“งบการเงิน” ใบตรวจสุขภาพบริษัทที่ผู้ลงทุนต้องรู้
“งบการเงิน” เปรียบเหมือนใบตรวจสุขภาพ ที่ช่วยในการตัดสินใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่รู้ข้อมูล
“สวัสดีปีใหม่ 2568 ค่ะ” เริ่มต้นปีใหม่แบบนี้ คุณผู้อ่านหลายท่านอาจหันมาใส่ใจสุขภาพมากขึ้น ด้วยการ “ตรวจร่างกาย” เพื่อวางแผนดูแลตัวเองให้แข็งแรง แต่ทราบไหมคะ? ว่า บริษัทจดทะเบียนก็มีวิธี “ตรวจสุขภาพ” เช่นกัน โดยดูได้จากการเปิดเผย “งบการเงิน” ซึ่งจะฉายภาพสถานะการเงินของบริษัท ทั้งรายได้ กำไร ทรัพย์สิน และหนี้สิน เพื่อใช้ในการประเมินศักยภาพการดำเนินธุรกิจ
“งบการเงิน” เปรียบเหมือนใบตรวจสุขภาพ ที่ช่วยในการตัดสินใจและหลีกเลี่ยงความเสี่ยงที่อาจเกิดขึ้นจากการไม่รู้ข้อมูล แต่ก็ต้องระวัง เพราะบางครั้ง “งบการเงิน” อาจไม่สะท้อนฐานะทางการเงินและผลการดำเนินงานที่แท้จริงของบริษัท กลายเป็นหลุมพรางที่ซ่อนความเสี่ยงเอาไว้ ส่งผลให้ผู้ลงทุนต้องเผชิญกับความเสี่ยงที่ไม่คาดคิด โดยรูปแบบการตกแต่งบัญชีมีหลากหลาย เช่น การสร้างยอดขายหรือรายได้ที่สูงเกินจริง การบิดเบือนต้นทุนและค่าใช้จ่าย การสร้างธุรกรรมที่ไม่ได้เกิดขึ้นจริง การลงทุนในสินทรัพย์หรือธุรกิจที่มีมูลค่าเกินจริง เป็นต้น แล้วผู้ลงทุนจะจับสัญญาณอะไรได้บ้าง? เพื่อไม่ให้การตัดสินใจลงทุนผิดพลาด! ดิฉันมีข้อสังเกตในการวิเคราะห์สุขภาพกิจการมาบอกค่ะ
หนึ่งในข้อมูลที่ผู้ลงทุนควรใส่ใจเป็นพิเศษ คือ “ความเห็นในรายงานของผู้สอบบัญชี” เนื่องจากเป็นตัวชี้วัดความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงิน ซึ่งความเห็นนี้บ่งบอกถึงความโปร่งใสและความถูกต้องของข้อมูลในงบการเงิน ทั้งนี้ ถ้าผู้สอบบัญชีแสดงความเห็นว่า “ไม่มีเงื่อนไข” นั่นหมายถึง งบการเงินถูกต้องตามมาตรฐานการรายงานทางการเงินและเปิดเผยข้อมูลอย่างเพียงพอเหมาะสม
แต่ถ้าผู้สอบบัญชี “ไม่แสดงความเห็น” หรือ “แสดงความเห็นอย่างมีเงื่อนไข” เกี่ยวกับสถานการณ์ต่าง ๆ ผู้ลงทุนต้องเพิ่มความระมัดระวัง เพราะอาจสะท้อนถึงอุปสรรคในการเข้าถึงข้อมูล เช่น ถูกจำกัดขอบเขตการตรวจสอบ หรือไม่สามารถประมวลความถูกต้องของงบการเงินโดยรวมได้ ซึ่งอาจมีความไม่โปร่งใสซ่อนอยู่ ยิ่งไปกว่านั้น หากความเห็นระบุว่า “ไม่ถูกต้อง” นั่นหมายความว่า งบการเงินมีข้อผิดพลาดที่สำคัญ เช่น รายได้ที่ไม่สอดคล้องกับข้อเท็จจริง หรือมีการบันทึกข้อมูลที่ไม่เป็นไปตามมาตรฐานบัญชี ซึ่งอาจทำให้ผู้ลงทุนตัดสินใจผิดพลาดจากการใช้ข้อมูลดังกล่าวได้
นอกจากนี้ ผู้ลงทุนต้องไม่ลืมพิจารณาปัจจัยอื่น ๆ ร่วมด้วย ไม่ว่าจะเป็นการติดตามข่าวสารและข้อมูลเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงของบริษัท เช่น การไปลงทุนในธุรกิจใหม่ การลาออกของผู้บริหารระดับสูงหรือกรรมการตรวจสอบ ความคืบหน้าหรือความล่าช้าในการนำเงินที่ได้จากการระดมทุนไปใช้ตามวัตถุประสงค์ที่กำหนดไว้ การออกคำสั่งจากหน่วยงานทางการให้บริษัทชี้แจงข้อเท็จจริงต่าง ๆ ตลอดจนการแจ้งเตือนให้ผู้ลงทุนใช้สิทธิเข้าร่วมประชุมผู้ถือหุ้น
กฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับงบการเงินมีหลายข้อ เช่น พ.ร.บ.หลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ พ.ศ. 2535 ที่กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินตามมาตรฐานการรายงานทางการเงิน ขณะเดียวกัน ก็มีประกาศ ก.ล.ต. เรื่องการเปิดเผยข้อมูลทางการเงินของบริษัทจดทะเบียน ที่กำหนดให้ต้องจัดทำและนำส่งงบการเงินรายไตรมาสและรายปี ซึ่งต้องได้รับการตรวจสอบหรือสอบทานจากผู้สอบบัญชีที่ได้รับความเห็นชอบจาก ก.ล.ต. ทั้งนี้ ก.ล.ต. ยังคงยึดมั่นในการยกระดับคุณภาพของรายงานทางการเงินอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มความเชื่อมั่นแก่ผู้ลงทุน โดยหากพบการตกแต่งบัญชี ก.ล.ต. จะดำเนินการตามกฎหมายต่อไป
ท่านผู้อ่านคะ ในโลกการลงทุน “งบการเงิน” ไม่เพียงแค่สะท้อนถึงภาพรวมการเติบโตของกิจการ แต่ยังเผยให้เห็นความเสี่ยงของธุรกิจที่ผู้ลงทุนต้องเผชิญ หากมองข้ามหรือไม่ศึกษางบการเงินอย่างถี่ถ้วน ผู้ลงทุนอาจมีความเสี่ยงจากการตัดสินใจที่ผิดพลาดและสูญเสียโอกาสการลงทุนที่ดี การทำความเข้าใจงบการเงินจึงไม่ใช่เพียงการอ่านตัวเลข แต่เป็นการเข้าใจ “สุขภาพของบริษัทที่เราลงทุน” เพราะฉะนั้น ก่อนตัดสินใจลงทุน อย่าลืมเปิดอ่าน “งบการเงิน” และ “รายงานของผู้สอบบัญชี” เพื่อทำความเข้าใจธุรกิจอย่างรอบด้าน และป้องกันตัวเองจากความเสี่ยงที่ไม่คาดคิดนะคะ
ผู้เขียน: อาชินี ปัทมะสุคนธ์ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.)