ชงคลังลดภาษีปิโตรเลียม ตอบโจทย์ค่าไฟ 3.70 บาท : หุ้นไฟฟ้าหายแพนิก กระทบผู้ผลิตเอกชนไม่มาก

กระทรวงพลังงาน เล็งเสนอคลังลดภาษีปิโตรเลียมจากปัจจุบันเก็บ 50% ของกำไรสุทธิ ให้ผู้ผลิตก๊าซฯ ในอ่าวไทย หวังลดต้นทุน กดราคาขายก๊าซฯ ให้โรงไฟฟ้าเอกชน สนองนโยบายค่าไฟ 3.70 บาทต่อหน่วย ขณะที่ GULF-BGRIM-EGCO-GPSC หายตกใจขึ้นยกแผง


จากกรณี ดร.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี เสนอแนวทางการปรับลดค่าไฟฟ้า 0.45 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.15 บาทต่อหน่วย ให้เหลือเพียง 3.70 บาทต่อหน่วยนั้น หนึ่งในแนวทางที่คาดว่าจะนำมาใช้คือการขอปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติที่ส่งให้กับโรงไฟฟ้าเอกชน เพื่อลดต้นทุนการผลิต จะส่งผลให้ราคาไฟฟ้าปรับลดลงได้ในระดับหนึ่ง

แหล่งข่าวจากกระทรวงพลังงาน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า หนึ่งในแนวทางปรับลดค่าไฟให้ได้ 3.70 บาท นั่นคือการปรับลดราคาก๊าซธรรมชาติ โดยภาครัฐต้องปรับลดภาษีปิโตรเลียมลง เพื่อให้ต้นทุนราคาก๊าซฯ ที่ใช้ผลิตไฟฟ้าลดลง จากปัจจุบันกรมสรรพากร กระทรวงการคลัง มีการจัดเก็บอัตราภาษีระบบสัมปทานอยู่ที่ 50%, สัญญาปิโตรเลียมก่อนปี 2512 อยู่ที่ 34%, สัญญาแบ่งปันผลผลิตกับองค์กรร่วมไทย-มาเลเซีย อยู่ที่ 10-20% และระบบสัญญาแบ่งปันผลผลิตตามกฎหมายว่าด้วยปิโตรเลียม (PSC) อยู่ที่ 20% ของกำไรสุทธิ ทำให้ต้นทุนการผลิตสูง

ทั้งนี้ เนื่องจากการปรับลดค่าไฟอัตรา 3.70 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน (ม.ค.-เม.ย.68) อยู่ที่ 4.15 บาทต่อหน่วย จะต้องบริหารจัดการต้นทุนราคาก๊าซธรรมชาติ โดยการลดภาษีมองว่าจะเป็นแนวทางหนึ่งที่สามารถลดค่าไฟลงมาได้ ปัจจุบันแหล่งปิโตรเลียมของประเทศไทยใช้ทั้งระบบสัมปทานและระบบ PSC ดังนั้นหากรัฐต้องการให้ราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทยลดลง ต้องลดภาษีดังกล่าวลงด้วย

“คลัง” พร้อมลดภาษีอุ้มค่าไฟ

นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า การปรับลดค่าไฟฟ้า เรื่องนี้นายกรัฐมนตรีได้หารือกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน มาอย่างต่อเนื่อง ทั้งนี้กระทรวงการคลังอาจใช้เรื่องการลดหย่อนการจัดเก็บภาษีต่าง ๆ จะต้องมีการหารือกัน และกระทรวงการคลังพร้อมที่จะดำเนินการในสิ่งที่เป็นประโยชน์ต่อประชาชน แต่ก็ต้องดูเรื่องของผลกระทบในด้านการคลัง จะต้องพิจารณาอย่างรอบด้าน

“กระทรวงการคลังพร้อมจะสนับสนุนนโยบายดังกล่าว กระทรวงพลังงานต้องตัดสินใจว่าจะใช้กลไกใด ซึ่งตัวเลือกมีหลายรูปแบบ” นายจุลพันธ์ กล่าว

นางสาวแพทองธาร ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าวถึงแนวทางการปรับลดค่าไฟลงเหลือหน่วยละ 3.70 บาท ว่า การปรับลดค่าไฟคือสิ่งที่รัฐบาลเน้นย้ำอยู่แล้วว่าต้องการทำให้ค่าไฟฟ้าลดลง ไม่ว่าจะเป็นเพื่อค่าครองชีพพื้นฐานของประชาชนเอง หรือเพื่อให้แข่งขันในเวทีโลก เรื่องนี้เป็นสิ่งสำคัญ เพราะถือเป็นการลดต้นทุน

