“ดัชนีเชื่อมั่นหอการค้า” ธ.ค. หดตัวต่อเนื่อง เซ่นเศรษฐกิจโลกชะลอ

มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เผยดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย เดือน ธ.ค. ลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 สาเหตุจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว และกังวลการปรับขึ้นค่าแรง


นายวชิร คูณทวีเทพ ผู้อำนวยการสถาบันยุทธศาสตร์การค้า มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยว่า ดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC INDEX) เดือนธ.ค. 67 ซึ่งเป็นการสำรวจจากความคิดเห็นของภาคธุรกิจ และหอการค้าทั่วประเทศ จำนวน 369 ตัวอย่าง ระหว่างวันที่ 23-27 ธ.ค. 67 โดยดัชนีฯ อยู่ที่ระดับ 48.7 ลดลงเล็กน้อยจากระดับ 48.8 ในเดือนพ.ย. 67 โดยเป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 8 (ตั้งแต่เดือนพ.ค. 67) และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 (ระดับปกติ) ต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4

สำหรับดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย ในแต่ละภูมิภาค เป็นดังนี้

กรุงเทพฯ และปริมณฑล อยู่ที่ 49.0 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 48.9

ภาคกลาง อยู่ที่ 48.8 ลดลงจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 49.0

ภาคตะวันออก อยู่ที่ 51.6 เพิ่มขึ้นจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 51.5

ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือนพ.ย. ซึ่งอยู่ที่ 47.6

ภาคเหนือ อยู่ที่ 48.4 เพิ่มขึ้นจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 48.3

ภาคใต้ อยู่ที่ 47.4 ลดลงจากเดือนต.ค. ซึ่งอยู่ที่ 47.6

สำหรับปัจจัยลบ ได้แก่

1.การฟื้นตัวของระบบเศรษฐกิจโลกที่ช้าลงหรือชะลอตัวลง อาจส่งผลกระทบในเชิงลบต่อการส่งออก และเศรษฐกิจไทยในอนาคต

2.เศรษฐกิจยังฟื้นตัวช้า ตลอดจนปัญหาค่าครองชีพ รวมถึงผู้บริโภคระมัดระวังการจับจ่าย ส่งผลกระทบต่อยอดขายของธุรกิจที่อาจจะไม่เติบโต

3.ความกังวลต่อสถานการณ์ความขัดแย้งทางด้านภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ยังคงยืดเยื้อ ทั้งสถานการณ์สงครามระหว่างรัสเซีย-ยูเครน การสู้รบระหว่างอิสราเอล-กลุ่มฮามาส ตลอดจนสถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่รุนแรงขึ้น

4.ความเสียหายของภาคธุรกิจและประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมหนักในบางพื้นที่ ทำให้ต้องหยุดดำเนินกิจการ และขาดรายได้ อีกทั้งยังต้องซ่อมแซมอาคารบ้านเรือนที่เกิดความเสียหาย

5.เงินบาทปรับตัวแข็งค่าขึ้นเล็กน้อย ทำให้กังวลว่าจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อความสามารถในการแข่งขันของสินค้าไทยในตลาดโลก

สำหรับปัจจัยบวก ได้แก่

1.คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) คงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ระดับ 2.25%

2.มาตรการของรัฐบาลในการอัดฉีดเม็ดเงินเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจ เช่น เงินช่วยชาวนาไร่ละ 1,000 บ. การเตรียมแจกเงิน 10,000 บ. ให้ผู้สูงอายุ

3.จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้ามาท่องเที่ยวในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ในช่วงฤดูกาลท่องเที่ยวของไทย ส่งผลให้มีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากขึ้น กิจกรรมเศรษฐกิจในภูมิภาคปรับตัวดีขึ้น

4.การส่งออกไทยเดือนพ.ย.67 ขยายตัว 8.17%

5.ครม. เห็นชอบขยายเวลาคงอัตราภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ไว้ที่ 7% ต่ออีก 1 ปี

6.รัฐบาลประกาศมาตรการกระตุ้นการใช้จ่าย ผ่านโครงการ Easy E-Receipt

7.ราคาขายปลีกน้ำมันในประเทศปรับตัวลดลง

8.ราคาพืชผลเกษตรหลายรายการปรับตัวดีขึ้น ทำให้เกษตรกรมีรายได้สูงขึ้น ช่วยเพิ่มกำลังซื้อในต่างจังหวัด

ทั้งนี้ ภาคเอกชนยังได้เสนอแนะแนวทางในการแก้ไขปัญหาต่อภาครัฐ ดังนี้

1.ขอให้ภาครัฐมีมาตรการส่งเสริมช่วยเหลือผู้ประกอบการที่ขาดสภาพคล่อง จากต้นทุนการทำธุรกิจที่สูงขึ้นจากราคาวัตถุดิบ หรือค่าจ้างแรงงาน

2.เร่งมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ โดยเฉพาะการกระตุ้นการบริโภคของภาคประชาชน

3.การปรับโครงสร้างหนี้ของธุรกิจที่ประสบปัญหามาอย่างต่อเนื่อง โดยเน้นการใช้เทคโนโลยีดิจิทัล เพื่อเพิ่มโอกาสการเข้าถึงแหล่งเงินในระบบ และสร้างความโปร่งใสในการจัดการปัญหาในระยะยาว

4.มาตรการป้องกันรับมือกับสภาพอากาศที่แปรปรวน เพื่อให้ทุกภาคส่วนตั้งรับในการเผชิญเหตุการณ์ที่จะเกิดขึ้นได้อย่างรวดเร็ว

5.การดูแลเยียวยาช่วยเหลือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ภัยธรรมชาติ

6.การรักษาเสถียรภาพทางด้านการเงินให้สมดุล เพื่อรองรับกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์เศรษฐกิจโลก

นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า แม้เศรษฐกิจไทยจะมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น แต่ยังอยู่ภายใต้บรรยากาศที่อาจไม่ดีมาก เพราะดัชนีความเชื่อมั่นหอการค้าไทย (TCC Index) ยังปรับตัวลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 4 และอยู่ในระดับต่ำกว่า 50 ซึ่งเป็นระดับปกติ โดยพบว่าสาขาการลงทุน สาขาการท่องเที่ยว และสาขาเกษตรยังเติบโตได้ไม่โดดเด่น ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลจากการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ทำให้ภาคธุรกิจยังไม่กล้าจะลงทุนเพิ่ม ส่งผลให้ยังไม่มีการจ้างงานเพิ่ม

นอกจากนี้ ภาคธุรกิจยังมีความกังวลต่อความไม่แน่นอนของนโยบายการค้า ภายใต้การนำของนายโดนัลด์ ทรัมป์ ประธานาธิบดีสหรัฐคนใหม่ ที่จะเข้ารับตำแหน่งในวันที่ 20 ม.ค.นี้ รวมถึงกรณีที่สหรัฐแซงชั่นรัสเซีย ซึ่งจะมีผลต่อราคาพลังงานทั้งน้ำมันและก๊าซที่อาจสูงขึ้น และทำให้ต้นทุนของภาคธุรกิจเพิ่มขึ้นด้วย

Back to top button