บอร์ดฯ ประกันสังคม ย้ำไม่ถึงเวลาขาย “หุ้นไทย” หลังปรับแผนลงทุน “สินทรัพย์เสี่ยง” มากขึ้น
“ษัษฐรัมย์” แจง “กองทุนประกันสังคม” มีการกำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ ภายใต้แผน SAA 5 ปี ที่อนุมัติจากบอร์ดไตรภาคี หลังข่าวสะพัด รมว.แรงงาน “พิพัฒน์” สั่งห้ามลงทุนหุ้นรายตัว
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า จากกรณีที่นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน เปิดเผยว่า ได้ให้แนวทางกับสำนักงานประกันสังคม พิจารณาการลงทุนของกองทุนประกันสังคม โดยห้ามการซื้อหุ้นรายตัว ให้ไปเน้นลงทุนในกองทุนรวมและกระจายความเสี่ยงไปยังอสังหาริมทรัพย์ รวมทั้งที่ดินในบางจังหวัดนั้น
รศ.ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี กรรมการบอร์ดประกันสังคม สัดส่วนผู้ประกันตน (ลูกจ้าง) เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” อธิบายถึงกระบวนการทำงานของประกันสังคมว่า ถึงแม้ว่าประกันสังคมจะอยู่ภายใต้ “กระทรวงแรงงาน” แต่การบริหารงานสำนักงานประกันสังคม เป็นการบริหารผ่านคณะกรรมการ (บอร์ด) ที่เป็น “ไตรภาคี” ประกอบด้วย รัฐ, นายจ้าง และผู้ประกันตนซึ่งมาจากการเลือกตั้ง
สำหรับเรื่องการลงทุนนั้นจะเป็นการบริหารผ่านบอร์ดฯ ชุดใหญ่และผ่านไปที่คณะอนุกรรมการด้านการลงทุนคณะต่างๆ โดยบอร์ดฯ จะไม่สามารถกำหนดการลงทุนในสินทรัพย์เฉพาะรายการได้ แต่จะมีอำนาจเพียงแค่การกำหนดทิศทางการลงทุนและการตั้งกรอบที่สอดคล้องกับผลการดำเนินงานทางการเงิน (Financial performance) และการบริหารความเสี่ยง ซึ่งถือเป็นแนวทางสำคัญในการดำเนินงาน ภายใต้หลักธรรมาภิบาล (Good Governance)
โดยมติของบอร์ดไตรภาคีครั้งล่าสุดเมื่อกันยายน 2567 ได้กำหนดยุทธศาสตร์การลงทุนใหม่ ภายใต้แผน SAA (Strategic Asset Allocation) โดยมีการปรับเปลี่ยนการลงทุนในสินทรัพย์ที่มีความเสี่ยงสูงขึ้น เพิ่มสัดส่วนการลงทุนจาก 30% ขยับขึ้นเป็น 40% เพื่อเพิ่มโอกาสในการได้รับผลตอบแทนที่สูงขึ้น ซึ่งการเปลี่ยนแปลงนี้ยังรวมถึงการลงทุนในสินทรัพย์ต่างประเทศมากขึ้น และขยายการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด (Alternative Assets) มีเป้าหมายเพื่อเพิ่มผลตอบแทนจากการลงทุนในระยะยาว คาดหวังว่าผลตอบแทนในเฟสแรก ที่ 5.3% ซึ่งสูงกว่าผลตอบแทนที่เคยทำได้ก่อนหน้านี้ที่อยู่ระหว่าง 2.9-3.1%
กรรมการบอร์ดประกันสังคมฯ เน้นว่า อำนาจของบอร์ดฯ มีความสำคัญในการกำหนดภาพใหญ่ของการลงทุน ซึ่งจะพยายามลดการใช้ดุลยพินิจส่วนบุคคลและมุ่งเน้นการใช้หลักเกณฑ์ที่ชัดเจนและเป็นไปตามแนวทาง Good Governance การลงทุนจะไม่เน้นการตัดสินใจแบบสัญชาตญาณ แต่จะอาศัยแผนการลงทุนที่เรียกว่า SAA ซึ่งเป็นการจัดสรรสินทรัพย์ตามเป้าหมายระยะยาว
ในส่วนของการลงทุนที่เกี่ยวข้องกับเงินของผู้ประกันตน รศ.ษัษฐรัมย์ ระบุว่า หากไม่ใช่การลงทุนเชิงยุทธศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับการฝากเงินในธนาคารเพื่อให้เป็นสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้แก่ผู้ประกันตน ซึ่งส่วนนี้มีจำนวน 7 หมื่นล้านบาท จาก 2 ล้านล้านบาท จะไม่มีการกำหนดการลงทุนอย่างเฉพาะเจาะจง แต่จะเน้นการลงทุนตามแผน SAA ที่ออกแบบมาเพื่อกระจายความเสี่ยงและเพิ่มผลตอบแทนให้กับกองทุนโดยรวม
รศ.ษัษฐรัมย์ ยังขยายความเกี่ยวกับแนวคิดของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน สอดคล้องกับแนวทางการบริหารกองทุนบำนาญในระดับสากล โดยเฉพาะในเรื่องของการลงทุนในสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งสำนักงานประกันสังคมกำลังพิจารณาการเพิ่มช่องทางการลงทุนเหล่านี้ แต่ยังไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่ชัดเจนและพยายามหลีกเลี่ยงอคติในกระบวนการตัดสินใจ
