PTTEP เร่งเพิ่มกำลังผลิต ปักหมุดยาดานา-อันดามัน

“ปตท.สผ.” กางแผนเพิ่มกำลังการผลิตก๊าซธรรมชาติ ลดผลกระทบนำเข้า LNG ลั่นเดินหน้าเจาะสำรวจแหล่งยาดานาในเมียนมาเพิ่มอีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน จากปัจจุบัน 400 ล้านลูกบาศก์ฟุต พร้อมเพิ่มกำลังผลิตแหล่งอาทิตย์เป็น 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน เปิดแหล่งสำรวจก๊าซฯ ใหม่ในทะเล “อันดามัน” หากชนะประมูลสัมปทานปลายปีนี้ “ซีอีโอ” มั่นใจยอดขายปิโตรเลียมปีนี้ทะลุ 5.07 แสนบาร์เรล


นายมนตรี ลาวัลย์ชัยกุล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ปตท. สำรวจและผลิตปิโตรเลียม จำกัด (มหาชน) หรือ PTTEP เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า ปัจจุบันปริมาณการผลิตปิโตรเลียมในอ่าวไทยของปตท.สผ. ยังดำเนินการตามแผน โดยแปลง G1/61 (เอราวัณ) เป็นไปตามสัญญาอยู่ที่ 800 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แปลง G2/61 (บงกช) ตามสัญญาที่ 700 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะที่แหล่งอาทิตย์สามารถผลิตได้มากกว่าสัญญาที่ 280 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน มาอยู่ที่ระดับ 390 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน ขณะเดียวกัน ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการเจรจาสัญญาซื้อขายในแหล่งอาทิตย์เพิ่มขึ้นเป็น 340 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน

ทั้งนี้ ปตท.สผ. อยู่ระหว่างการเร่งขุดเจาะหลุมเพิ่มเติมในแปลงยาดานาประเทศเมียนมา หลังจากเชฟรอนถอนตัวออกไปเมื่อปี 2567 ที่ผ่านมา ทำให้ปตท.สผ. เป็นผู้ดำเนินการแหล่งก๊าซยาดานา ด้วยสัดส่วนการถือหุ้น 62.96% ปัจจุบันแหล่งยาดานาส่งก๊าซฯ เข้าไทยประมาณ 400 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน คาดว่าจะสามารถเพิ่มได้อีก 200 ล้านลูกบาศก์ฟุตต่อวัน แต่คงต้องใช้ระยะเวลาประมาณ 2-3 ปี

รวมทั้งแหล่งซอติก้า ที่ส่งก๊าซฯ เข้ามาป้อนประเทศไทย ดังนั้นก๊าซน จากเมียนมาคิดเป็นสัดส่วนประมาณ 17% แม้ขณะนี้สัดส่วนจะลดลงเหลือ 14% แต่เชื่อว่าภายหลังจากเร่งผลิตก๊าซฯ ในแหล่งยาดานาเพิ่มขึ้น จะทำให้สัดส่วนกลับมาเท่าเดิม และจะเข้ามาถัวเฉลี่ยราคาก๊าซฯ ในอ่าวไทย ลดการนำเข้าก๊าซ LNG ที่มีราคาสูง โดยจะเห็นว่าราคา LNG ในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมามีแนวโน้มปรับตัวสูงขึ้นอย่างมาก หลังจากยูเครนยุติการส่งก๊าซธรรมชาติจากรัสเซียไปยังยุโรป

ขณะที่ โครงการพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย (MTJDA) ซึ่งบริษัท PETRONAS Carigali (JDA) Limited (PC JDA) เป็นบริษัทย่อยของ PETRONAS Carigali Sdn Bhd. ได้ขอต่ออายุสัญญากับรัฐบาลทั้งประเทศ โดยขยายอายุสัญญาต่อไปอีก 10 ปี จากเดิมจะหมดอายุในปี 2572 เป็นปี 2582

โดยโครงการ MTJDA เป็นโครงการก๊าซธรรมชาติและน้ำมันดิบ ตั้งอยู่ในอ่าวไทยตอนล่างบริเวณพื้นที่พัฒนาร่วมไทย-มาเลเซีย ประกอบด้วย แปลง B-17 และ C-19, B-17-01 และ B-17-02 ครอบคลุมพื้นที่ประมาณ 2,868 ตารางกิโลเมตร ดำเนินการภายใต้บริษัท Carigali-PTTEPI Operating Company Sdn Bhd (CPOC) โดยมีผู้ร่วมทุนประกอบด้วย บริษัท ปตท.สผ. อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (ปตท.สผ.อ.) ซึ่งเป็นบริษัทย่อยของปตท.สผ. สัดส่วน 50% และ PC JDA สัดส่วน 50%

เปิดหลุมใหม่ ‘อันดามัน’

