จากปี “งูใหญ่” สู่ “งูเล็ก” เศรษฐกิจไทย วัดผลงานรัฐบาล “แพทองธาร” คว้า “โอกาส” สู่อนาคต

จากปี “งูใหญ่” สู่ “งูเล็ก” เศรษฐกิจไทย วัดผลงานรัฐบาล “แพทองธาร” คว้า “โอกาส” สู่อนาคต


ปี 2567 เป็นปีที่ “การเมืองไทย” มีการเปลี่ยนแปลงสำคัญ รวมถึง “เศรษฐกิจไทย” ยังคงมีความซับซ้อนและความไม่แน่นอนสูง ทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ที่ส่งผลกระทบอย่างต่อเนื่อง เรียกได้ว่ากว่าจะผ่านปีนี้มาได้ต้อง หกล้มหกลุกกันน่าดู…

1 ปี มีนายกรัฐมนตรี 2 คน

การเปลี่ยนแปลงของการเมืองไทย ในปี 2567 ที่สำคัญ คือการที่ประเทศไทย มีนายกรัฐมนตรีถึง 2 คนในปีเดียวกัน จุดพลิกผัน นั้นคือสิ่งที่เกิดขึ้นกับ นายเศรษฐา ทวีสิน ซึ่งดำรงตำแหน่ง “นายกรัฐมนตรีคนที่ 30” ต้องพ้นจากตำแหน่งตามคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญเมื่อวันที่ 14 ลิงหาคม โดยศาลได้ตัดสินว่า นายเศรษฐาขาดคุณสมบัติในการดำรงตำแหน่ง เนื่องจากไม่ซื่อสัตย์สุจริตเป็นที่ประจักษ์ และมีการฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง ในกรณีการแต่งตั้งนายพิชิต ชื่นบาน เป็นรัฐมนตรี ซึ่งทำให้คณะรัฐมนตรี (ครม.) สิ้นสุดทั้งคณะ และเกิดช่องว่างในการบริหารงานของรัฐบาล

แต่หลังจากนั้นเพียง 2 วัน สภาผู้แทนราษฎร ได้มีมติเห็นชอบ นางสาวแพทองธาร ชินวัตร หัวหน้าพรรคเพื่อไทย เป็น นายกรัฐมนตรี คนที่ 31 ของประเทศไทย โดยได้รับคะแนนเสียง 391 เสียง ต่อ 145 เสียง งดออกเสียง 27 เสียง และมีผู้ไม่มาลงคะแนน 2 เสียง คือ ร.ต.อ.เฉลิม อยู่บำรุง ซึ่งเป็น สส. ของพรรคเพื่อไทยเอง และ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ สส. และ หัวหน้าพรรคพลังประชารัฐ

อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนแปลงยังไม่หยุดอยู่แค่นั้น ในปลายเดือนสิงหาคม ระหว่างฟอร์ม “ครม.แพทองธาร 1” ได้เกิดเหตุพลิกล็อกขั้นพรรคร่วมรัฐบาลเดิมต้องแตกหัก เมื่อ “พรรคเพื่อไทย” ตัดสินใจปรับสูตรการเมืองด้วยการดึงศัตรูเก่ามาเป็นมิตร โดยการทิ้ง “พลังประชารัฐ” และหันไปเชิญ “พรรคประชาธิปัตย์” เข้าร่วมรัฐบาลแทน  สะท้อนการสร้างความร่วมมือทางการเมืองใหม่ ๆ และเปิดโอกาสให้เห็นถึงพลวัตใหม่ในระบบการเมือง ที่อาจส่งผลกระทบต่อเสถียรภาพและการบริหารประเทศในระยะยาว

ปี’67 เศรษฐกิจไทย เกือบไม่รอด?

ด้านเศรษฐกิจนั้น ปี 2567 ประเทศไทยเผชิญกับความท้าทายอย่างมาก ซึ่งทำให้เศรษฐกิจไทยเกือบไม่สามารถฟื้นตัวได้เต็มที่ หลังจากวิกฤตโควิด-19 โดยเฉพาะในเรื่องของอัตราเงินเฟ้อที่เป็นปัญหาทั่วโลก การเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตจากราคาวัตถุดิบและพลังงานที่สูงขึ้นส่งผลกระทบต่อการผลิตและกำลังซื้อของผู้บริโภค นอกจากนี้ความไม่แน่นอนทางภูมิรัฐศาสตร์และความตึงเครียดจากสงครามในหลายพื้นที่ ก็ยังส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของนักลงทุนทั่วโลก

