“นิวยอร์ก” เริ่มเก็บค่าผ่านทาง ครั้งแรกในสหรัฐฯ แก้รถติด-ระดมเงินปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน

“นิวยอร์ก” เริ่มเก็บค่าผ่านทาง เป็นครั้งแรกในสหรัฐฯ หวังแก้ปัญหาจราจรแออัด พร้อมระดมเงินปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน ยกระดับคุณภาพชีวิตประชาชน


สำนักข่าว FOX 5 รายงานว่า นครนิวยอร์ก เริ่มทดลองเก็บค่าผ่านทางในบางพื้นที่ ซึ่งเป็นครั้งแรกในประวัติศาสตร์ของสหรัฐอเมริกา โดยมีการเก็บค่าผ่านทางบนถนนและสะพานสำคัญ เพื่อลดปัญหาการจราจรหนาแน่นและสร้างรายได้ในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน  โดยจะใช้เทคโนโลยีอัตโนมัติในการเก็บค่าผ่านทางเพื่อลดความยุ่งยากและเพิ่มประสิทธิภาพในการเดินทาง

โดยมาตรการนี้ครอบคลุมพื้นที่ใจกลางแมนฮันตัน แต่ยกเว้นทางหลวงบางแห่ง เช่น FDR Drive และ West Side Highway โดยคนขับรถต้องจ่ายเงินค่าผ่านทาง 9 ดอลลาร์สหรัฐหรือประมาณ 310 บาทต่อครั้ง ซึ่งมีผลตั้งแต่เที่ยงคืนของวันที่ 4 ม.ค.68

รายได้จากค่าผ่านทางดังกล่าวจะถูกนำไปใช้ในการปรับปรุงระบบขนส่งของเมืองที่สำคัญ เช่น โครงสร้างพื้นฐานของรถไฟใต้ดิน รวมถึงการเพิ่มจำนวนรถประจำทาง และความถี่ของการบริการ บนเส้นทางหลัก 23 สาย รวมถึงสายด่วนไปเกาะสแตเทน และสายที่นิยมในบรูคลิน

ทั้งนี้เมื่อช่วงเดือน ต.ค.67 ที่ผ่านมา กระทรวงคมนาคมและกระทรวงการคลัง เตรียมร่วมกันศึกษาแนวทางการดำเนินนโยบายอัตราค่าโดยสารรถไฟฟ้า 20 บาทตลอดสาย โดยผุดแนวคิดการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด (Congestion Charge) ในกรุงเทพฯ เพื่อนำเงินเข้ากองทุน 2 แสนล้านบาท ที่จะนำไปใช้ซื้อรถไฟฟ้าคืนจากเอกชน และจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าทุกสายในราคา 20 บาทตลอดสาย

จากการศึกษาของสำนักงานนโยบายแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) พบว่าพื้นที่ที่การจราจรติดขัด และอยู่โดยรอบแนวรถไฟฟ้า จะเป็นเป้าหมายในการจัดเก็บค่าธรรมเนียมรถติด เช่น สุขุมวิท, สีลม, เอกมัย, ทองหล่อ และรัชดาภิเษก

สำหรับการจัดเก็บค่าธรรมเนียมเป็นรูปแบบที่ได้ดำเนินการในประเทศที่พัฒนาแล้วและประสบผลสำเร็จ เช่น อังกฤษ, สวีเดน, สิงคโปร์

Back to top button