FSSIA มอง STA-CPF กระทบจำกัด หลังไทยจัดเก็บภาษี “บริษัทข้ามชาติ” ขั้นต่ำ 15%
บล.ฟินันเซีย ไซรัส มอง STA-CPF กระทบจำกัด หลังไทยประกาศเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% ตามมาตรฐาน GMT เริ่มมีผล 1 ม.ค. 68
บริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ครม.อนุมัติกฎหมายจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามกติกา Global Minimum Tax (GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมองกระทบต่อหุ้น DELTA, TU ส่วน STA, CPF กระทบจำกัด
โดยถือเป็นหลักการทางภาษีระดับโลก ตามเกณฑ์ของ OECD โดยมีประเทศที่เข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศแล้ว และการอนุมัติครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายภาษีนิติบุคคลไทย ด้วยแนวทางจัดเก็บภาษีนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยขั้นต่ำ 15% เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระดับโลก
ทั้งนี้ เกณฑ์การจัดเก็บ GMT 15% ของไทยที่ปัจจุบันได้สิทธิพิเศษ BOI ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จึงต้องถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม สำหรับบริษัทที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี (หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท)
สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหารใน coverage ของ FSSIA บริษัทที่เข้าเกณฑ์ และอาจต้องถูกจัดเก็บ GMT เพิ่มเป็น 15% ได้แก่ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ส่วน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ไม่กระทบเพราะจ่ายภาษีเกิน 15% อยู่แล้ว และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ภาษีต่ำกว่า 15%
โดย DELTA ปัจจุบันเสียภาษีในอัตรา 2% ส่วนใหญ่เป็นฐานรายได้จากในไทยเป็นหลัก แม้มีฐานผลิตที่อินเดีย และสโลวาเกีย แต่สัดส่วนของกำไรที่ต้องเสียภาษีน้อยมาก ดังนั้นกรณีกำหนดให้ภาษีเพิ่มเป็น 15% จะกระทบต่อกำไรทั้งปีที่ 13%
ขณะที่ TU ปัจจุบันทั้งกลุ่มเสียภาษีในอัตรา 7.6% โดยฐานภาษีในประเทศอื่นเกิน 15% อยู่แล้ว มีเพียงฐานรายได้ในไทยที่ปัจจุบันได้ BOI อาจถูกกระทบในส่วนนี้ กรณีภาษีขึ้นเป็น 15% คาดทำให้อัตราภาษีของ TU ขยับขึ้นเป็น 11.3% จะกระทบต่อกำไรทั้งปีราว 5.7%
รวมถึง STA ทางฝ่ายวิจัยใช้สมมติฐานอัตราภาษีสำหรับปี 68 อยู่ที่ 12% ดังนั้นหากถูกปรับขึ้นเป็น 15% (กำหนดให้ปัจจัยอื่นคงที่) จะกระทบกำไรทั้งปีเพียง 3.6% ถือว่าจำกัด
ขณะที่หลังจากนี้ ต้องเสนอ พรก. ทั้ง 2 ฉบับไปยัง สนง.คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจสอบ หลังจากนั้นจึงเข้าสู่ขั้นตอนของสภาฯ ต่อไป เพื่อให้มีผลบังคับใช้ในปี 68
อย่างไรก็ตาม เป็นการประเมินเบื้องต้น ซึ่งยังต้องติดตามรายละเอียดวิธีการคำนวณของภาครัฐ รวมถึงแนวทางการช่วยเหลือหรือการผ่อนปรนของ BOI ด้วย