ทั้งนี้ หากรัฐบาลสามารถเจรจาเกี่ยวกับการลดต้นทุนได้ ทุกฝ่ายร่วมมือกันก็จะเกิดประโยชน์กับประเทศ เพราะฉะนั้นรัฐบาลมุ่งเน้นในเรื่องนี้อยู่แล้ว ราคา 3.70 บาท ถือเป็นเป้าหมายที่อยากทำให้ได้

ส่วนแนวทางทำให้ค่าไฟไปถึงราคาดังกล่าวนั้น จะมีวิธีอย่างไร เพราะส่วนต่างมากถึง 0.45 สตางค์ต่อหน่วย น.ส.แพทองธาร กล่าวว่า ความจริงต้องมีการตกลงกันและเจรจากับหลายฝ่าย และตัดส่วนที่ไม่จำเป็น และมีการซ้ำซ้อนกันอยู่ออก ต้องหารือกันในทุกภาคส่วนเพื่อตกลงร่วมกันให้สามารถลดค่าไฟได้ ดังนั้นอาจต้องใช้เวลา แต่เป็นเป้าหมายของรัฐบาล ประชาชนไม่ต้องเป็นห่วงในเรื่องนี้ เพราะอยู่ในลำดับแรก ๆ ที่รัฐบาลจะดำเนินการอยู่แล้ว

หุ้นไฟฟ้าเอกชนกระทบน้อย

บริษัทหลักทรัพย์ ยูโอบี เคย์เฮียน (ประเทศไทย) แนะกลับเข้าสะสมหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า ส่วนแนวทางที่รัฐบาลจะลดค่าไฟฟ้า 0.45 บาท ที่มีโอกาสเป็นไปได้ อาทิ 1.ไม่ต่อสัญญาซื้อขายไฟ Adder ที่จะหมดอายุของผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน 2.ขยายเวลาการจ่ายคืนค่า Ft กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย 3.ขยายเวลาชำระเงินค่าก๊าซให้กฟผ. และบริษัท ปตท. จำกัด (มหาชน) หรือ PTT และ 4.ขอให้ผู้ผลิตไฟฟ้าทั้ง IPP และ SPP ลดกำไรลง หรือมีการแก้สัญญาซื้อขายไฟฟ้า

ทั้งนี้ ยังยืนยันมุมมองเดิมว่าเป็นไปได้ยาก และนโยบายดังกล่าวยังไม่มีความชัดเจนจากภาครัฐ ซึ่งเชื่อว่าการปรับลดค่าไฟฟ้าจะมีโอกาสเป็นการช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางมากกว่า และต้องสอดคล้องกับราคาก๊าซธรรมชาติ (มองว่ากรณีปรับลดค่าไฟฟ้าลงโดยค่าก๊าซฯ ยังคงเดิมเป็นไปได้ยากมาก) ขณะที่ผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชนส่วนใหญ่อยู่ในตลาดหลักทรัพย์ฯ จึงไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะมีการเจรจาปรับเปลี่ยนสัญญา

โดยมองเป็นโอกาสในการเก็บสะสมหุ้นกลุ่มนี้จากราคาหุ้นที่ปรับตัวลดลงแรง โดยมอง BCPG ได้รับผลกระทบจากกรณีนี้น้อยที่สุด เนื่องจากไม่มีโรงไฟฟ้า SPP ในมือเลย ขณะที่กำไรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น 20% เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ในปีนี้ รองลงมาเป็นกลุ่ม IPP คือ บริษัท ราช กรุ๊ป จำกัด (มหาชน) หรือ RATCH, บริษัท ผลิตไฟฟ้า จำกัด (มหาชน) หรือ EGCO

ส่วนบริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) หรือ GULF แม้ว่าจะได้รับผลกระทบบ้างแต่มองว่าน้อยมาก เนื่องจากสัดส่วนโรงไฟฟ้า IPP มากกว่า 75% ในขณะที่ปีนี้เริ่มมีการรับรู้กำไรจากบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC เข้ามามากขึ้น

ด้านนักวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า หากพิจารณาโครงสร้างค่าไฟฟ้าปัจจุบันที่มีการเรียกเก็บราว 4.15 บาทต่อหน่วย จะพบว่ามีต้นทุนที่เกี่ยวข้องกับค่าใช้จ่าย ADDER อยู่ราว 0.15 บาท/หน่วย ดังนั้นกรณีไม่ต่อซื้อขายไฟ ADDER ปี 2568 ที่จะหมดอายุ ฝ่ายวิจัยมองว่าจะสามารถลดค่าไฟลงได้สูงสุด 0.15 บาท/หน่วย แต่อย่างไรก็ตามเชื่อว่าสัญญา ADDER จะไม่ได้หมดอายุพร้อมกันทุกโครงการปี 2568 จึงคาดต้นทุนค่าไฟฟ้าจากส่วนนี้จะค่อย ๆ ทยอยปรับตัวลดลงตามลำดับ

