GULF แจ้ง COD “โซลาร์ฟาร์ม” 295 MW พ่วงจ่ายไฟหินกอง 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์
GULF แจ้งตลท. เดินเครื่อง COD “โซลาร์ฟาร์ม” กำลังผลิต 295 เมกะวัตต์ พร้อมควง RATCH เดินหน้าเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตจ่ายไฟหินกอง หน่วยผลิตที่ 2 กำลังผลิต 700 เมกะวัตต์
นางสาวยุพาพิน วังวิวัฒน์ รองประธานเจ้าหน้าที่บริหารและประธานเจ้าหน้าที่บริหารด้านการเงิน บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF ขอแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ทราบว่า บริษัทได้เข้าลงนามสัญญาซื้อขายไฟฟ้า (Power Purchase Agreement) ระหว่างกลุ่มบริษัทฯ กับ การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อพัฒนาและดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์เป็นระยะเวลา 25 ปี จำนวนรวมทั้งสิ้น 25 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวมทั้งสิ้น 1,353.1 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 2,537.8 เมกะวัตต์)
ทั้งนี้ ประกอบด้วย โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน (solar farms) จำนวน 13 โครงการ ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 652.9 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 869.8 เมกะวัตต์)
โครงการพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน (solar farms with battery energy storage systems) จำนวน 12 โครงการ ซึ่งมีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 700.2 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 1,668.0 เมกะวัตต์) โดยมีแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ในช่วงปี 2567 –2572 แล้วนั้น
โดยบริษัทฯ ขอแจ้งทราบว่า เมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2567 กลุ่มบริษัทย่อยที่บริษัทฯ ถือหุ้นทางอ้อมผ่าน บริษัท กัลฟ์ รีนิวเอเบิล เอ็นเนอร์จี จำกัด (GRE) ในสัดส่วนร้อยละ 100 ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์เรียบร้อยแล้ว จำนวนรวมทั้งสิ้น 5 โครงการ มีขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 295.0 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 531.8เมกะวัตต์) โดยแบ่งเป็นโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดิน จำนวน 3 โครงการขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 160.0 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 212.9 เมกะวัตต์) และโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบติดตั้งบนพื้นดินร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน จำนวน 2 โครงการ ขนาดกำลังการผลิตไฟฟ้าตามสัญญารวม 135.0 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 318.9 เมกะวัตต์) โดยรายละเอียดมีดังนี้
- บริษัท แสงไทยพลังงาน จำกัด ดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้ง 77.0 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตตาม สัญญา 58.0 เมกะวัตต์
2.บริษัท พลังงานรุ่งเรือง จำกัด ดำเนินโครงการพลังงานแสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้ง 72.5 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตตามสัญญา 54.0 เมกะวัตต์
3.บริษัท สกาย เพาเวอร์ จำกัด ดำเนินโครงการพลังงาน แสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้ง 63.4 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตตามสัญญา 48.0 เมกะวัตต์
4.บริษัท บรีซแอนด์ไชน์ เพาเวอร์ จำกัด ดำเนินโครงการพลังงาน แสงอาทิตย์ แบบติดตั้งบนพื้นดิน กำลังการผลิตติดตั้ง 176.7 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตตามสัญญา 75.0 เมกะวัตต์
5.บริษัท พัฒนาโซลาร์ จำกัด ได้รับโครงการแบบติดตั้งบนพื้นดิน ร่วมกับระบบกักเก็บพลังงาน กำลังการผลิตติดตั้ง 142.2 เมกะวัตต์ และมีกำลังการผลิตตาม สัญญา 60.0 เมกะวัตต์ ซึ่งมีกำลังการผลิตติดตั้งรวมทั้งสิ้น 531.8 เมกะวัตต์ โดยแผนเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ เริ่มวันที่ 31 ธ.ค. 67 ที่ผ่านมา
นอกจากนี้ในวันเดียวกันทาง บมจ.กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ (GULF) มีการแจ้งผ่านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) ว่าเมื่อวันที่ 1 มกราคม 2568 บริษัท หินกองเพาเวอร์ จำกัด ซึ่งเป็นการร่วมค้าที่บริษัทฯ ถือหุ้นร่วมกับ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH ในสัดส่วนร้อยละ 49 และ 51 ตามลำดับ โดยเป็นผู้ดำเนินโครงการโรงไฟฟ้าเอกชนขนาดใหญ่ (Independent Power Producer: IPP) ได้แก่ โครงการโรงไฟฟ้าหินกอง (HKP) ได้เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์หน่วยผลิตที่ 2 ซึ่งเป็นหน่วยการผลิตสุดท้ายของโครงการ มีขนาดกำลังการผลิตตามสัญญา 700 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์) โดยจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เป็นที่เรียบร้อยตามกำหนด (โดยหน่วยผลิตที่ 1 กำลังการผลิตติดตั้ง 770 เมกะวัตต์ เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วเมื่อวันที่ 1 มีนาคม 2567 ที่ผ่านมา
สำหรับโครงการ HKP เป็นโรงไฟฟ้าพลังความร้อนร่วม (Combined-Cycle Gas Turbine) ที่ใช้ก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิง โดยมีบริษัท หินกองเพาเวอร์โฮลดิ้ง จำกัด เป็นผู้จัดหาและนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (LNG) สำหรับใช้เป็นเชื้อเพลิงในการผลิตไฟฟ้า โดยโครงการ HKP มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 1,540 เมกะวัตต์ (แบ่งเป็น 2 หน่วยผลิตหน่วยผลิตละ 770 เมกะวัตต์) ตั้งอยู่ที่ตำบลหินกอง อำเภอเมือง จังหวัดราชบุรี โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้ากับ กฟผ. เป็นระยะเวลา 25 ปี ซึ่งโครงการ HKP เป็นโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงและมีความจำเป็นต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าของประเทศโดยเฉพาะอย่างยิ่งในภาคกลาง ภาคตะวันตก และภาคใต้การเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์ของโครงการ HKP ดังกล่าว เป็นการต่อยอดการเติบโตของกำลังการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่องของกลุ่มบริษัทฯ
อีกทั้งสนับสนุนการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานของประเทศไปสู่สังคมคาร์บอนต่ำ เนื่องจากโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติจะปล่อยก๊าซเรือนกระจกน้อยกว่าเชื้อเพลิงฟอสซิลประเภทอื่น ในขณะที่คงเสถียรภาพในการผลิตไฟฟ้าให้อยู่ในระดับสูง จึงสามารถรองรับความต้องการใช้ไฟฟ้าในช่วงเวลาที่โรงไฟฟ้าพลังงานทดแทนไม่สามารถผลิตไฟได้อีกด้วย