“เกรียงไกร” หนุนเก็บภาษี “ต่างชาติ” 15% ดึงดูดนักลงทุน เสริมเศรษฐกิจไทย
ประธาน ส.อ.ท. เสนอโมเดลจัดเก็บภาษี ต่างชาติ 15% หนุนดึงลงทุน ขณะ สินค้าอุปโภคบริโภค ควรอัตราเดิม ไม่ให้กระทบประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (2 ม.ค.68) นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) แสดงความเห็นแนวทางการเก็บภาษีที่กระทรวงการคลังเสนอ โดยเฉพาะการเก็บภาษีจากนักลงทุนต่างชาติ ที่อัตรา 15% โดยราชกิจจานุเบกษา ประกาศให้เริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค.68 นั้น มองว่า เป็นแนวทางที่สอดคล้องกับนโยบายการส่งเสริมการลงทุนของ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) ที่เน้นการยกเว้นภาษีเพื่อดึงดูดนักลงทุนต่างชาติเข้าสู่ประเทศไทย
นายเกรียงไกร กล่าวต่อว่า การเก็บภาษีในอัตรานี้ถือเป็นกลยุทธ์ที่จะทำให้ไทย เป็นศูนย์กลางการลงทุน (Regional Headquarters) ในภูมิภาค โดยเฉพาะการดึงบริษัทข้ามชาติจากสิงคโปร์ที่มีสาขาในภูมิภาคเข้ามาลงทุนในไทย เนื่องจากไทยมีข้อได้เปรียบในเรื่องของค่าใช้จ่ายต่าง ๆ ไม่ว่าจะเป็นค่าแรง ค่าเช่าสำนักงาน รวมถึงค่าครองชีพที่ต่ำกว่าสิงคโปร์
นอกจากนี้ ประธาน ส.อ.ท. ยังมองว่า การเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคลของไทยที่อัตรา 20% ยังสามารถปรับได้เป็น 2 อัตราตามกลุ่มการลงทุนและการสนับสนุนจากภาครัฐ เช่น การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ (EEC) หรือการสนับสนุนอุตสาหกรรมใหม่ ที่อาจใช้มาตรการยกเว้นภาษีระยะยาวได้ ซึ่งจะช่วยดึงดูดการลงทุนในระยะยาว
สำหรับการเก็บภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ซึ่งประเทศไทยจัดเก็บอยู่ที่ 7% แม้ว่ากฎหมายจะกำหนดไว้ที่ 10% แต่ไม่ได้เก็บจริงนั้น
นายเกรียงไกร ระบุว่า หากสามารถเก็บ VAT เพิ่มขึ้นเพียง 1% จะทำให้ภาครัฐสามารถเพิ่มรายได้เข้าสู่คลังได้มากกว่า 1 แสนล้านบาท และหากเก็บเพิ่ม 3% ก็จะสามารถสร้างรายได้ถึง 4 แสนล้านบาท ซึ่งเพียงพอในการแก้ไขปัญหาการขาดดุลงบประมาณและลดความเสี่ยงด้านการเงินการคลัง
อย่างไรก็ตาม เขายังแนะนำว่าการเก็บภาษีสินค้าอุปโภคบริโภคซึ่งเป็นสินค้าที่ประชาชนจำเป็นต้องใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น อาหาร ควรเก็บภาษีในอัตราต่ำหรือตามอัตราเดิม ส่วนสินค้าฟุ่มเฟือยสามารถปรับเพิ่มอัตราภาษีได้ตามความเหมาะสม เพื่อไม่ให้กระทบต่อผู้มีรายได้น้อยและช่วยเพิ่มรายได้เข้าสู่รัฐ
ส่วนของปัญหาหนี้สาธารณะและหนี้ภาคครัวเรือนที่มีอัตราสูง นายเกรียงไกร เน้นย้ำว่า การเพิ่มภาษีเป็นหนึ่งในวิธีการที่จะช่วยเพิ่มรายได้ให้กับรัฐบาล และเป็นการแก้ไขปัญหาการขาดดุลการคลังที่กำลังดำเนินอยู่ในปัจจุบัน โดยรัฐบาลต้องหาทางเพิ่มรายได้และลดการขาดดุลในระยะยาว เพื่อไม่ให้ประเทศไทยเสี่ยงต่อการปรับลดอันดับเครดิตในอนาคต