จับตา “คลัง” ชงเก็บภาษี “คาร์บอน” เข้าครม. เดือนนี้

คณะกรรมการกลั่นกรองเศรษฐกิจ ไฟเขียว หนุนกระทรวงการคลังนำนโยบาย “ภาษีคาร์บอน” เข้าประชุม ครม. ภายในเดือนนี้


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ (12 ม.ค.68) อ้างอิงตามแหล่งข่าว กระทรวงการคลัง เปิดเผยว่า นโยบายเก็บภาษีคาร์บอนได้รับความเห็นชอบจากที่ประชุมคณะกรรมการเพื่อเสนอคณะรัฐมนตรี ครม. ภายในเดือนมกราคมนี้ ซึ่งเตรียมส่งเรื่องให้ สำนักเลขาธิการคณะรัฐมนตรี บรรจุในวาระการประชุม โดยก่อนหน้านี้ที่ประชุมได้เชิญหน่วยงานร่วมแสดงความคิดเห็น ซึ่งรวมถึง กระทรวงพลังงาน ที่ก่อนหน้านี้มีความกังวลเกี่ยวกับภาษีคาร์บอนที่อาจทำให้ราคาน้ำมันเพิ่มสูงขึ้น ส่งผลกระทบต่อต้นทุนของผู้ประกอบการและประชาชน

ขณะที่นโยบายจัดเก็บภาษีคาร์บอนนี้ถือว่ามีผลบังคับใช้ล่าช้ากว่ากำหนด แต่จะไม่ส่งผลกระทบมากนัก เนื่องจากภาษีคาร์บอนจะถูกจัดเก็บร่วมกับภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิม ซึ่งจะทำหน้าที่เป็นกลไกภาษีชั่วคราวจนกว่าร่างพระราชบัญญัติการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศจะมีผลบังคับใช้

สำหรับภาษีคาร์บอนที่จะเสนอเข้า ครม. คาดการณ์จะมีการแก้ไขกฎกระทรวงและออกประกาศจาก กรมสรรพสามิต เพื่อกำหนดภาษีคาร์บอนในน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมัน โดยตั้งราคาไว้ที่ 200 บาทต่อตันคาร์บอนเทียบเท่า ทั้งนี้ อัตราภาษีคาร์บอนที่กำหนดจะทำให้น้ำมันดีเซล 1 ลิตร มีการคำนวณการปล่อยคาร์บอนอยู่ที่ 0.0027 ตัน คูณราคาภาษีคาร์บอน 200 บาท จะเท่ากับ 0.55 บาทต่อลิตร ซึ่งภาษีคาร์บอน 0.55 บาทจะถูกรวมอยู่ในภาษีสรรพสามิตที่จัดเก็บในอัตราลิตรละ 6.44 บาท รูปแบบการจัดเก็บภาษีดังกล่าวได้รับการนำมาปรับใช้จาก ประเทศญี่ปุ่น

ช่วงแรกแนวทางการจัดเก็บภาษีคาร์บอนจะใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิมมาอยู่ในรูปแบบของภาษีคาร์บอน โดยการเก็บภาษีคาร์บอนจะรวมเข้าไปในภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันเดิม ทำให้สามารถเก็บภาษีสรรพสามิตในอัตราเดิมได้ โดยในร่างประกาศที่เสนอเข้า ครม. ระบุว่า อัตราภาษีสรรพสามิตน้ำมันและผลิตภัณฑ์น้ำมันจะยังคงเหมือนเดิม

ส่วนการคำนวณภาษีคาร์บอนในน้ำมันชนิดต่างๆ จะอิงตามค่า การปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Emission Factors) ที่กำหนดตามมาตรฐานของกรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม ในระยะแรก การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนจะไม่ส่งผลกระทบต่อต้นทุนน้ำมัน โดยจะพิจารณาผลกระทบในหลายด้าน โดยเฉพาะการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในภาคขนส่ง ซึ่งมีสัดส่วนถึง 70% ของการปล่อยก๊าซเรือนกระจกทั้งหมด ขณะที่ในระยะถัดไป ภาษีคาร์บอนจะต้องมีการปรับเพิ่มขึ้นตามความเหมาะสม เพื่อเป็นกลไกสนับสนุนการลดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและลดโลกร้อนอย่างมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น

สำหรับน้ำมันที่มีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปริมาณสูง ราคาภาษีคาร์บอนจะสูงกว่าของน้ำมันที่ปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์น้อยกว่า ขณะที่น้ำมันที่ใช้พลังงานทดแทนจะถูกจัดเก็บภาษีในอัตราที่ต่ำกว่า

โดยมาตรการภาษีคาร์บอนถือเป็นกลไกภาคบังคับที่ส่งเสริมให้ผู้ประกอบการและประชาชนมีส่วนร่วมในการรับผิดชอบต่อการปล่อยคาร์บอน เพื่อช่วยลดผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการที่ส่งออกสินค้าไปยังประเทศที่มีการเสียภาษีคาร์บอนสามารถเจรจาลดหย่อนค่าธรรมเนียมภายใต้กลไก Carbon Border Adjustment Mechanism (CBAM) ทั้งนี้ช่วงแรกของขั้นตอน การบังคับใช้ภาษีคาร์บอนจะยังคงใช้หลักการแปลงภาษีสรรพสามิตน้ำมันเดิมมาอยู่ในรูปของภาษีคาร์บอน ซึ่งจะไม่สร้างภาระเพิ่มแก่เศรษฐกิจ

Back to top button