ได้ไม่คุ้มเสีย? ไอเดีย “สำรองน้ำมันประเทศ” ยุครัฐมนตรี “พีระพันธุ์”

ได้ไม่คุ้มเสีย? ไอเดีย “สำรองน้ำมันประเทศ” ยุครัฐมนตรี “พีระพันธุ์”


กลายเป็นที่ถกเถียงกันในแวดวงพลังงานสำหรับแนวคิดระบบ “สำรองน้ำมันและก๊าซเชิงยุทธศาสตร์” หรือ Strategic Petroleum Reserve (SPR) หนึ่งในนโยบาย “รื้อ ลด ปลด สร้าง” ของกระทรวงพลังงาน ในยุค “พีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค”

ที่ได้ออกมาแถลงข่าวเมื่อปลายเดือน พ.ย.67 และเตรียมนำเข้าสภาผู้แทนราษฎร ในต้นปี 2568 แต่ยังมีคำถามมากมายว่า ร่างกฎหมายน้ำมัน SPR ของไทยจะเป็นอย่างไร

SPR คืออะไร

“SPR” เป็นเครื่องมือที่รัฐบาลจะใช้เพื่อป้องกันและจัดการกับความเสี่ยงด้านพลังงาน เพื่อสามารถบริหารจัดการด้านน้ำมันได้มากขึ้น เพราะปัจจุบัน ระบบการสำรองน้ำมันของไทยนั้น กำหนดให้ผู้ประกอบการเอกชนเป็นผู้จัดเก็บสำรองตามกฎหมาย (Legal Reserve) เพื่อรองรับการใช้ในกรณีฉุกเฉิน หรือการขาดแคลนน้ำมันในช่วงเวลาที่เกิดเหตุการณ์ไม่ปกติ เช่น ภัยพิบัติหรือวิกฤตการณ์ต่าง ๆ ประมาณ 25-30 วัน

โดยเมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา นายพีระพันธุ์ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน ได้ให้นิยามของระบบ SPR ว่า จะเป็นแนวทางการรักษาเสถียรภาพราคาน้ำมันแบบที่สากลใช้กันในกลุ่ม IEA (International Energy Agency) หรือ องค์การพลังงานระหว่างประเทศ โดยใช้การบริหารกลไกราคาน้ำมันโดยใช้ปริมาณน้ำมันในสต็อก ซึ่งไม่ได้ใช้เงินในการอุดหนุนเหมือนกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงที่ทำอยู่ในปัจจุบัน โดยจะทำให้ไทยมีระบบสำรองน้ำมันเป็นของประเทศไม่ได้ขึ้นอยู่กับภาคเอกชนอย่างเดียว

ข้อมูลจาก สำนักงานบริหารกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน ระบุว่า นโยบายการจัดตั้ง SPR คือ ภาครัฐจะเป็นผู้กำหนดนโยบายการเก็บสำรองน้ำมัน เพื่อสามารถนำมาใช้ในการบริหารจัดการราคาขายปลีกในประเทศให้ลดลง ในช่วงที่ราคาน้ำมันโลกผันผวนสูง รูปแบบคล้าย “กองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง” โดยที่กองทุนน้ำมันฯ เรียกเก็บเงินเข้าออกและปรับอัตราการจัดเก็บน้ำมันแต่ละประเภทตามความเหมาะสมในแต่ละช่วง แต่ SPR จะใช้น้ำมันสำรองที่มีอยู่ในคลังออกมาจำหน่ายเพื่อรักษาระดับราคาน้ำมันแทน อย่างไรก็ดี SPR แม้จะไม่ใช่เรื่องใหม่ แต่ประเทศไทยยังไม่ได้มีกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับเรื่องนี้โดยตรง โดยที่ SPR จะเกิดประโยชน์กับประชาชนและเศรษฐกิจของประเทศ เพราะรัฐเป็นผู้ถือครองน้ำมันเชื้อเพลิงสำรองและมีเพียงพอใช้ในประเทศได้ถึง 90 วัน ทำให้รัฐสามารถรู้ต้นทุนที่แท้จริงของราคาน้ำมันเชื้อเพลิงที่นำเข้ามาในประเทศเพื่อสามารถกำกับดูแลราคาที่สะท้อนต้นทุนอย่างแท้จริง

ไทยจำเป็นต้องมีสำรองน้ำมันจำนวนมหาศาล?

อย่างไรก็ตาม ผู้เชี่ยวชาญในแวดวงพลังงานไม่เห็นด้วยกับแนวทางจัดตั้ง SPR และเคยได้รายงานให้ทางรัฐมนตรีทราบแล้วด้วย อีกทั้งมีหน่วยงานทางด้านพลังงาน เคยศึกษาว่า ประเทศไทยไม่มีความจำเป็นต้องสำรองน้ำมันเชิงยุทธศาสตร์เพิ่มโดยรัฐ แต่การสำรองน้ำมันตามกฎหมายโดยเอกชนยังมีความจำเป็น เนื่องจากความเสี่ยงทางภูมิรัฐศาสตร์ หรือ Geopolitical Risk หากเกิดขึ้น อาจส่งผลกระทบรุนแรง

ประเทศไทยไม่ได้เป็นสมาชิกของ IEA

องค์กร IEA ที่จัดตั้งขึ้นหลังเกิดวิกฤติด้านพลังงานน้ำมัน ในปี 2517 (ค.ศ.1974) เป็นองค์กรที่มีเครือข่ายกับองค์การเพื่อความร่วมมือทางเศรษฐกิจและการพัฒนา (Organisation for Economic Co-operation and Development : OECD) ปัจจุบันไทยไม่ได้เป็นสมาชิก IEA

แหล่งข่าวในวงการพลังงาน ให้ข้อมูลที่น่าสนใจว่า หากนับการสำรองน้ำมัน ตามข้อกำหนดเดียวกับกลุ่มประเทศ IEA ต้องนับทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นน้ำมันในท่อหรือน้ำมันที่กำลังจะเข้าท่า ซึ่งประเทศไทยมีทั้งหมด 60 วันแล้ว นอกจากนี้ต้องนับน้ำมันเชิงพาณิชย์ด้วย หมายความว่าเอกชนต้องมีน้ำมันสำรองที่ไม่ใช่ตามกฎหมาย

นอกจากนี้เทรนด์การใช้พลังงานของโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ก็มุ่งเน้นไปที่การเปลี่ยนแปลงไปสู่แหล่งพลังงานที่สะอาดและยั่งยืนมากขึ้น

ขณะเดียวกันภาวะการขาดแคลนน้ำมันก็จะลดลง โดยจากการวิเคราะห์แนวโน้ม “พีก ออยล์ ดีมานด์” หรือความต้องการน้ำมันของโลกจากหลายแหล่งที่พบตรงกันว่า ความต้องการน้ำมันจะลดลงหลังปี 2573 (ค.ศ.2030) หรืออีก 5 ปีข้างหน้า โดย “รถไฟฟ้า” หรือ รถ EV จะเข้ามามีบทบาทในชีวิตของมนุษย์มากขึ้น

ไอเดียสำรองน้ำมันในปริมาณมหาศาลนี้ ยังมีข้อจำกัดอยู่หลายส่วน โดยเฉพาะเรื่องต้นทุนการสร้าง “คลังสำรองน้ำมัน” รวมทั้งค่าใช้จ่ายในการซื้อน้ำมันมากักเก็บจะคุ้มค่าหรือไม่ แล้วสุดท้าย “ต้นทุน” ใครจะแบกรับ หรือเป็น “ประชาชน” อีกแล้วที่ต้องเป็นผู้รับภาระนี้

Back to top button