นอกจากนี้ ส่วนของค่าภาระหนี้คงค้างกฟผ. ปัจจุบันมีการเรียกเก็บที่สัดส่วนราว 0.20 บาทต่อหน่วย และไม่มีการเรียกเก็บต้นทุนก๊าซฯ คงค้างคืนให้ ดังนั้นแม้จะไม่มีการเก็บเงินชดเชยคืนหนี้ดังกล่าว คาดจะทำให้ค่าไฟลดลงจากงวดปัจจุบันที่ 4.15 บาท มาอยู่เพียง 3.95 บาทต่อหน่วย ซึ่งก็ยังไม่ถึงระดับ 3.70 บาทต่อหน่วย

ดังนั้น การหาแนวทางปรับโครงสร้างค่าไฟอาจต้องรอพิจารณาอีกครั้งว่ารัฐบาลจะพิจารณาปรับจากส่วนไหน เบื้องต้นกรณีที่เลวร้ายสุด โดยหากลดค่าไฟฟ้าลง 0.45 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4.15 บาทต่อหน่วย มาอยู่ที่ 3.70 บาท/หน่วย โดยกำหนดให้สมมติฐานให้ค่าไฟฟ้าฐานและต้นทุนก๊าซฯธรรมชาติคงที่ คาดจะส่งผลกระทบต่อกลุ่มผู้ประกอบการโรงไฟฟ้า SPP อาทิ บริษัท บี.กริม เพาเวอร์ จำกัด (มหาชน) หรือ BGRIM, บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC และ GULF ให้กำไรลดลงประมาณ 1.8 พันล้านบาท, 630 ล้านบาท และ 600 ล้านบาท หรือคิดเป็นสัดส่วนกำไรปกติทั้งปี 2568 ที่ 30%, 27% และ 3% ตามลำดับ แต่อย่างไรก็ตามในความเป็นจริงคงต้องพิจารณาสถานการณ์ในหลายองค์ประกอบ ณ ช่วงเวลานั้น ๆ เช่น ราคาก๊าซฯ หรือแนวทางการบริหารต้นทุนในแต่ละบริษัท เป็นต้น

นอกจากนี้ หากภาครัฐหาแนวทางลดค่าไฟด้วยการปรับลดราคาก๊าซฯ ลงได้ ส่วนที่เป็นการลดลงของราคาก๊าซฯ ไม่น่าจะกระทบต่อมาร์จิ้นของผู้ประการโรงไฟฟ้า SPP อย่างมีนัยฯ หรือหากเป็นกรณีช่วยเหลือเฉพาะกลุ่มเปราะบางที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วย เหมือนที่เคยมีนโยบายในช่วงก่อนหน้า คาดผู้ประกอบการ SPP จะไม่ได้รับผลกระทบเช่นกัน

ทั้งนี้ หากเป็นกรณีเป็นการปรับปรุงตัวแปรอื่น ๆ โครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานอาจต้องมาพิจารณาในรายละเอียดอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งฝ่ายที่มีโอกาสได้รับผลกระทบคาดจะเป็นไปได้ทั้งฝั่งภาครัฐ, กฟผ. และภาคเอกชน ดังนั้นจึงถือเป็นประเด็นที่ยังต้องติดตาม ช่วงสั้นถือเป็น SENTIMENT เชิงลบกดดันต่อหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้า จากความไม่ชัดเจนของแนวทางภาครัฐในปัจจุบัน

GULF-BGRIM รีบาวด์

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ประเด็นความกังวลผลกระทบจากแนวคิดปรับลดค่าไฟที่กระทบหุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าได้คลี่คลายลง เนื่องจากมีกระแสข่าวออกมาว่า รัฐมีแนวทางให้เอกชนร่วมรับภาระค่าไฟฟ้าเพียง 0.05 บาทต่อหน่วยเท่านั้น ไม่มากเท่าที่ตลาดกังวล ส่งผลให้หุ้นกลุ่มโรงไฟฟ้าเริ่มฟื้นตัว

โดยวานนี้ (7 ม.ค.68) ราคาหุ้น GULF ปรับเพิ่มขึ้น 2.22% มาปิดที่ 57.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 1,880 ล้านบาท, หุ้น GPSC ปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.19% ปิดที่ 35 บาท มูลค่าซื้อขาย 434 ล้านบาท, BGRIM ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 2.86% ปิดที่ 18 บาท มูลค่าซื้อขาย 280 ล้านบาท, หุ้น RATCH ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.74% ปิดที่ 29.25 บาท มูลค่าซื้อขาย 57.38 ล้านบาท และ EGCO ปรับตัวเพิ่มขึ้น 1.33% ปิดที่ 114.50 บาท มูลค่าซื้อขาย 48.68 ล้านบาท รวมทั้งหุ้น BCPG ปรับตัวเพิ่มขึ้น 12.17% ปิดที่ 6.45 บาท มูลค่าซื้อขาย 200 ล้านบาท

Back to top button