นอกจากนี้ ปตท.สผ. ยังสนับสนุนการเปิดสำรวจและผลิติโตรเลียมในพื้นที่ฝั่งทะเลอันดามัน หลังจากก่อนหน้านี้ได้รับการอนุมัติจากคณะกรรมการปิโตรเลียมเรียบร้อยแล้ว เมื่อปลายปี 2567 ที่ผ่านมา ซึ่งปตท.สผ.มีความสนใจและมองศักยภาพแหล่งอันดามัน แม้ยังไม่ได้สำรวจมาก่อนเพราะน้ำลึก 1,600 เมตรเบื้องต้นคาดว่าจะเป็นแหล่งก๊าซฯ ขนาดใหญ่ โดยคาดว่าทางกรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ จะประกาศภายหลังจากเปิดสัมปทานรอบ 25 เรียบร้อยแล้ว จากนั้นจะเปิดให้สำรวจและผลิตพื้นที่อันดามันช่วงปลายปีนี้  จะต้องใช้เวลาสำรวจและผลิต 5-6 ปี เร็วขึ้นจากเดิมที่จ้องใช้เวลาถึง 9 ปี

สำหรับแผนการดำเนินงานของปตท.สผ. ปี 2568 ยังโฟกัสการขยายการลงทุนธุรกิจพลังงานเป็นหลัก โดยเฉพาะแหล่งปิโตรเลียมในอ่าวไทย เมียนมา JDA และตะวันออกกลาง ได้แก่ เพิ่มปริมาณการผลิตปิโตรเลียมจากโครงการปัจจุบัน โครงการผลิตหลักที่สำคัญเพื่อสนับสนุนความมั่นคงทางพลังงานของประเทศไทย ได้แก่ โครงการจี 1/61 โครงการจี 2/61 โครงการอาทิตย์ โครงการเอส 1 โครงการคอนแทร็ค 4 โครงการพื้นที่พัฒนาร่วม ไทย-มาเลเซีย และโครงการซอติก้าและโครงการยาดานาในเมียนมา ที่มีการนำก๊าซธรรมชาติที่ผลิตได้เข้ามาใช้ในประเทศไทย อีกทั้งโครงการผลิตหลักในต่างประเทศ เช่น โครงการในมาเลเซีย และโอมาน เป็นต้น

สำหรับปี 2568 ปตท.สผ. คาดปริมาณขายปิโตรเลียมเฉลี่ย 5.07 แสนบาร์เรลเทียบเท่าน้ำมันดิบต่อวัน พร้อมจัดสรรงบประมาณ 5 ปี (ปี 2568-2572) รวมไว้ที่ 33,587 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท นอกจากนี้ปตท.สผ.ให้ความสำคัญในการขับเคลื่อนการดำเนินธุรกิจอย่างยั่งยืน โดยเริ่มดำเนินการขยายไปสู่ธุรกิจใหม่เพื่อรองรับการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงาน จึงได้สำรองงบประมาณ 5 ปี (ปี 2568-2572) เพิ่มเติมอีก 1,747 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือกว่า 6 หมื่นล้านบาท เพื่อรองรับการขยายการลงทุนในธุรกิจพลังงานลมนอกชายฝั่ง ธุรกิจดักจับและกักเก็บคาร์บอน (CCS as a Service) ธุรกิจเชื้อเพลิงไฮโดรเจน และการลงทุนในธุรกิจและเทคโนโลยีผ่านบริษัทย่อยที่จัดตั้งขึ้นเพื่อดำเนินงานในรูปแบบ Corporate Venture Capital (CVC) ควบคู่กับการเตรียมความพร้อมขององค์กรช่วงการเปลี่ยนผ่านด้านพลังงานเพื่อมุ่งสู่การเป็นองค์กรคาร์บอนต่ำในอนาคต พร้อมกับการดูแลสังคมและชุมชนโดยรอบพื้นที่ปฏิบัติการของบริษัท เพื่อสร้างมูลค่าที่ยั่งยืนให้แก่ผู้มีส่วนได้เสียทุกฝ่ายต่อไป

ทั้งนี้ ปตท.สผ. ยังมีแผนงานสำหรับกิจกรรมลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก เพื่อมุ่งสู่เป้าหมายการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ภายในปี 2593 โดยครอบคลุม Scope 1 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางตรงและ Scope 2 การปล่อยก๊าซเรือนกระจกทางอ้อมจากการใช้พลังงานในธุรกิจสำรวจและผลิตปิโตรเลียมที่ปตท.สผ.เป็นผู้ดำเนินการ (Operational Control) พร้อมทั้งกำหนดเป้าหมายระหว่างทาง (Interim Target) ในการลดปริมาณความเข้มของการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse Gas Emission Intensity) จากปีฐาน 2563 ให้ได้ไม่น้อยกว่า 30% และ 50% ภายในปี 2573 และ 2583 ตามลำดับ

Back to top button