จับตาพรุ่งนี้ “บอร์ดกสทช.” เคาะจัดคลื่นความถี่ 6G เล็งประมูลไตรมาส 2

จับตา บอร์ดกสทช. เคาะจัดสรรคลื่นความถี่ 850, 1500, 2100 และ 2300 MHz รองรับเทคโนโลยี 5.5G และ 6G พรุ่งนี้ คาดเปิดประมูลภายในไตรมาส 2/68 ฟาก TRUE เตรียมคว้าคลื่น 2300 MHz ส่วน AIS โฟกัสคลื่น 2100 MHz มั่นใจแบ่งเค้กลงตัว


ผู้สื่อข่าวรายงาน วันนี้ ( 13 ธ.ค.67) แหล่งข่าวจาก สำนักงานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” คาดการณ์ว่าการประชุมบอร์ดกสทช.วันที่ 14 ม.ค. 68 จะมีการนำเสนอวาระพิจารณาเรื่องการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทย ระยะ 5 ปี (67-71) เพื่อรองรับปี 68 และ 70 ที่ประเทศไทยจะมีคลื่นความถี่ที่ได้จัดสรรให้เอกชนสิ้นสุดการอนุญาตให้ใช้งานช่วงต้นเดือน ส.ค. 2568 ประกอบด้วย คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์, 1500 เมกะเฮิรตซ์, 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์

ทั้งนี้ เพื่อนำมาจัดสรรใหม่ให้สอดคล้องกับปริมาณความต้องการใช้คลื่นความถี่ในอุตสาหกรรมโทรคมนาคม และให้เอกชนได้เตรียมความพร้อมในการทำแผนธุรกิจรองรับและให้ทันต่อเทคโนโลยี 5.5G และ 6G เบื้องต้นเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการพิจารณาคณะอนุกรรมการคลื่นความถี่ด้านเทคนิคและด้านเศรษฐศาสตร์แล้ว

นอกจากนี้ ยังมีวาระพิจารณาสำคัญหลายวาระที่เพิ่งได้รับการบรรจุวาระ เช่น วาระ (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่อง การกำหนดและกำกับดูแลโครงสร้างอัตราค่าบริการโทรศัพท์เคลื่อนที่ภายในประเทศ (ฉบับที่ 2) (วาระต่อเนื่อง) ที่เสนอบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 26 ก.ค. 66 ประชุมวาระดังกล่าว 1 ครั้ง ล่าสุดเมื่อ 2 เม.ย. 67 และมีมติให้กลับไปปรับปรุง, เรื่องการปรับปรุง (ร่าง) ประกาศ กสทช. เรื่องหลักเกณฑ์การสนับสนุนการผลิตรายการที่เป็นประโยชน์ต่อสังคมในกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ เสนอบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 10 ต.ค. 66 เพิ่งได้รับบรรจุวาระเมื่อวันที่ 7 ธ.ค. 67

ขณะที่ การจัดตั้งคณะทำงานพหุภาคีเพื่อติดตามปัญหาสัญญาณโทรศัพท์เคลื่อนที่และอินเตอร์เน็ตมีคุณภาพต่ำ อัตราค่าบริการที่สูงขึ้น มีการเสนอบรรจุวาระตั้งแต่วันที่ 15 ธ.ค. 66, เรื่องโครงสร้างสำนักงานฯ เสนอวาระตั้งแต่วันที่ 26 มิ.ย. 66 รวมถึงเรื่องปรับปรุงระเบียบ กสทช. ว่าด้วยข้อบังคับการประชุม ที่บรรจุตั้งแต่วันที่ 9 มิ.ย. 66 เป็นต้น ซึ่งส่วนใหญ่เป็นวาระที่เสนอตั้งแต่ช่วงปี 66

โดยการประชุมคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) ครั้งที่ 1/68 เมื่อวันที่ 8 ม.ค. 68 ที่ผ่านมา ได้มีรับรองรายงานการประชุมจำนวน 3 วาระ เรื่องเพื่อทราบ จำนวน 5 วาระ เรื่องค้างพิจารณา จำนวน 42 วาระ เรื่องพิจารณา จำนวน 13 วาระ และเรื่องอื่น ๆ จำนวน 2 วาระ รวมที่ประชุมฯ ได้พิจารณาไปทั้งสิ้นจำนวน  65 วาระ

อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีการพิจารณาวาระการเปรียบเทียบเงื่อนไข หรือมาตรการเฉพาะกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ TRUE และ บริษัท โทเทิ่ล แอ็คเซ็ส คอมมูนิเคชั่น จำกัด (มหาชน) (DTAC) และกรณีการรวมธุรกิจระหว่างบริษัท แอดวานซ์ ไวร์เลส เน็ทเวอร์ค จำกัด และบริษัท ทริปเปิลที บรอดแบนด์ จำกัด (มหาชน) (3BB) และการพิจารณาความเห็นของ TRUE ต่อการกำหนดเงื่อนไขหรือมาตรการเฉพาะ รวมถึงการที่ TRUE ขอทบทวนมาตรการเฉพาะควบรวมกิจการที่กสทช.กำหนด