“ผมคิดว่าข่าวที่ออกไป น่าจะเป็นสิ่งที่เป็นไอเดียของท่านรัฐมนตรี ซึ่งผมก็ต้องเรียนว่าก็มีส่วนที่สอดคล้องกับ SAA และสอดคล้องกับแนวทางการบริหารกองทุนบำนาญทั่วโลก นั่นคือกองทุนบำนาญโดยทั่วไปทั่วโลกก็จะไม่มีการเทรดหุ้นรายตัว แต่ก็อาจจะมีหลายอย่างที่เป็นไอเดียของท่านรัฐมนตรีเอง เรื่องของการลงทุนในกองสินทรัพย์นอกตลาด ซึ่งก็เป็นตัว Asset อันใหญ่ ซึ่งสำนักงานประกันสังคมเองเราเพิ่มช่องทางการลงทุนไว้ แต่ยังไม่ได้กำหนดกฎเกณฑ์ที่เจาะจงและพยายามที่จะไม่ให้มีอคติแบบนั้น…ก็มีส่วนที่ท่านอาจจะฝากผ่านข้าราชการซึ่งก็อยู่ในบอร์ดไตรภาคีมา…แต่ว่าสุดท้ายแล้วการพิจารณาอะไรต่าง ๆ ก็เป็นเรื่องของบอร์ดในระดับไตรภาคี” รศ.ษัษฐรัมย์ กล่าว
ทั้งนี้ การปรับแผนการลงทุนล่าสุดที่ผ่านมติของบอร์ดฯ เมื่อเดือนกันยายนที่ผ่านมา เป็นแผนการลงทุนระยะ 5 ปีที่สอดคล้องกับมาตรฐานสากล และจะมีการรีวิวแผนนี้อีกครั้งในเดือนมีนาคม 2568 เพื่อประเมินว่าการปรับแผนและการขยับ Asset Allocation นั้นมีผลตามเป้าหมายหรือไม่
สถานการณ์บริหารเงินลงทุนของ “กองทุนประกันสังคม”
ขณะที่การตรวจสอบข้อมูลล่าสุดของทีมข่าว “ข่าวหุ้นธุรกิจ” เกี่ยวกับสินทรัพย์ที่สำนักงานประกันสังคมลงทุนในตลาดหลักทรัพย์ฯ ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2567 (วันที่ 30 ก.ย.67) พบว่า ภาพรวมเงินลงทุน 2,586,369 ล้านบาท โดยกองทุนฯ ลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,828,279 ล้านบาท คิดเป็น 70.69% และลงทุนในหลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง 758,090 ล้านบาท คิดเป็น 29.31 ซึ่งเป็นการกระจายการลงทุนในประเทศ 1,805,939 ล้านบาท คิดเป็น 69.83% และต่างประเทศ 780,430 ล้านบาท คิดเป็น 30.17%
หลักทรัพย์ที่มีความมั่นคงสูง จำนวน 1,828,279 ล้านบาท ประกอบด้วย พันธบัตรรัฐบาล ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) รัฐวิสาหกิจ ที่กระทรวงการคลังค้ำประกัน 1,358,411 ล้านบาท คิดเป็น 52.52%, หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ได้อันดับความน่าเชื่อถือ 320,157 ล้านบาท คิดเป็น 12.38%, หุ้นกู้เอกชน (securitized debt) ที่ได้รับอันดับความน่าเชื่อถือ 78,545 ล้านบาท คิดเป็น 3.04% และเงินฝาก 71,166 ล้านบาท คิดเป็น 2.75%
หลักทรัพย์ที่มีความเสี่ยง จำนวน 758,090 ล้านบาท ประกอบด้วย หน่วยลงทุนตราสารทุนต่างประเทศ 335,083 คิดเป็น 12.96%, ตราสารทุนไทย 267,567 ล้านบาท คิดเป็น 10.34%, หน่วยลงทุนอสังหาฯ โครงสร้างพื้นฐาน ทองคำ 112,725 ล้านบาท คิดเป็น 4.36%, หน่วยลงทุนตราสารหนี้ต่างประเทศที่ไม่ได้รับการจัดอันดับความน่าเชื่อถือ 40,819 ล้านบาท คิดเป็น 1.58% และ พันธบัตรรัฐวิสาหกิจที่กระทรวงการคลังไม่ค้ำประกัน 1,896 ล้านบาท คิดเป็น 0.07%
ซึ่งในปี 2567 (ณ วันที่ 30 ก.ย.67) กองทุนประกันสังคม มีผลประโยชน์จากการลงทุนที่รับรู้แล้วทั้งสิ้น จำนวน 48,719 ล้านบาท ประกอบด้วย ดอกเบี้ยรับและกำไรจากการขายตราสารหนี้ จำนวน 31,650 ล้านบาท และเงินปันผลรับและกำไรจากการขายตราสารทุน จำนวน 17,069 ล้านบาท
ทั้งนี้ตั้งแต่ปี 2534 จนถึงปัจจุบัน (ข้อมูล ณ วันที่ 30 ก.ย.67) เงินลงทุนรวมของกองทุนประกันสังคม มูลค่ารวม 2,586,369 ล้านบาท ประกอบด้วยเงินจาก 2 ส่วนหลัก คือ เงินสมทบสะสมจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล รวมจำนวน 1,596,149 ล้านบาท คิดเป็น 61.71% และเงินผลประโยชน์สะสมที่ได้รับจากการลงทุน จำนวน 990,220 ล้านบาท คิดเป็น 38.29%