นอกจากนี้ ยังเป็นปีที่เศรษฐกิจไทยเผชิญกับปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง กลายเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการบริโภคภายในประเทศ ทำให้การกระตุ้นเศรษฐกิจผ่านการบริโภคของภาคประชาชนยังไม่สามารถฟื้นกลับมาได้เต็มที่ แม้ในช่วงต้นปีอดีตนายกฯ เศรษฐา พยายามหามาตรการในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจ แต่ด้วยปัจจัยทางการเมืองที่รุมเร้า จึงยังไม่สิ่งที่หวังและตั้งใจยังไปไม่ถึงฝั่งฝัน

จึงมาถึงสมัย นายกฯ “แพทองธาร” ใช้ฤกษ์ วันที่ 12 เดือน 12  เปิดแคมเปญ “2568 โอกาสไทย ทำได้จริง 2025 Empowering Thais: A Real Possibility หลังจากดำรงตำแหน่งครบ 90 วัน โดยประกาศเดินหน้า 5 นโยบายหลักที่มีเป้าหมายในการกระตุ้นเศรษฐกิจและแก้ไขปัญหาของประชาชน ดังนี้

1. ล้างหนี้ประชาชน ช่วยเหลือลูกหนี้ที่มีหนี้สินเชื่อบ้าน รถ และ SMEs โดยการบรรเทาภาระหนี้สินและช่วยเพิ่มกำลังซื้อของประชาชน

2. โครงการบ้านเพื่อคนไทย ให้โอกาสประชาชนที่มีรายได้น้อยสามารถซื้อบ้านได้ในราคาไม่เกิน 4,000 บาทต่อเดือน เป็นเวลา 25 ปี และมีสิทธิในการอยู่อาศัย 99 ปี

3. ทุนการศึกษา ใช้งบประมาณจากการขายสลากกินแบ่งรัฐบาล เพื่อจัดโครงการ “1 อำเภอ 1 ซัมเมอร์แคมป์” ซึ่งจะส่งเด็กไทยไปฝึกภาษาต่างประเทศในระยะเวลาสั้น ๆ

4. ขับเคลื่อนโครงการรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย เป็นโครงการที่มุ่งเป้าหมายในการลดค่าใช้จ่ายในการเดินทางของประชาชนและเพิ่มประสิทธิภาพการเดินทางในกรุงเทพฯ

5. ดิจิทัลวอลเล็ต โครงการแจกเงินหมื่นให้กับประชาชนตามเกณฑ์ที่กำหนด เพื่อช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจและเพิ่มการบริโภคในประเทศ

นักวิชาการประเมิน รัฐบาล “สอบตก” ด้านเศรษฐกิจ

ภาพจากเฟซบุ๊ก “อัทธ์ พิศาลวานิช นายหัวอัทธ์”

รศ.ดร.อัทธ์ พิศาลวานิช ผู้เชี่ยวชาญด้านเศรษฐกิจระหว่างประเทศ ได้ประเมินภาพรวมของรัฐบาลภายใต้การนำของ “แพทองธาร” ในปี 2567 ว่า ได้รับคะแนนเพียง 4 เต็ม 10 หรือ “สอบตก” โดยมองว่าปัญหาค่าครองชีพที่สูงยังคงเป็นปัญหาหลักที่ไม่สามารถแก้ไขได้ พ่อค้าแม่ค้าประสบปัญหาในการขายของ และ SMEs หลายแห่งต้องปิดตัวลง เนื่องจากไม่สามารถแข่งขันกับสินค้าจากต่างประเทศ โดยเฉพาะสินค้าจากจีนได้ นอกจากนี้นโยบายที่ผ่านมายังไม่เห็นผลอย่างชัดเจน นอกจากการแจกเงินหมื่นให้กับผู้ด้อยโอกาส ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาเศรษฐกิจอย่างยั่งยืน

รศ.ดร.อัทธ์ ยังมองภาพปี 2568 ว่า ประเทศไทยจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงมากมาย โดยเฉพาะจากการที่ นายโดนัลด์ ทรัมป์ กลับมาเป็นประธานาธิบดีสหรัฐฯ อีกครั้ง ซึ่งจะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและไทย ในด้านการค้าระหว่างประเทศและภูมิรัฐศาสตร์ รัฐบาลไทยจะต้องเตรียมตัวรับมือกับนโยบายของทรัมป์ แต่ยังไม่เห็นภาพชัดเจนว่า ไทยจะสามารถรับมือหรือใช้โอกาสจากสถานการณ์นี้ได้อย่างไร

นอกจากนี้ รศ.ดร.อัทธ์ คาดการณ์ว่า ปี 2568 จะเป็นปีที่ยากลำบากสำหรับคนไทย โดยประเมินว่า GDP จะขยายตัวได้เพียง 2.4% หรือระหว่าง 2.2-2.7% ไม่ถึง 3% เนื่องจากเศรษฐกิจโลกยังไม่แน่นอน โดยเฉพาะการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีนที่มีผลกระทบต่อการท่องเที่ยวโดยตรง เชื่อว่า ปัจจัยต่างประเทศจะมีบทบาทมากขึ้นในเศรษฐกิจไทย เนื่องจากการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานใหญ่ในประเทศยังคงขาดแคลน ซึ่งจะทำให้เศรษฐกิจไทยในปีหน้าอาจต้องพึ่งพาปัจจัยภายนอกมากกว่าการเติบโตจากภายในประเทศเอง นอกจากนี้ยังมีความกังวลเกี่ยวกับสถานการณ์ทางภูมิรัฐศาสตร์ที่อาจนำไปสู่ความตึงเครียดระดับโลก

FETCO แนะ ปี’68 ไทยต้องทุ่มสรรพกำลังดึง FDI

ดร.กอบศักดิ์ ภูตระกูล ประธานกรรมการสภาธุรกิจตลาดทุนไทย (FETCO) ได้ประเมินผลงานด้านเศรษฐกิจของรัฐบาลนางสาวแพทองธาร ชินวัตรในช่วง 90 วันที่ผ่านมา โดยเห็นว่าเป็นเพียงจุดเริ่มต้นของการดำเนินงาน ซึ่งระยะเวลา 90 วันถือว่า “ไม่ได้สั้นหรือยาวจนเกินไป” และรัฐบาลสามารถผลักดันนโยบายและมาตรการสำคัญได้ในบางด้าน เช่น กองทุนวายุภักษ์, แจกเงิน 10,000 บาท เพื่อกระตุ้นการบริโภคและเศรษฐกิจฐานราก, สิทธิ 30 บาทรักษาทุกที่, การดึงนักลงทุนเข้าประเทศ และการแก้ไขกฎหมายที่สำคัญ ซึ่งอยู่ระหว่างการดำเนินการ

ประธาน FETCO กล่าวถึงแนวทางที่รัฐบาลควรขับเคลื่อนในปี 2568 โดยชี้ให้เห็นโอกาสสำคัญของประเทศไทยในการสร้างความเจริญเติบโตในหลายมิติ พร้อมเน้นย้ำถึงการเตรียมความพร้อม เพื่อดึงดูดโอกาสใหญ่ที่กำลังมาถึง ซึ่งรัฐบาลควร “หยิบฉวยโอกาส” เหล่านี้อย่างเต็มที่

ดร.กอบศักดิ์ อธิบายว่า เขาอยากเห็นรัฐบาลแก้ไขกฎเกณฑ์ที่เป็นอุปสรรคในการดึงดูดผู้มีความสามารถ (Talents) และธุรกิจสตาร์ทอัพ เข้ามาในประเทศ เพราะทั้ง 2 ส่วนดังกล่าว ไม่ได้ต้องการเงินสนับสนุนจากรัฐ เพียงแต่รอการลดข้อจำกัด และสร้างสภาพแวดล้อมที่เอื้ออำนวย

ขณะเดียวกันก็สานต่อ “IGNITE THAILAND” ที่รัฐบาลนายเศรษฐา ทวีสิน ริเริ่มไว้ โดยเฉพาะสนับสนุนให้ไทยเป็นศูนย์กลางอาหารของภูมิภาค และเดินหน้าเรื่องสินทรัพย์ดิจิทัล Digital Asset ซึ่งไทยมีศักยภาพในการเป็นผู้นำระดับภูมิภาค ควรเร่งรัดโครงการขนาดใหญ่ ซึ่งเป็นโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟความเร็วสูง, โครงการเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ท่าเรือฝั่งตะวันตก และสนามบิน

พร้อมทั้งส่งเสริมศักยภาพเด่นของประเทศด้านการท่องเที่ยว โดยเพิ่มคุณค่าให้การท่องเที่ยวไทยก้าวหน้าไปสู่ระดับสูงสุด ส่งเสริมให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลาง workation หรือการทำงานและการพักผ่อนในเวลาเดียวกัน และทำให้ไทยกลายเป็นพื้นที่แห่งการจับจ่ายใช้สอยของโลก

โอกาสสำคัญในรอบ 20 ปี

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงความสำคัญสำหรับโอกาสของประเทศไทยที่เกิดขึ้นในรอบ 20 ปี ในปี 2568 คือ การดึงดูดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (Foreign Direct Investment: FDI) โดยการที่บริษัทข้ามชาติเลือกลงทุนในประเทศใดประเทศหนึ่งจะเป็นการตัดสินใจระยะยาว หากประเทศไทยถูกเลือก

ประธาน FETCO เตือนว่า หากไทยพลาดโอกาสนี้ จะเป็นเรื่องยากที่จะฟื้นตัวหรือกลับมาเป็นตัวเลือกหลักในสายตาของนักลงทุนในอนาคต ดังนั้นการใช้ช่วงเวลานี้ให้เกิดประโยชน์สูงสุดจึงเป็นสิ่งสำคัญยิ่ง

ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงข้อกังวลของหลายฝ่ายเกี่ยวกับสงครามการค้าที่จะเกิดขึ้นในปีหน้าว่า สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน จะมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก รวมถึงประเทศไทยในบางมิติ แต่ก็อาจสร้างโอกาสเชิงบวกได้ในเวลาเดียวกัน

แม้ประเทศไทยจะได้รับผลกระทบจากสงครามการค้า แต่ผลกระทบจะไม่รุนแรงเท่าประเทศอื่น เนื่องจากไทยไม่ได้มีบทบาทหลักในความขัดแย้งนี้ เช่น บริษัทจีนที่ผลิตแผงโซลาร์ในไทยอาจได้รับผลกระทบจากการที่สหรัฐอเมริกาเพิ่มอัตราภาษีสินค้า อย่างไรก็ตาม สินค้าที่ผลิตในไทยอาจได้รับอัตราภาษีที่ลดลง เช่น จีนถูกเก็บ 60% ในขณะที่ไทยอาจถูกเก็บ 20% ทำให้สินค้าไทยยังคงมีความสามารถในการแข่งขัน

ประธาน FETCO ยังได้เสนอแนวคิดเชิงกลยุทธ์สำหรับการดึงดูดการลงทุนเข้าประเทศไทย โดยเน้นไปที่การสร้างสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้ประเทศไทยเป็นจุดเริ่มต้นของการลงทุนระดับโลก ต้องระดมขุนพลทางเศรษฐกิจ และผู้เชี่ยวชาญที่มีศักยภาพเข้าไปสนับสนุนการทำงานของคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือ บีโอไอ (BOI) ผลักดันระบบ Single Window เพื่อให้การดำเนินการด้านการลงทุนเป็นไปอย่างราบรื่น ลดขั้นตอนที่ซับซ้อน และเพิ่มความสะดวกให้กับนักลงทุน

ใช้ “กลยุทธ์ปูพรมแดง” (Red Carpet) ให้สิทธิพิเศษ สำหรับบริษัทขนาดใหญ่ เช่น Google, Microsoft หรือบริษัทที่มีเทคโนโลยีและทรัพยากรสำคัญ โดยไม่ต้องกังวลกับข้อครหาเรื่องความเท่าเทียม เพราะบริษัทใหญ่เหล่านี้มีเม็ดเงินสูง โอกาสที่บริษัทอื่นในห่วงโซ่อุปทาน (Supply Chain) เช่น บริษัทแถว 2 และแถว 3 จะตามมาก็มีสูง

ไทยต้องแสดงให้โลกเห็นว่าพร้อมต้อนรับการลงทุนในทุกมิติ และเป็นฐานสำคัญสำหรับการขยายธุรกิจในภูมิภาคอาเซียน

ทั้งนี้การมีอุตสาหกรรมหลัก เช่น Data Center ที่เข้ามาตั้งฐานในไทย สร้างบริบทที่เอื้ออำนวยให้บริษัทในเครือหรือธุรกิจที่เกี่ยวข้อง (Supply Chain) ตามมา ดังนั้นควรส่งเสริมอุตสาหกรรมเป้าหมายเพิ่มเติมอีก 2-3 ประเภท ที่จะสามารถดึงดูดการลงทุนขนาดใหญ่ได้

สำหรับปัญหาเรื่องการเมืองในประเทศนั้น ดร.กอบศักดิ์ กล่าวถึงเรื่องนี้ว่าอยากให้เชื่อใจ “ภาคเอกชนไทย” เพราะเอกชนเป็นกลไกสำคัญที่ช่วยให้ประเทศไทยสามารถก้าวผ่านวิกฤตในอดีตมาได้ นักธุรกิจไทยมีศักยภาพในการปรับตัวและสร้างโอกาสแม้ในช่วงเวลาที่ท้าทาย อีกทั้ง “แบรนด์ไทย” ในระดับภูมิภาคยังคงมีความสามารถในการแข่งขันและเป็นที่ยอมรับ

“อย่าให้มีอะไรลุกลามจนเกินควบคุม”

เป็นข้อความสำคัญที่สะท้อนความตั้งใจของ ดร.กอบศักดิ์ ในการผลักดันให้ประเทศไทยเดินหน้าไปข้างหน้า โดยอาศัยความเข้มแข็งของภาคเอกชน และการสร้างเสถียรภาพทางการเมือง เพื่อให้ประเทศสามารถก้าวผ่านความท้าทายและคว้าโอกาสได้ในอนาคต

Back to top button