ดักเก็บ SCGP-GPSC-BGRIM อัพไซด์เกิน 30% หลังแพนิกไทยรีดภาษี “บริษัทข้ามชาติ” ขั้นต่ำ 15%
โอกาสเก็บ 9 หุ้น “อัพไซด์กว้าง” เทียบกับราคาเป้าหมาย LSEG Consensus หลังแพนิกหวั่นกระทบไทยเก็บภาษี “บริษัทข้ามชาติ” ขั้นต่ำ 15% ชู SCGP-GPSC-BGRIM อัพไซด์สูงเกิน 30%
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณี “ไทย” ประกาศเก็บภาษีบริษัทข้ามชาติขั้นต่ำ 15% เริ่มมีผล 1 ม.ค.2568 เป็นบริษัทที่มีรายได้รวมมากกว่า 750 ล้านยูโรต่อปี ประกอบกับโบรกเกอร์ออกประเมินว่ากลุ่มส่งออกอาหาร,ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์,โรงไฟฟ้า,และแพ็กกิ้ง คาดได้รับผลกระทบทำให้นักลงทุนกังวลและเทขายหุ้นขนาดใหญ่ออกมาและกดดัชนีให้ปรับตัวลงแรงจนปิดร่วง 20 จุด นำโดย DELTA,TU, STA,GPSC,BGRIM,EGCO,RATCH
อย่างไรก็ตามวันนี้(2 ม.ค.68)ราคาหุ้นดังกล่าวที่ปรับตัวลงแรงเกินพื้นฐาน ส่งผลให้ราคาหุ้นมีอัพไซด์เปิดกว้าง เมื่อเทียบกับราคาเป้าหมายของทาง LSEG CONSENSUS ที่ประเมินเอาไว้ซึ่งมีด้วยกัน 9 ตัว ดังนี้
บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU โดย LSEG Consensus แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 16.83 บาท เมื่อเทียบราคาปิดล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 12.80 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 31%
บริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA โดย LSEG Consensus แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 23.19 บาท เมื่อเทียบราคาปิดล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 17.90 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 29.55%
ส่วน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF โดย LSEG Consensus แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 29.69 บาท เมื่อเทียบราคาล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 23.00 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 29.08%
บริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP โดย LSEG Consensus แนะถือราคาเป้าหมาย 30.38 บาท เมื่อเทียบราคาปิดล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 19.40 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 56.59%
บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF โดย LSEG Consensus แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 63.61 บาท เมื่อเทียบราคาล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 57.25บาท พบว่ามีอัพไซด์ 11.10%
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC โดย “LSEG Consensus” แนะนำซื้อราคาเป้าหมาย 54.00 บาท เมื่อเทียบราคาปิดล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 37.50 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 44%
บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM โดย “LSEG Consensus” แนะนำถือราคาเป้าหมาย 26.28 บาท จากราคาล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 19.20 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 36.87%
บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO โดย LSEG Consensus แนะนำ “ซื้อ” ราคาเป้าหมาย 144.00 บาท เมื่อเทียบราคาล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 116.00 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 24.13%
บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH โดย “LSEG Consensus” แนะนำ “ซื้อ” ราคเป้าหมาย 35.80 บาท เมื่อเทียบราคาล่าสุดวันนี้อยู่ที่ 29.50 บาท พบว่ามีอัพไซด์ 21.35%
ขณะที่บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA โดย LSEG Consensus แนะนำถือราคาเป้าหมาย 116.80 บาท แม้ว่าราคาล่าสุดปิดวันนี้อยู่ที่ 139.00 บาท ยังคงปิดสูงกว่าราคาเป้าหมาย
