“รมว. ทส.” เปิดตัวโครงการพัฒนาต้นแบบ “ชุมชนคาร์บอนต่ำ” เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน
“รมว. ทส.” เปิดตัวโครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำ เพิ่มโอกาสเข้าถึงแหล่งทุน 17.8 ล้านบาท เสริมพลังเครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ 4 ภูมิภาค ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (8 ม.ค. 68) กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม เปิดตัว “โครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำด้านการจัดการขยะชุมชนและการเกษตร เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่” เสริมพลังเครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ต้นแบบ4 ภูมิภาค ขับเคลื่อนประเทศสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำ ซึ่งได้รับเกียรติจาก ดร. เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เป็นประธานในพิธีเปิดตัวโครงการ พร้อมด้วย นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผู้บริหารกระทรวงฯ ร่วมเป็นเกียรติ และ ดร.พิรุณ สัยยะสิทธิ์พานิช อธิบดีกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กล่าวรายงาน โดยมีเครือข่าย ทสม. 19 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร เจ้าหน้าที่ ทสจ. 19 จังหวัด เจ้าหน้าที่ประสานความร่วมมือและพัฒนาเครือข่าย และผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เข้าร่วมกว่า 200 คน ณ ห้องประชุมอารีย์สัมพันธ์ ชั้น 3 อาคารกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม
ดร.เฉลิมชัย ศรีอ่อน รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า ปัจจุบันโลกกำลังเผชิญกับปัญหาด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทวีความรุนแรงขึ้น ทั้งสถานการณ์สภาพอากาศสุดขั้วภัยพิบัติทางธรรมชาติที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งในปี 2567 เกิดภัยธรรมชาติที่รุนแรงอย่างเห็นได้ชัด เช่น ฝนตกหนัก น้ำท่วม และพายุที่รุนแรงในหลายภูมิภาคทั่วโลก ส่งผลกระทบในทุกมิติ จึงเป็นปัญหาที่ต้องเร่งป้องกัน แก้ไข และลดผลกระทบ โดยในการประชุม COP29 ที่ผ่านมา ได้มีข้อตัดสินใจสำคัญ คือ 1) การจัดทำเป้าหมายทางการเงินครั้งใหม่ ซึ่งประเทศพัฒนาแล้วจะต้องสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาอย่างน้อย 3 แสนล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ต่อปี ภายในปี ค.ศ. 2035 2) การจัดทำเป้าหมายการลดก๊าซเรือนกระจก ในปี ค.ศ. 2035 หรือ NDC 3.0 ต้องสอดคล้องกับเป้าหมาย 1.5 องศาเซลเซียส ของความตกลงปารีส 3) การเริ่มดำเนินการของกองทุนการสูญเสียและความเสียหายภายในปี ค.ศ. 2025 เพื่อช่วยประเทศที่เปราะบางรวมถึงประเทศไทย สามารถรับมือกับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และ 4) ความชัดเจนของตัวชี้วัดด้านการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศระดับโลกที่เชื่อมโยงในระดับประเทศ
ดร.เฉลิมชัย กล่าวเพิ่มเติมว่า ประเทศไทยได้ดำเนินการขับเคลื่อนการดำเนินงานด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศอย่างเต็มที่ โดยรัฐบาลได้ผลักดันกฎหมาย นโยบาย และมาตรการต่างๆ เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานของทุกภาคส่วน ซึ่งกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้เร่งการจัดทำร่าง พ.ร.บ. การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ เพื่อเป็นเครื่องมือสำคัญในการขับเคลื่อนการทำงานภายใต้ความร่วมมือจากทุกภาคส่วนสู่การบรรลุเป้าหมายประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนภาคประชาชน เป็นภาคส่วนสำคัญให้มีส่วนร่วมกับการแก้ไขปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ รวมถึงเปิดโอกาสในการเข้าถึงแหล่งทุนทั้งภายในประเทศและระหว่างประเทศ เพื่อเสริมศักยภาพและขีดความสามารถในการตั้งรับปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของทุกภาคส่วน ซึ่งเครือข่าย ทสม. เป็นเครือข่ายอาสาสมัครภาคประชาชนที่มีความเข้มแข็งในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อม ที่มีอยู่ 290,000 คน ทั่วประเทศ และเป็นต้นแบบเครือข่ายด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศในระดับพื้นที่
ดังนั้น การได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนสิ่งแวดล้อมจำนวน 17.8 ล้านบาท ในโครงการนี้ จะเป็นส่วนเสริมพลังในการขับเคลื่อนกิจกรรมด้านการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ในพื้นที่ต้นแบบ 20 พื้นที่ 4 ภูมิภาค เพื่อขยายผลสู่พื้นที่อื่นๆ และพร้อมยกระดับการทำงานร่วมกับภาคส่วนต่างๆ ในอนาคต เพื่อร่วมขับเคลื่อนประเทศ มุ่งสู่เศรษฐกิจและสังคมคาร์บอนต่ำและยั่งยืน
“หลังจากสิ้นสุดโครงการนี้ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำโดยเครือข่าย ทสม. 20 พื้นที่ จะเป็นผู้สื่อสารและส่งเสริมให้เกิดรูปแบบการดำเนินกิจกรรมการลดก๊าซเรือนกระจกของชุมชนและประชาชน ภายใต้การสนับสนุนจากสำนักงานทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจังหวัด และสำนักงานสิ่งแวดล้อมและควบคุมมลพิษในพื้นที่อย่างใกล้ชิด นำไปสู่การขยายผลในพื้นที่อื่นๆ ทั่วประเทศ ซึ่งจะเป็นปัจจัยสนับสนุนการดำเนินงานให้บรรลุเป้าหมายการลดปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจกของประเทศไทยได้” ดร.เฉลิมชัย กล่าว
ทั้งนี้ กลุ่มเป้าหมายของโครงการพัฒนาต้นแบบชุมชนคาร์บอนต่ำด้านการจัดการขยะชุมชนและการเกษตร เพื่อสนับสนุนการลดก๊าซเรือนกระจกในระดับพื้นที่ เป็นพื้นที่ เครือข่าย ทสม. ระดับตำบล ที่มีศักยภาพและมีการดำเนินกิจกรรมการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกด้านการจัดการขยะชุมชน 16 พื้นที่ และด้านการเกษตร 4 พื้นที่ รวม 20 พื้นที่ ใน 19 จังหวัด และกรุงเทพมหานคร ครอบคลุม 4 ภูมิภาค