“10 วันอันตราย” ปีใหม่ 68 ยอดเสียชีวิต 3 วัน พุ่ง 143 ราย
ศปถ. รายงาน สถิติ 10 วันอันตราย ปีใหม่ 2568 วันที่ 3 เสียชีวิต 47 ราย ขณะที่ยอดสะสม เป็น 143 ราย บาดเจ็บ 841 ราย "ทวี" รมว.ยุติธรรม สั่งปรับแผนตั้งด่าน วัดระดับแอลกอฮอล์ คุมเข้มเด็ก-เยาวชน อายุต่ำกว่า 20 ปี
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ธ.ค.67) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน “10 วันอันตราย” ซึ่งรัฐบาลกำหนด ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.67 จนถึงวันที่ 5 ม.ค.68
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 29 ธ.ค.67 ซึ่งเป็นวันที่ 3 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 280 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 269 คน ผู้เสียชีวิต 47 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 38.57% ดื่มแล้วขับ 23.21% ตัดหน้ากระชั้นชิด 19.29%
สำหรับ ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 82.98% รถกระบะ 7.99% รถยนต์ส่วนบุคคล 4.86%
ทั้งนี้ ส่วนใหญ่เกิดอุบัติเหตุ บนเส้นทางตรง 82.14% รองลงมาคือ ถนนกรมทางหลวง 40.36% และถนนใน อบต./หมู่บ้าน 31.07% ขณะที่ ช่วงเวลาที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ เวลา 16:01-17:00 น.
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี จำนวน 12 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ลพบุรี และสุราษฎร์ธานี จังหวัดละ 10 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สกลนคร 4 ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 3 วันของการรณรงค์ (วันที่ 27-29 ธ.ค.67) เกิดอุบัติเหตุรวม 872 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 841 คน ผู้เสียชีวิต รวม 143 ราย
ทั้งนี้ จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) มี 19 จังหวัด
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา จำนวน 35 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ พระนครศรีอยุธยา จำนวน 32 คน และจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร จำนวน 7 ราย
พ.ต.อ.ทวี สอดส่อง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในฐานะประธานแถลงผลการดำเนินงานของ ศปถ. ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 เปิดเผยว่า ได้กำชับให้บังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มงวด จริงจัง และต่อเนื่อง โดยให้ปรับแผนการตั้งจุดตรวจด่านตรวจในบริเวณที่มีการจัดงานส่งท้ายปีเก่าต้อนรับปีใหม่ และดำเนินการอย่างเข้มข้นในการเรียกตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด เพื่อป้องกันไม่ให้ผู้ดื่มเครื่องดื่มแอลกอฮอล์และขับขี่ยานพาหนะ รวมถึงให้ควบคุมดูแลการจำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ให้เป็นไปตามกฎหมายกำหนด โดยเฉพาะการจำหน่ายให้แก่เด็กและเยาวชนที่มีอายุไม่ถึง 20 ปี และการจำหน่ายในลักษณะเร่ขายในบริเวณสถานที่จัดงาน
นอกจากนี้ ให้จังหวัดเข้มงวดเด็กและเยาวชนที่มีพฤติกรรมเสี่ยงในการขับขี่ โดยเฉพาะกรณีผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี ที่ดื่มแล้วขับ ให้ขยายผลสอบสวนดำเนินคดีไปที่ต้นทาง ทั้งผู้ที่จำหน่ายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ ผู้สนับสนุน และผู้ปกครองของผู้ขับขี่อายุต่ำกว่า 20 ปี และประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนในพื้นที่รับทราบเกี่ยวกับผลของการกระทำผิดว่า หากมีผู้ฝ่าฝืนกฎหมายจราจรให้ใช้บทลงโทษสูงสุดตามกฎหมายเพื่อให้ผู้ขับขี่เกรงกลัวไม่กล้าฝ่าฝืนกฎหมาย