 3 แห่ง เพื่อรองรับการลงทุนด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยีในอนาคต
นอกจากนี้ ประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก ได้ออกกฎหมายและมาตรการสนับสนุนหลายประการเพื่อผลักดันการผลิตและการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB อาทิ สหรัฐอเมริกา ออกกฎหมาย CHIPS and Science Act of 2022 เพื่อสนับสนุนการผลิตในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ รวมถึง PCB ภายในประเทศ โดยมีโครงการสนับสนุนทางการเงินหลายระดับ ร่วมกับการให้เครดิตภาษีร้อยละ 25 สำหรับการซื้อและจัดหา PCB ที่ผลิตภายในประเทศ
ขณะที่ญี่ปุ่น สนับสนุนเงินทุนแก่บริษัทที่มีการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตที่ล้ำสมัย รวมถึงเสริมสร้างความร่วมมือในการวิจัยและพัฒนาระหว่างผู้ประกอบการและสถาบันการศึกษา เพื่อแลกเปลี่ยนความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีใหม่ ๆ และเกาหลีใต้ จัดตั้งเขตเศรษฐกิจพิเศษ พร้อมให้สิทธิประโยชน์ทางภาษีและเงินอุดหนุน ตลอดจนปรับปรุงกระบวนการทางกฎหมายให้มีความคล่องตัวมากขึ้น เพื่ออำนวยความสะดวกและดึงดูดผู้ประกอบการให้มาลงทุน อีกทั้งยังมีระบบสนับสนุนสำหรับนักลงทุนต่างชาติ อาทิ การให้บริการด้านภาษา และการให้คำปรึกษาทางกฎหมายและการเงิน
สำหรับประเทศไทย ให้ความสำคัญกับการพัฒนาอุตสาหกรรม PCB ตลอดห่วงโซ่อุปทาน โดยรัฐบาล ได้สนับสนุนและส่งเสริมให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรม PCB ภายในประเทศ โดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กำหนดให้อุตสาหกรรมการผลิต PCB อยู่ภายใต้ยุทธศาสตร์การส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2566-2570 และให้สิทธิประโยชน์เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ อาทิ การยกเว้นภาษีอากรนำเข้าวัตถุดิบ และการให้ครอบครองที่ดินและประกอบกิจการ ตลอดจนส่งเสริมการลงทุนกิจการอื่น ๆ ที่สนับสนุนอุตสาหกรรม PCB และจัดกิจกรรมเชื่อมโยงห่วงโซ่อุปทานภายในอุตสาหกรรม เพื่อสร้างโอกาสทางธุรกิจสำหรับผู้ประกอบการไทยในการผลิตชิ้นส่วนและวัตถุดิบส่งให้กับผู้ผลิต PCB
อีกทั้งร่วมมือกับสถาบันการศึกษา และภาคเอกชนในการจัดหาและพัฒนาทักษะแรงงานผ่านกิจกรรม Job Matching และโปรแกรม Upskill และ Reskill เพื่อเตรียมความพร้อมของบุคลากร ในขณะที่กระทรวงพาณิชย์มีบทบาทในการพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขันของไทย จากนโยบายปรับโครงสร้างการส่งออกให้ทันสมัย โดยมุ่งเน้นการส่งออกในธุรกิจใหม่ โดยเฉพาะธุรกิจเกี่ยวกับเทคโนโลยี ซึ่งรวมถึง PCB ร่วมกับการเจรจาความตกลงการค้าเสรี (FTA) ซึ่งเป็นปัจจัยที่สนับสนุนการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ พร้อมสนับสนุนข้อมูลทางการค้าและส่งเสริมการพัฒนาศักยภาพของผู้ประกอบการไทยให้สามารถแข่งขันได้ในระดับสากล
นายพูนพงษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า จากแนวโน้มความต้องการสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ และการพัฒนาของเทคโนโลยีระบบอัจฉริยะ และ AI ที่เพิ่มขึ้นทั่วโลก ทำให้ภาครัฐและเอกชนของไทยต้องเร่งเพิ่มขีดความสามารถทางการแข่งขันของอุตสาหกรรม PCB ไทย โดยอาจนำนโยบาย/มาตรการของประเทศสำคัญและประสบความสำเร็จมาปรับใช้ให้เข้ากับบริบทของไทย รวมถึงสนับสนุนให้ผู้ประกอบการไทยเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของห่วงโซ่อุปทานในอุตสาหกรรม PCB ภายในประเทศ พร้อมทั้งพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน และทักษะแรงงาน ให้ตอบสนองต่อความต้องการ เพื่อดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ ซึ่งจะส่งผลให้ไทยเป็นฐานการผลิต PCB และเพิ่มโอกาสในการพัฒนาอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่สามารถต่อยอดไปสู่อุตสาหกรรมอื่น ๆ เพื่อช่วยเพิ่มมูลค่าการส่งออกและผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำทางเทคโนโลยีระดับโลก