บอร์ด EEC เล็งชงครม. แก้สัญญา “ไฮสปีดเทรน 3 สนามบิน” ดันเริ่มก่อสร้าง มี.ค.-เม.ย.68
เลขาธิการบอร์ดกพอ. คาดเสนอ ครม. แก้สัญญา โครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน ภายในเดือน มี.ค.-เม.ย. ปีหน้า
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (30 ธ.ค.67) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (กพอ.) หรือ EEC เปิดเผยว่า ในการประชุมบอร์ดกพอ. ในเดือน ม.ค.68 นี้ EEC จะรายงานความก้าวหน้า โครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) เชื่อม 3 สนามบิน แบบไร้รอยต่อ (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) และจะขอทบทวนมติบอร์ดกพอ. เมื่อวันที่ 11 ต.ค.67 กรณีเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา 2 ครั้ง
คือครั้งแรกเสนอ ครม.รับทราบมติบอร์ดกพอ. เรื่องหลักการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ก่อน หลังจากนั้นส่งร่างสัญญาร่วมทุนฯ ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบและกลับมาเสนอบอร์ดกพอ. เห็นชอบร่างสัญญาฯ ร่วมทุน และเสนอครม.อีกครั้ง เพื่ออนุมัติลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ เป็น เสนอ ครม. เห็นชอบเพียงครั้งเดียว หลังจากอัยการสูงสุดตรวจร่างสัญญาเรียบร้อยและบอร์ด กพอ. เห็นชอบแล้ว
ดังนั้นขั้นตอนหลังบอร์ดกพอ. ทบทวนมติขั้นตอนการเสนอ ครม. พิจารณาครั้งเดียว ทางการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) จะเร่งไปหารือกับเอกชนเพื่อสรุปเรื่องสัญญา ซึ่งขณะนี้ไม่มีประเด็นสำคัญแล้ว เพราะเงื่อนไขการแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ ในหลักการได้ข้อยุติไปแล้ว
เลขาธิการบอร์ดกพอ. กล่าวอีกว่า ตอนนี้เหลือเรื่องถ้อยคำ จากนั้นจะส่งร่างสัญญาฯ ให้อัยการสูงสุดตรวจสอบ คาดว่า ใช้เวลาประมาณ 1 เดือน เรื่องจะกลับมาเสนอบอร์ด กพอ. เพื่อเห็นชอบร่างสัญญาฯ ในวาระประชุมเดือน ก.พ.68 และคาดว่า จะเสนอ ครม. ขออนุมัติได้ประมาณเดือนมี.ค.- เม.ย.68 และลงนามแก้ไขสัญญาร่วมทุนฯ และจะออกหนังสือให้เริ่มงาน (Notice to Proceed: NTP) ทันที
ทั้งนี้ นายจุฬา กล่าวด้วยว่า EEC ตั้งเป้าหมายให้ลงนามแก้ไขสัญญาเพื่อเร่งออก NTP เริ่มงานก่อสร้างให้เร็วที่สุด ก่อนหน้านี้มักมีคำถามว่าถ้าเอกชนไม่ทำโครงการแล้วทางออกจะเป็นอย่างไร โครงการนี้เป็นการร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน ดังนั้นการขับเคลื่อนรัฐกับเอกชนต้องไปด้วยกัน ซึ่งรัฐ โดย รฟท. ต้องเตรียมวงเงิน 1.2 แสนล้านบาท เพื่อจ่ายคืนค่าก่อสร้างให้เอกชน ภายใน 4 ปี ซึ่งเริ่มตั้งงบประมาณตั้งแต่ปี 69 ดังนั้นหากเอกชนไม่ทำโครงการต่อด้วยเหตุผลใดก็ตาม รัฐก็มีเงินที่จะทำโครงการเองอยู่แล้ว