SCB EIC ชี้เศรษฐกิจ CLMV ปี 68 ชะลอตัวตามเศรษฐกิจโลก

SCB EIC มองเศรษฐกิจ “กัมพูชา-ลาว-เมียนมา-เวียดนาม” ปี 68 ชะลอตัวลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลก รับผลกระทบนโยบาย Trump 2.0 ขณะที่เงินเฟ้อและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้น


นายปัณณ์ พัฒนศิริ และนายภาวัต แสวงสัตย์ นักเศรษฐศาสตร์ ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) เปิดเผยว่า ได้มีการประเมินเศรษฐกิจ กัมพูชา, ลาว, เมียนมา และเวียดนาม (CLMV) ปี 2568 มีแนวโน้มเติบโตชะลอลงเล็กน้อยตามเศรษฐกิจโลกที่จะแผ่วลงจากผลกระทบทั้งทางตรงและทางอ้อมของนโยบาย Trump 2.0 อาทิ ผลจากสหรัฐฯ ขึ้นภาษีสินค้านำเข้าจากจีนและประเทศอื่นๆ สินค้าจีนราคาถูกเข้ามาตีตลาดในประเทศมากขึ้นทดแทนตลาดสหรัฐฯ อัตราดอกเบี้ยนโยบายประเทศเศรษฐกิจหลักปรับลดน้อยกว่าที่เคยคาดไว้จากแรงกดดันเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ความไม่แน่นอนของนโยบายเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ที่เร่งตัว อย่างไรก็ตามอุปสงค์ในประเทศ CLMV มีแนวโน้มปรับดีขึ้นตามการจ้างงาน ช่วยบรรเทาผลกระทบจากอุปสงค์ต่างประเทศชะลอตัวได้บ้าง

นอกจากนี้ เศรษฐกิจภูมิภาคอาเซียนที่เติบโตดีจะช่วยสนับสนุนภาคท่องเที่ยวของเศรษฐกิจ CLMV ให้ขยายตัวต่อเนื่องได้ รวมถึงเศรษฐกิจ CLMV จะได้อานิสงส์จากการย้ายฐานการผลิตของบริษัทข้ามชาติเพื่อลดความเสี่ยงด้านภูมิรัฐศาสตร์และหลีกเลี่ยงอัตราภาษีนำเข้าสหรัฐฯ ที่อาจปรับสูงขึ้น ซึ่งจะเป็นปัจจัยบวกต่อการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศและการส่งออกในระยะต่อไป ในปี 2568 SCB EIC ประเมินว่า เศรษฐกิจกัมพูชาจะขยายตัว 6.0% (ทรงตัวจากปี 2567) สปป.ลาว 4.3% (ลดลงจาก 4.5% ในปี 2567) เมียนมา 2.2% (ลดลงจาก 2.3% ในปี 2567) และเวียดนาม 6.5% (ลดลงจาก 6.8% ในปี 2567)

ขณะที่ ปัจจัยเฉพาะของแต่ละประเทศมีความสำคัญต่อแนวโน้มเศรษฐกิจ ซึ่งเวียดนามมีแนวโน้มเติบโตดีที่สุดในกลุ่ม เนื่องจากได้ประโยชน์จากกระแสการย้ายฐานการผลิตมายังภูมิภาคอาเซียน ด้วยห่วงโซ่อุปทานในประเทศที่มีความพร้อม โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์ รวมถึงระยะทางการขนส่งไปตลาดจีนที่สั้น ตลาดในประเทศที่เติบโตดีและความได้เปรียบด้านต้นทุนการผลิตและสนธิสัญญาการค้าเสรีต่างๆ กัมพูชาจะเติบโตดีรองลงมา จากการฟื้นตัวของภาคการท่องเที่ยว ช่วยสนับสนุนตลาดแรงงานในประเทศ และเสถียรภาพการคลังที่ยังมั่นคงสามารถใช้นโยบายการคลังกระตุ้นเศรษฐกิจได้อีก

