“10 วันอันตราย” ปีใหม่ 68 ยอดเสียชีวิต 7 วัน 321 ราย ตายเป็นศูนย์เหลือ 6 จังหวัด
ศปถ. รายงานสถิติ 10 วันอันตราย ปีใหม่ 2568 ยอดสะสม 7 วัน เสียชีวิต 321 ราย บาดเจ็บ 1,894 คน “สุราษฎร์ธานี” ยังคงนำแชมป์อุบัติเหตุสะสม ส่วนพื้นที่ตายเป็นศูนย์ เหลือ 6 จังหวัด
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (3 ม.ค.68) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน “10 วันอันตราย” ซึ่งรัฐบาลกำหนด ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.67 จนถึงวันที่ 5 ม.ค.68
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 2 ม.ค.68 ซึ่งเป็นวันที่ 7 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ”
เกิดอุบัติเหตุ 196 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 200 คน ผู้เสียชีวิต 43 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 40.31% ตัดหน้ากระชั้นชิด 26.02% ดื่มแล้วขับและทัศนวิสัยไม่ดี 15.82%
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 86.07% รถกระบะ 4.98% รถยนต์ส่วนบุคคล 4.98%
ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 83.67% รองลงมา ถนนกรมทางหลวง 44.9% และถนนใน อบต./หมู่บ้าน 26.53%
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ตรัง 11 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ตรังและลำปาง จังหวัดละ 11 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 8 ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสม ในช่วง 7 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.67- 2 ม.ค.68 เกิดอุบัติเหตุรวม 1,938 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 1,894 คน ผู้เสียชีวิต รวม 321 ราย
จังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต (ตายเป็นศูนย์) ลดลงเหลือ 6 จังหวัด
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 72 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 82 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 20 ราย
นายเชษฐา โมสิกรัตน์ รองปลัดกระทรวงมหาดไทย กล่าวว่า วันนี้ประชาชนส่วนใหญ่เดินทางถึงกรุงเทพฯ และพื้นที่เศรษฐกิจใหญ่แล้ว ทำให้เส้นทางสายหลักมีสภาพการจราจรที่คล่องตัวมากขึ้น ส่งผลให้ผู้ขับขี่บางรายอาจใช้ความเร็วสูงในการขับรถ ซึ่งเป็นพฤติกรรมเสี่ยงที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุทางถนน ศปถ. จึงได้กำชับทุกจังหวัดดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างเข้มข้น โดยยังคงการตั้งด่านตรวจและจุดตรวจเพื่อป้องปรามไม่ให้ผู้ขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด และเพิ่มการตั้งจุดบริการประชาชนและจุดพักรถ เพื่อรองรับประชาชนที่ขับรถติดต่อกันเป็นเวลานาน
นอกจากนี้ ศปถ. ได้เน้นย้ำให้จังหวัดดำเนินการซ่อมแซม แก้ไข ติดตั้งไฟส่องสว่าง ป้าย หรือสัญญาณไฟแจ้งเตือน บริเวณถนนที่มีการก่อสร้าง ซ่อมแซม หรือชำรุด ทางร่วม ทางแยก และบริเวณจุดเสี่ยงซ้ำซาก พร้อมปรับปรุงเส้นจราจรให้มีความชัดเจน เพื่อช่วยให้การจราจรมีความเป็นระเบียบและเพิ่มความปลอดภัยให้กับผู้ใช้เส้นทาง