คัด 4 หุ้นรับผลผลิต “น้ำตาลไทย” ปี 68 ขยายตัว 20.50% ชู KSL เด่นสุดเป้า 2.84 บ.

ส่อง KSL-KTIS-KBS-BRR รับอานิสงส์ผลผลิตน้ำตาลในประเทศปี 67/68 มีแนวโน้มขยายตัว 20.50% แตะ 96.70 ล้านตัน โบรกแนะลงทุน KSL ราคาเป้าหมายเป้า 2.84 บาท คาดปี 68 ปริมาณการขายเพิ่ม พ่วงเตรียมจ่ายปันผล 0.05 บาท ขึ้น (XD) 28 ก.พ. กำหนดจ่าย 21 มี.ค.นี้


ศูนย์วิจัยเศรษฐกิจและธุรกิจ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB EIC) ระบุว่า ปริมาณผลผลิตน้ำตาลไทยในปีการผลิต 2567/68 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น 20.50% จากปีการผลิต 2566/67 มาอยู่ที่ 10.60 ล้านตัน ตามปริมาณอ้อยเข้าหีบที่คาดว่าจะปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ 96.70 ล้านตัน

ขณะเดียวกันฝ่ายนักวิจัยคาดการณ์ว่าปริมาณอ้อยเข้าหีบของไทยในปีการผลิต 2567/68 มีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ราว 96.7 ล้านตัน เนื่องจากผลผลิตต่อไร่และเนื้อที่เก็บเกี่ยวมีแนวโน้มฟื้นตัวจากปัญหาภัยแล้งที่คลี่คลายลง

โดยมีข้อมูลล่าสุดจาก สำนักงานคณะกรรมการอ้อยและน้ำตาลทราย (Office of The Cane and Sugar Board) สรุปสถานการณ์ ตลาดน้ำตาลโลก ประจำสัปดาห์ระหว่างวันที่ 30 ธ.ค. – 3 ม.ค.68 ราคาน้ำตาลทรายดิบตลาดนิวยอร์ สัปดาห์ที่ 1 ปี 68 เคลื่อนไหวผันผวน และปิดตลาดครั้งสุดท้ายด้วยราคาที่เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ที่ผ่านมาในช่วงต้นราคาน้ำตาลปรับตัวลดลงต่ำสุดในรอบ 3 เดือนครึ่งเนื่องจากแนวโน้มอุปทานน้ำตาลทั่วโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ในช่วงท้ายสัปดาห์ราคาน้ำตาลปรับตัวลดลง หลังจาก องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (ISO) ได้ปรับลดการคาดการณ์ภาวะน้ำตาลโลกส่วนขาด (Deficit) ปี 2567/68 เหลือ 2.51 ล้านตัน จากที่เคยคาดการณ์ในเดือนส.ค. 67 ไว้ที่ 3.58 ล้านตัน

ส่วนราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือน มี.ค. 68 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 19.04 – 19.94 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 19.65 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.28 เซนต์/ปอนด์ หรือ 1.45% และราคาน้ำตาลตามสัญญาซื้อขายล่วงหน้าเดือน พ.ค. 68 เคลื่อนไหวอยู่ระหว่าง 17.71 – 18.51 เซนต์/ปอนด์ และปิดตลาดครั้งสุดท้ายที่ 18.27 เซนต์/ปอนด์ เพิ่มขึ้นจากสัปดาห์ก่อน 0.35 เซนต์/ปอนด์ หรือ 1.95 %

ตามข้อมูลจาก SCB EIC อุตสาหกรรมน้ำตาลไทยมีการควบคุมจากภาครัฐอย่างเข้มงวด ซึ่งสร้างอุปสรรคในการเข้าสู่ตลาดและทำให้การแข่งขันจำกัดอยู่กับผู้ประกอบการเพียงไม่กี่ราย ตัวอย่างเช่น การตั้งโรงงานต้องห่างจากโรงงานที่ได้รับใบอนุญาตไม่น้อยกว่า 50 กิโลเมตร และต้องมีปริมาณอ้อยเข้าสู่โรงงานไม่น้อยกว่า 50% ของกำลังการผลิต นอกจากนี้ การแข่งขันจากต่างชาติและผู้ประกอบการรายใหม่ก็เป็นไปได้ยาก

ส่วนในปีการผลิต 2566/67 (ปี 66/67) มีโรงงานน้ำตาลทั้งหมด 57 แห่ง โดย 75% ของโรงงานเหล่านี้อยู่ภายใต้การดำเนินงานของ 13 กลุ่มบริษัทใหญ่ ซึ่ง 5 กลุ่มใหญ่ครองส่วนแบ่งตลาดรวมกันถึง 54% โดยกลุ่มมิตรผลมีส่วนแบ่งตลาดสูงสุด 23.9% รองลงมาคือกลุ่มไทยรุ่งเรือง สัดส่วน 9.10%, กลุ่มโคราช สัดส่วน 8.90%, บริษัท น้ำตาลขอนแก่น จำกัด (มหาชน) หรือ KSL มีสัดส่วน 6.40%, และ บริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ KTIS มีสัดส่วน 5.80% ในขณะที่ บริษัท น้ำตาลครบุรี จำกัด (มหาชน) หรือ KBS มีสัดส่วน 4.6% และ บริษัท น้ำตาลบุรีรัมย์ จำกัด (มหาชน) หรือ BRR มีสัดส่วน 3.10%