อย่างไรก็ดี เศรษฐกิจจีนที่เติบโตชะลอลงจะเป็นปัจจัยกดดันเพราะกัมพูชาพึ่งพาจีนสูงในหลายด้าน สปป.ลาวยังเปราะบางสูง แม้จะได้อานิสงส์จากอุปสงค์ในภูมิภาคอาเซียน แต่เสถียรภาพด้านการคลังและเสถียรภาพด้านต่างประเทศยังเปราะบางมาก ท่ามกลางค่าเงินกีบอ่อน เงินเฟ้อสูง ทุนสำรองระหว่างประเทศต่ำ และต้นทุนการกู้ยืมสูงขึ้นหลังถูกจัดอันดับเครดิตที่ระดับ Speculative ปัจจัยเหล่านี้จะกดดันศักยภาพเศรษฐกิจต่อไป เมียนมาขยายตัวต่ำต่อเนื่อง ผลจากกิจกรรมทางเศรษฐกิจซบเซาท่ามกลางเหตุการณ์รุนแรงที่ยังไม่คลี่คลาย ขณะที่ มาตรการคว่ำบาตรจากชาติตะวันตกมีส่วนทำให้อุปสงค์ต่างประเทศอ่อนแอลงมาก ประกอบกับปัญหาอื่น ๆ เช่น เงินจัตอ่อนค่า เงินเฟ้อเร่งตัว และการขาดแคลนปัจจัยการผลิตจากเส้นทางการขนส่งและการค้าหยุดชะงัก

ทั้งนี้ เศรษฐกิจ CLMV จะต้องเผชิญความเสี่ยงด้านต่ำหลายด้าน ทั้งจากนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ ที่ยังมีความไม่แน่นอนสูง และอาจมีการกีดกันการค้าประเทศวงกว้างกว่าที่ Trump หาเสียงไว้ โดยเฉพาะเวียดนามที่เกินดุลการค้ากับสหรัฐฯ สูง นอกจากนี้ ค่าเงินดอลลาร์สหรัฐ อาจแข็งขึ้นจากความไม่แน่นอนของเศรษฐกิจโลกและภูมิรัฐศาสตร์ รวมถึงอัตราดอกเบี้ยปลายทาง (Terminal rate) ของกลุ่มประเทศเศรษฐกิจหลักที่จะสูงกว่าคาดการณ์เดิม กดดันให้ค่าเงินกลุ่มประเทศ CLMV เผชิญแรงกดดันอ่อนค่ามากขึ้น

ขณะที่ ส่งผลทำให้เงินเฟ้อลดลงช้าและหนี้สาธารณะเพิ่มขึ้นในบางประเทศที่พึ่งพาการกู้จากต่างประเทศเป็นส่วนใหญ่ โดยเฉพาะสกุลเงินดอลลาร์สหรัฐ ขณะเดียวกัน มูลค่าหนี้เสียที่ยังอยู่ในระดับสูงในบางประเทศอาจกดดันการปล่อยกู้ของธนาคารพาณิชย์และเป็นความเสี่ยงต่อความมั่นคงทางการเงินในประเทศ รวมทั้งกดดันการลงทุนภายในประเทศ สุดท้ายการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนับว่าเป็นความเสี่ยงสำคัญที่ต้องจับตา เนื่องจากจะกระทบต่อผลผลิตการเกษตรและสร้างความเสียหายต่อเศรษฐกิจ ซึ่ง CLMV จัดว่าเป็นภูมิภาคที่อ่อนไหวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศลำดับต้น ๆ ของโลก

นอกจากนี้ การค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับ CLMV มีแนวโน้มขยายตัวค่อยเป็นค่อยไปในปี 2568 โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ CLMV ในภาพรวม อุปสงค์ในประเทศที่ปรับดีขึ้นและการค้าชายแดนไทย-เมียนมาที่ฟื้นตัว ขณะที่การลงทุนโดยตรงจากไทยไป CLMV ในปี 2568 มีแนวโน้มทยอยเพิ่มขึ้น ปัจจัยสนับสนุนมาจากอัตราดอกเบี้ยนโยบายไทยและโลกที่มีแนวโน้มปรับลดลงจากปี 2567 และบรรยากาศแวดล้อมทางธุรกิจที่ปรับดีขึ้น ในระยะปานกลาง SCB EIC มองว่าเศรษฐกิจ CLMV ยังเป็นภูมิภาคที่มีศักยภาพการเติบโตโดดเด่นและน่าสนใจ สำหรับธุรกิจไทยที่ต้องการขยายตลาดต่างประเทศโดยเฉพาะตลาดในภูมิภาค รวมถึงต้องการกระจายฐานการผลิตเพื่อลดต้นทุนและใช้ประโยชน์จากสนธิสัญญาการค้าเสรี

Back to top button