CGSI ชู BBL-SCB ท็อปพิก “หุ้นแบงก์” ยีลด์ปันผลปี 68 เด่น
CGSI มองกลุ่ม “แบงก์” ไตรมาส 4/67 มีแรงกดดันจากการลดดอกเบี้ย พร้อมชู BBL-SCB เป็นท็อปพิก หลังปีนี้มียีลด์ปันผลสูงที่ 4.6% และ 9.1% ในปี 68 ตามลำดับ
ฝ่ายวิเคราะห์ บริษัทหลักทรัพย์ ซีจีเอส อินเตอร์เนชั่นแนล (ประเทศไทย) หรือ CGSI ระบุในบทวิเคราะห์ โดยคาดการณ์ว่าในไตรมาส 4/67 ธนาคาร 8 แห่งที่ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ทำการศึกษา ได้แก่ BBL, KBANK, SCB, KTB, TTB, TISCO, KKP และ CREDIT จะทำกำไรสุทธิรวม 4.85 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 11.8% จากปีก่อน แต่ลดลง 13.2% จากไตรมาสก่อน โดยเชื่อว่ากำไรสุทธิจะลดลงจากไตรมาสก่อนหน้า เพราะผลกระทบจากการปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายในไตรมาส 4/67 ส่วนกำไรสุทธิจะเติบโตจากปีก่อนจากอัตราการสำรองหนี้สูญที่ลดลง
นอกจากนี้ เชื่อว่าในไตรมาส 4/67 กลุ่มธนาคารจะมีสินเชื่อรวมขยายตัว 1.2% จากไตรมาสก่อนหน้า แต่ลดลง 0.4% จากปีก่อน และมีส่วนต่างอัตราดอกเบี้ย (NIM) ลดลง 5bp จากไตรมาสก่อน และ 16bp จากปีก่อน ทั้งนี้คาดการณ์ว่า KKP, KTB และ CREDIT จะมีกำไรสุทธิเติบโตสูงที่สุดเทียบกับปีก่อน ขณะที่ประมาณการกำไรสุทธิของ KTB, SCB และ KBANK สูงกว่าที่ Bloomberg consensus คาดการณ์ 25.7%, 7.8% และ 5.0% ตามลำดับ
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI คาดการณ์ว่า กลุ่มธนาคารจะมีรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโต 14.8% จากปีก่อน แต่ลดลง 1.3% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาส 4/67 โดยรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยจะยังเติบโตแข็งแกร่งจากปีก่อน จากการบันทึกกำไรจากการลงทุนและกำไรจากการวัดมูลค่ายุติธรรมของเครื่องมือทางการเงินผ่านกำไรหรือขาดทุน (FVTPL) แต่จะเติบโตติดลบจากไตรมาสก่อนหน้า เนื่องจากรายได้ค่าธรรมเนียมจากการเป็นนายหน้าซื้อขายหลักทรัพย์และบริการกองทุนรวมจะลดลง เพราะตลาดหุ้นไทยมีปริมาณการซื้อขายและมูลค่าการซื้อขายต่อวันลดลง
ฝ่ายวิเคราะห์ฯ ยังคาดการณ์ว่า กลุ่มธนาคารจะมีอัตราส่วนค่าใช้จ่ายต่อรายได้เพิ่มขึ้นจาก 44.6% ในไตรมาส 3/67 เป็น 47.1% ในไตรมาส 4/67 แต่ยังต่ำกว่า 48.8% ในไตรมาส 4/66 เนื่องจากธนาคารมีมาตรการคุมค่าใช้จ่ายและรายได้ที่มิใช่ดอกเบี้ยเติบโตแข็งแกร่ง ดังนั้น กำไรก่อนตั้งสำรองของกลุ่มธนาคารจึงน่าจะเติบโต 1.9% จากปีก่อน แต่ลดลง 6.1% จากไตรมาสก่อนหน้า ในไตรมาส 4/67
โดยตั้งสมมุติฐานอัตราการสำรองหนี้สูญของกลุ่มธนาคารในไตรมาส 4/67 อยู่ที่ 159bp หรือเพิ่มขึ้นจาก 150bp ในไตรมาส 3/67 แต่ต่ำกว่า 181bp ในไตรมาส 4/66 ทั้งนี้ KTB, KBANK, TTB และ CREDIT มีอัตราการสำรองหนี้สูญสูงในไตรมาส 4/67 เพราะมีนโยบายการตั้งสำรองที่รอบคอบและมีการตั้งสำรองส่วนเพิ่มแบบ Management Overlay
ฝ่ายวิเคราะห์ CGSI ยังแนะนำ “คงน้ำหนักการลงทุน (Neutral)” ในกลุ่มธนาคาร เพราะคาดการณ์ว่ากำไรก่อนตั้งสำรอง (PPOP) จะเติบโตลดลงมาที่ 1.3-2.0% และมี ROE ที่ 9.0% ในปี 68-69 โดยเลือก BBL ราคาเป้าหมาย 195 บาท และ SCB ราคาเป้าหมาย 130 บาทเป็นหุ้น Top pick เพราะมองว่ายังมีการประเมินมูลค่าน่าสนใจที่ P/BV 0.49 เท่า และ 0.81 เท่าในปี 68 รวมทั้งมีอัตราผลตอบแทนจากเงินปันผลสูงที่ 4.6% และ 9.1% ในปี 68 ตามลำดับ
ขณะที่เชื่อว่าในไตรมาส 4/67 กลุ่มธนาคารยังมีกำไรอ่อนตัว อีกทั้งมีสินเชื่อขยายตัวช้าและ NIM อยู่ภายใต้แรงกดดัน จึงมองว่ากลุ่มธนาคารขาดปัจจัยบวกช่วยหนุน แต่ยังจ่ายเงินปันผลดี อย่างไรก็ตาม กลุ่มธนาคารมี downside risk หาก NPL เพิ่มสูงขึ้นและธปท.ปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีก ส่วน upside risk จะมาจากการที่นักท่องเที่ยวเดินทางเข้ามาไทยมากขึ้น จะช่วยกระตุ้นการบริโภค, ความตึงเครียดด้านภูมิรัฐศาสตร์ที่ลดลงและรัฐบาลออกมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