ด้าน นายพิสุทธิ์ งามวิจิตวงศ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายวิเคราะห์หลักทรัพย์ บริษัทหลักทรัพย์ กสิกรไทย จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า คาดว่าที่ปรึกษาของกสทช.จะส่งมอบผลการศึกษาการประมูลจัดสรรคลื่นความถี่สำหรับกิจการโทรคมนาคมเคลื่อนที่สากลของประเทศไทยระยะ 5 ปี ให้บอร์ดกสทช.ในเดือนกุมภาพันธ์ ก่อนจะประกาศรับฟังความคิดเห็นในเดือนมีนาคมนี้  และในเดือนเมษายนก็จะประกาศให้ยื่นซองประมูล

สำหรับคลื่นความถี่ บริษัททรูให้ความสนใจมากที่สุด คือ คลื่นความถี่ย่าน  2300 เมกะเฮิรตซ์ โดยราคากลางน่าจะอยู่ประมาณ 30,000 ล้านบาท ส่วนคลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ที่ทรูใช้อยู่ปัจจุบัน คาดว่าทรูจะไม่ร่วมประมูลด้วย เนื่องจากมีคลื่นความถี่ต่ำอยู่แล้ว คือคลื่นความถี่ย่าน 700 MHz นอกจากนี้คลื่นความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์ ยังใช้ได้เฉพาะ 3G เท่านั้น จึงไม่มีความจำเป็นที่จะต้องใช้ต่อไป

ส่วนกรณีของบริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) หรือ ADVANC คาดว่าจะเข้าประมูลคลื่นความถี่ย่าน 2100 MHz ที่ปัจจุบันใช้อยู่ ประเมินราคากลางประมาณ 1.6 หมื่นล้านบาท เพราะเป็นคลื่นกลางที่มีความจำเป็นในการให้บริการ ดังนั้น AIS จึงต้องการคลื่นนี้

อย่างไรก็ตาม เชื่อว่าทั้งสองค่ายมือถือจะแบ่งคลื่นความถี่กันไปตามความต้องการของแต่ละค่าย และจะไม่มีการแข่งราคากันมากนัก ทำให้ต้นทุนของการประมูลครั้งนี้จะไม่สูงเหมือนที่ผ่านมา ซึ่งจะส่งผลดีต่อผลประกอบการในอนาคตของทั้งสองค่ายมือถือดังกล่าว เนื่องจากต้นทุนที่ลดลง

ในส่วนของบริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ NT คาดว่าคงไม่ได้ร่วมประมูลในครั้งนี้ เนื่องจากไม่มีความพร้อมด้านเงินทุน คาดว่ากสทช.จะนำคลื่นความถี่มาเปิดประมูล  5 คลื่น ประกอบด้วย ความถี่ย่าน 850 เมกะเฮิรตซ์, 1500 เมกะเฮิรตซ์, 1800 เมกะเฮิรตซ์, 2100 เมกะเฮิรตซ์ และ 2300 เมกะเฮิรตซ์

นายไตรรัตน์ วิริยะศิริกุล รองเลขาธิการ และรักษาการแทนเลขาธิการ กสทช. เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า การเปิดประมูลใบอนุญาตวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 51 และ 142 องศาตะวันออก คาดว่าจะเกิดขึ้นในเดือน ก.พ.นี้ ซึ่งบริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM ให้ความสนใจที่จะเข้าประมูลครั้งนี้

“ประมูลครั้งนี้น่าจะผ่านไปได้ด้วยดี เพราะทางไทยคมได้แก้ไขรายชื่อบริษัทที่จะเข้าร่วมประมูลเสร็จแล้ว และคงเป็นเจ้าเดียวที่ร่วมประมูลในครั้งนี้ด้วย” นายไตรรัตน์ กล่าว

ก่อนหน้านี้ บริษัท ไทยคม จำกัด (มหาชน) หรือ THCOM แจ้งว่าบริษัทได้นำดาวเทียมไทยคม 9A มาประจำวงโคจร 50.5 องศาตะวันออกได้สำเร็จแล้ว เมื่อวันที่ 22 พ.ย. 2567 นับเป็นหนึ่งในภารกิจที่เร่งด่วนและท้าทายของไทยคมในการช่วยประเทศไทยรักษาสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรในตำแหน่ง 50.5 องศาตะวันออก ก่อนที่จะสิ้นสุดลงวันที่ 27 พฤศจิกายน 2567 นี้ โดยปัจจุบันไทยคมเป็นเจ้าของใบอนุญาตดาวเทียม 50.5, 78.5, 119.5 และ 120 องศาตะวันออก เป็นเวลา 20 ปี ซึ่งส่งผลให้อำนาจในตลาดธุรกิจดาวเทียมภายในประเทศเพิ่มขึ้น

Back to top button