ด้านบริษัทหลักทรัพย์ ฟินันเซีย ไซรัส จำกัด (มหาชน) หรือ FSSIA ระบุในบทวิเคราะห์ว่า ครม.อนุมัติกฎหมายจัดเก็บภาษีนิติบุคคลขั้นต่ำ 15% ตามกติกา Global Minimum Tax (GMT) ขององค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (OECD) โดยมองกระทบต่อหุ้น DELTA, TU ส่วน STA, CPF กระทบจำกัด
โดยถือเป็นหลักการทางภาษีระดับโลก ตามเกณฑ์ของ OECD โดยมีประเทศที่เข้าร่วมมากกว่า 100 ประเทศแล้ว และการอนุมัติครั้งนี้ถือเป็นการปฏิรูปกฎหมายภาษีนิติบุคคลไทย ด้วยแนวทางจัดเก็บภาษีนิติบุคคลต่างชาติที่เข้ามาลงทุนในไทยขั้นต่ำ 15% เพื่อสร้างความเท่าเทียมในการแข่งขันระดับโลก
ทั้งนี้ เกณฑ์การจัดเก็บ GMT 15% ของไทยที่ปัจจุบันได้สิทธิพิเศษ BOI ทำให้อัตราภาษีที่แท้จริงต่ำกว่า 15% จึงต้องถูกจัดเก็บภาษีเพิ่ม สำหรับบริษัทที่มีรายได้รวมเกิน 750 ล้านยูโรต่อปี (หรือราว 2.6 หมื่นล้านบาท)
สำหรับกลุ่มอิเล็กทรอนิกส์ และกลุ่มอาหารใน coverage ของ FSSIA บริษัทที่เข้าเกณฑ์ และอาจต้องถูกจัดเก็บ GMT เพิ่มเป็น 15% ได้แก่ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA, บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU และบริษัท ศรีตรังแอโกรอินดัสทรี จำกัด (มหาชน) หรือ STA ส่วน บริษัท เจริญโภคภัณฑ์อาหาร จำกัด (มหาชน) หรือ CPF ไม่กระทบเพราะจ่ายภาษีเกิน 15% อยู่แล้ว และมีเพียงไม่กี่ประเทศที่ภาษีต่ำกว่า 15%
ขณะที่บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุว่า จากกรณีกระทรวงการคลังแถลงว่า ภาษีเงินได้นิติบุคคลขั้นต่ำทั่วโลก (Global Minimum Tax) อัตรา 15% ที่จะเรียกเก็บจาก นิติบุคคลข้ามชาติ (Multinational Enterprises) ที่มีรายได้ไม่น้อยกว่า 750 ล้านยโร มีผลใช้บังคับ ตั้งแต่ 1 มกราคม 2568 เป็นต้นไป
ทั้งนี้ประเมินหุ้นกลุ่มที่เข้าข่ายคาดจะได้รับผลกระทบ อาทิ 1. กลุ่มส่งออกอาหาร คือ บริษัท ไทยยูเนี่ยน กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ TU (Effective tax rate 7-8%) ส่วนที่คาดจะกระทบคือ บริษัทในเครือที่อยู่ในไทยราว 35% ที่ได้รับ BOI โดยรวมคาดกระทบต่อประมาณการกำไรปกติปี 68 จำกัดในกรอบ 3-8%
2.) ชิ้นส่วน คือ บริษัทเดลต้า อีเลคโทรนิคส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) หรือ DELTA (Effective tax rate 5.5%) คาดกระทบต่อประมาณการกำไรปี 68 มี downside risk ราว 12% ในกรณีที่ effective tax rate เพิ่มสู่ 15%
3.) กลุ่มโรงไฟฟ้า บางส่วนปัจจุบัน Effective Tax Rate อยู่ราว 5-10% หากนับเฉพาะผลกระทบภาษีคาดกำไรสุทธิจะกระทบอยู่ระหว่าง 5-10%
ทั้งนี้ ในส่วนรายละเอียดรายตัว บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF จากการลงทุนต่างประเทศของบริษัท มองฐานรายได้และกำไรที่เติบโตต่อเนื่องจากธุรกิจหลักและการเปลี่ยนผ่านไปสู่ New Co จะทำให้ผลกระทบจำกัดและบริหารจัดการภาษีภายในได้, บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM มีลงทุนต่างประเทศและเป็นการคาดการณ์ผลกระทบ ส่วนหุ้นโรงไฟฟ้าที่กระทบน้อย คือ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC ส่วนมากรับรู้เป็น equity income ส่วน บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH และ บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO กระทบน้อยจากฐานภาษีสูงใกล้เคียง 15%
4.) กลุ่ม Packaging หุ้นบริษัท เอสซีจี แพคเกจจิ้ง จำกัด (มหาชน) หรือ SCGP มีธุรกิจที่เวียดนาม (14% ของรายได้) ที่อาจต้องเสียภาษีเพิ่มเติม แต่มองผลกระทบต่อภาพรวมจำกัด ประเมินเป็นจิตวิทยาลบอ่อนๆ
ทั้งนี้ กลยุทธ์ประเมินหุ้นที่มีความเสี่ยงกระทบ ส่วนใหญ่ทยอยปรับตัวลงสะท้อนตั้งแต่ต้น-กลางเดือน ธ.ค.67 แต่หากอิงโอกาสที่รัฐฯน่าจะต้องหาช่องทางสนับสนุนเงินคืนเพื่อลดผลกระทบ รวมถึงการบริหารภาษีภายในบริษัทต่างๆ คาดผลกระทบจะจำกัดกว่าที่ประเมินข้างต้น โดยเชิงกลยุทธ์แนะนำตั้งรับหุ้นที่อยู่ในกลุ่มที่เป็น New S-Curve ของไทยระยะถัดไป อาทิ โรงไฟฟ้า ที่อยู่ในธีม Infra Tech เน้น GULF, GPSC