จากผลดังกล่าวข้างต้น “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” จึงได้รวบรวมหุ้นกลุ่มผู้ผลิตน้ำตาลที่คาดการณ์ว่าจะได้รับประโยชน์จากรายได้ “อุตสาหกรรมน้ำตาล” ปี 68 มีทิศทางขยายตัว ประกอบกับจากบทวิเคราะห์ของ บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) ระบุ ว่าภาพอุตสาหกรรมน้ำตาลไทย ปี 68 คาดการณ์ผลผลิตอ้อยอยู่ที่ 90-100 ล้านต้นเพิ่มขึ้นจาก 82 ล้านต้นในปี 67 พร้อมทั้งคาดการณ์ผลผลิตน้ำตาลปี 68 อยู่ที่ 12 ล้านต้น เพิ่มขึ้นจาก 86 ล้านต้นในปี 67 ทั้งนี้ คาดการณ์น้ำตาลจะแบ่งเป็นประเทศ 30 ล้านตัน ส่งออก 75 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจาก 58 ล้านต้น

โดย บล.กรุงศรี แนะนำลงทุน KSL ราคาพื้นฐานปี 68 อยู่ที่ 2.80 บาท ซึ่งฝ่ายนักวิเคราะห์ได้ปรับประมาณการอัตรากำไรขั้นต้น (GPM) ปีระหว่าง 67-68 เป็นดังนี้ ปี 67 อยู่ที่ 24% ปี 68 อยู่ที่ 17% และปี 69 อยู่ที่ 22% โดยการปรับประมาณการสำหรับปี 67-69 เกิดขึ้นจากในไตรมาส 3/67 มีปริมาณการขายและอัตรากำไรขึ้นต้นสูงกว่าคาดการณ์ ทั้งนี้ กำไรสุทธิ 9 เดือนแรกปี 67 คิดเป็น 136% ของประมาณการทั้งปี 67 ส่วนในปี 68-69 ฝ่ายนักวิเคราะห์ปรับประมาณการเพิ่มขึ้นจากปัจจัยสนับสนุน คือ 1.) เพิ่มปริมาณการขายน้ำตาล เนื่องจากโรงงานใหม่เห็นเริ่มดำเนินงาน

ขณะที่ ล่าสุด บมจ. น้ำตาลขอนแก่น หรือ KSL เปิดเผยว่า บริษัทเตรียมจ่ายปันผลจากงวดดำเนินงานวันที่ 01 พ.ย. 66 ถึงวันที่ 31 ต.ค. 67 เป็นเงินสด 0.05 บาท กำหนดวันที่ไม่ได้รับสิทธิปันผล (XD) 28 ก.พ.68 และกำหนดจ่าย 21 มี.ค.68

นอกจากนี้ นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจน้ำตาลและผู้ช่วยประธานเจ้าหน้าที่บริหาร KTIS กล่าวถึงทิศทางธุรกิจว่าภายหลังการประเมินเบื้องต้นคาดการณ์ว่าจะมีผลผลิตอ้อยเข้าหีบไม่น้อยกว่า 6.5 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลได้ไม่น้อยกว่า 7 ล้านกระสอบ สูงกว่าฤดูหีบปี 2566/67 ที่ 3 โรงงานของกลุ่ม KTIS ได้อ้อยเข้าหีบ 5 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้ 5.1 ล้านกระสอบ

โดยปริมาณอ้อยที่เพิ่มขึ้นจะส่งผลดีต่อทุกสายธุรกิจเพราะจะมีโมลาส หรือ กากน้ำตาลไปผลิตเอทานอลมากขึ้น มีชานอ้อยที่ป้อนเข้าโรงไฟฟ้าชีวมวลและโรงงานผลิตเยื่อกระดาษจากชานอ้อยมากขึ้นด้วย จึงมั่นใจว่ารอบบัญชีปี 68 (ต.ค.67 – ก.ย.68) ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS จะดีขึ้นกว่าปีก่อนอย่างมาก

อีกหนึ่งธุรกิจที่จะช่วยส่งเสริมผลการดำเนินงานของปี 68 อย่างชัดเจน คือ โครงการผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อยบริสุทธิ์ 100% ซึ่งมีกำลังการผลิต 50 ตันต่อวัน หรือประมาณ 3 ล้านชิ้นต่อวัน โดยมีเครื่องจักร 50 เครื่อง ที่สามารถผลิตบรรจุภัณฑ์เพื่อสิ่งแวดล้อมจากเยื่อชานอ้อย 100% ออกสู่ตลาดได้หลากหลายรูปแบบตามความต้องการของตลาดและความต้องการของลูกค้า

นอกจากนี้ คาดการณ์ว่าในปี 68 จะสามารถขายสินค้าในกลุ่มนี้ได้ไม่น้อยกว่า 10,000 ตัน คิดเป็นยอดขายไม่น้อยกว่า 500 ล้านบาท ส่วน โครงการนครสวรรค์ไบโอคอมเพล็กซ์ (NBC) ซึ่งดำเนินการโดย บริษัท จีจีซี เคทิสไบโออินดัสเทรียล จำกัด หรือ GKBI บริษัทร่วมทุนระหว่างกลุ่ม KTIS และ กลุ่ม ปตท. จะได้รับผลดีจากปริมาณอ้อยที่เพิ่มมากขึ้นสามารถนำไปต่อยอดผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้มากขึ้น ซึ่งจะสร้างผลการดำเนินงานที่ดีขึ้นด้วย

Back to top button