ปิดศูนย์เฝ้าระวัง “10 วันอันตราย” ปีใหม่ 68 เสียชีวิต 436 ราย กรุงเทพฯ ครองแชมป์ดับสูงสุด
ศปถ. แถลงปิดศูนย์ ช่วงเทศกาลปีใหม่ 2568 พบ ตัวเลขเกิดอุบัติเหตุลดลงจากปีใหม่ที่แล้ว แต่จำนวนผู้เสียชีวิตมากขึ้น สรุป “10 วันอันตราย” เสียชีวิตสะสม 436 ราย บาดเจ็บ 2,376 คน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (6 ม.ค.68) ศูนย์อำนวยการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนน (ศปถ.) ช่วงเทศกาลปีใหม่ พ.ศ. 2568 โดยกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เปิดเผยข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน “10 วันอันตราย” ซึ่งรัฐบาลกำหนด ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.67 จนถึงวันที่ 5 ม.ค.68
สำหรับข้อมูลอุบัติเหตุทางถนน ประจำวันที่ 5 ม.ค.68 ซึ่งเป็นวันที่ 10 ของการรณรงค์ “ขับขี่ปลอดภัย เมืองไทยไร้อุบัติเหตุ” เกิดอุบัติเหตุ 139 ครั้ง ผู้บาดเจ็บ 128 คน ผู้เสียชีวิต 29 ราย
สาเหตุที่ทำให้เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ขับรถเร็ว 34.53% ตัดหน้ากระชั้นชิด 24.46% และทัศนวิสัยไม่ดี 20.86%
ยานพาหนะที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ รถจักรยานยนต์ 82.67% รถยนต์ส่วนบุคคล 4.00% รถกระบะ 3.33%
ส่วนใหญ่เกิดบนเส้นทางตรง 85.61% ถนนกรมทางหลวง 50.36% ถนนใน อบต./หมู่บ้าน 20.86%
โดยจังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี 8 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสูงสุด ได้แก่ ปัตตานี พังงา และพัทลุง จังหวัดละ 6 คน จังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสูงสุด ได้แก่ ปราจีนบุรี 3 ราย
สรุปอุบัติเหตุทางถนนสะสมในช่วง 10 วันของการรณรงค์ ตั้งแต่วันที่ 27 ธ.ค.67- 5 ม.ค.68 เกิดอุบัติเหตุรวม 2,467 ครั้ง ผู้บาดเจ็บรวม 2,376 คน ผู้เสียชีวิต รวม 436 ราย
จังหวัดที่เกิดอุบัติเหตุสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 89 ครั้ง จังหวัดที่มีผู้บาดเจ็บสะสมสูงสุด ได้แก่ สุราษฎร์ธานี 100 คนจังหวัดที่มีผู้เสียชีวิตสะสมสูงสุด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร 26 ราย
และจังหวัดที่ไม่มีผู้เสียชีวิต หรือ ตายเป็นศูนย์ 3 จังหวัด ได้แก่ ตราด, ยะลา และสมุทรสงคราม
นายทรงศักดิ์ ทองศรี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย เปิดเผยว่า สถิติการเกิดอุบัติเหตุทางถนนในช่วงควบคุมเข้มข้น 10 วัน ตั้งแต่วันที่ 27 ม.ค.67 – 5 ม.ค. 68 พบว่า ตัวเลขการเกิดอุบัติเหตุและจำนวนผู้ได้รับบาดเจ็บลดลง เมื่อเทียบกับเทศกาลปีใหม่ที่ผ่านมา อย่างไรก็ตามผู้เสียชีวิตยังมีจำนวนเพิ่มมากขึ้น ศปถ.จึงสั่งการหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งระดับส่วนกลางและพื้นที่ดำเนินการป้องกันและลดอุบัติเหตุทางถนนอย่างต่อเนื่องตลอดทั้งปี เพื่อให้สามารถลดความเสี่ยงการเกิดอุบัติเหตุ และลดอัตราผู้ได้รับบาดเจ็บและเสียชีวิตได้จริง
และเน้นย้ำให้จังหวัดบูรณาการทุกภาคส่วนทำงานอย่างเต็มกำลังและต่อเนื่อง ไม่เพียงแต่ในช่วงเทศกาลปีใหม่, สงกรานต์ และวันหยุดเท่านั้น ซึ่งต้องเน้นไปที่การบังคับใช้กฎหมายอย่างเข้มข้น โดยให้ความสำคัญกับกลุ่มเด็กและเยาวชน ผู้สูงอายุ และชาวต่างชาติทั้งที่เข้ามาท่องเที่ยวและเข้ามาทำงานในประเทศไทย เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงด้านพฤติกรรมของผู้ขับขี่ อาทิ การขับรถเร็วเกินกว่ากฎหมายกำหนด การดื่มแล้วขับ การไม่คาดเข็มขัดนิรภัย การไม่สวมหมวกนิรภัย การตัดหน้ากระชั้นชิด และการขับรถย้อนศร