กกพ. ชงรัฐลดค่าไฟ 17 สต. เหลือหน่วยละ 3.89 บาท ยึดต้นทุนแท้จริง
กกพ. เสนอลดค่าไฟฟ้า 17 สตางค์ทันที ทบทวน Adder-FiT ตัดค่าใช้จ่ายนโยบายภาครัฐ ยึดหลักสะท้อนต้นทุนจริง ลดภาระค่าครองชีพประชาชน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (16 ม.ค.68) นายพูลพัฒน์ ลีสมบัติไพบูลย์ เลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (สำนักงาน กกพ.) ในฐานะโฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า ในการประชุม กกพ. เมื่อวันที่ 15 ม.ค.68 กกพ. มีมติให้สำนักงาน กกพ. นำเสนอทางเลือกให้ภาคนโยบาย ทบทวนและปรับปรุงเงื่อนไขการสนับสนุน ทั้งในรูปแบบส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) และ Feed in Tariff (FiT) ผ่านการอุดหนุนราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้ารายเล็ก (SPP) และกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก (VSPP) เพื่อให้การอุดหนุน Adder และ Feed in Tariff (FiT) สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง และทำให้ค่าไฟสามารถปรับลดลงได้ทันทีประมาณหน่วยละ 17 สตางค์ จากค่าไฟฟ้าในปัจจุบันเฉลี่ยอยู่ที่หน่วยละ 4.15 บาท โดยคาดหวังว่า จะสามารถลดภาระค่าครองชีพให้กับประชาชนอีกทางหนึ่ง
นายพูลพัฒน์ กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมาการรับซื้อไฟฟ้าจากกลุ่มผู้ผลิตไฟฟ้าดังกล่าวข้างต้น เมื่อครบกำหนดอายุสัญญารับซื้อไฟก็ได้รับการต่อสัญญาในเงื่อนไขเดิมและให้ได้รับการอุดหนุนราคารับซื้อมาอย่างต่อเนื่อง ตามนโยบายเดิมที่ต้องการสนับสนุนและส่งเสริมผู้ประกอบการโรงไฟฟ้าขนาดเล็ก และรองรับปริมาณความต้องการเพิ่มปริมาณไฟฟ้าสะอาดเข้ามาในระบบให้มากขึ้น ปัจจุบันผู้ประกอบการกลุ่มนี้มีพัฒนาการอย่างต่อเนื่อง มีความพร้อมสามารถรับมือกับการแข่งขันในธุรกิจไฟฟ้าได้ดี ท่ามกลางการแข่งขันและพัฒนาเทคโนโลยีพลังงานหมุนเวียนที่ทำให้เกิดการลดลงต้นทุนในการผลิตไฟฟ้าอย่างต่อเนื่อง จึงน่าจะเป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมในการเสนอให้ทบทวนเงื่อนไขการรับซื้อดังกล่าว
ช่วงต้น ปี 2565 เกิดสงครามรัสเซีย-ยูเครน ทำให้ราคาก๊าซธรรมชาติเหลวพุ่งสูงขึ้นเกือบ 6 เท่าตัว กกพ. แก้ปัญหาเพื่อลดภาระค่าไฟฟ้าหลายประการ และมีประการหนึ่งที่ยังไม่ได้ดำเนินการ นั่นคือ กกพ. มีมติเมื่อเดือน ต.ค.65 เสนอความเห็นต่อรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในขณะนั้น
ตามมาตรา 11 (12) โดยขอให้ฝ่ายนโยบายจัดการกับต้นทุนค่าไฟฟ้าในส่วนค่าใช้จ่าย ตามนโยบายรัฐ (Policy Expense) ประกอบด้วย โครงการ Adder และ Feed in Tariff (FiT) ซึ่งมีต้นทุนการรับซื้อไฟฟ้าสูงกว่าราคาต้นทุนจริงในภาวะปัจจุบัน และโครงการผลิตไฟฟ้าแบบ Adder เหล่านี้ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา เป็นเหตุให้ประชาชนต้องแบกรับภาระค่าไฟฟ้าโดยไม่จำเป็น
และเป็นหน้าที่ กกพ. ตามพระราชบัญญัติการประกอบกิจการพลังงาน พ.ศ. 2550 มาตรา 65(1) ซึ่งบัญญัติไว้ว่า ภายใต้นโยบายและแนวทางที่คณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.) ให้ความเห็นชอบให้คณะกรรมการกำหนดหลักเกณฑ์การกำหนดอัตราค่าบริการของผู้รับใบอนุญาตแต่ละประเภท
โดยควรสะท้อนถึงต้นทุนที่แท้จริงและคำนึงถึงผลตอบแทนที่เหมาะสมของการลงทุนของการประกอบกิจการพลังงานที่มีประสิทธิภาพ หากมีการปรับปรุงราคารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ Feed in Tariff ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง เช่น ไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์ รับซื้อในอัตราค่าไฟฟ้าขายส่งหน่วยละ 3.1617 บาท บวกกับค่าส่วนเพิ่มราคารับซื้อไฟฟ้า (Adder) หน่วยละ 8 บาท (10 ปี) รวมแล้วเป็นค่าไฟฟ้าหน่วยละ 11.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าอัตรารับซื้อที่สำนักงานนโยบายและแผนพลังงาน (สนพ.) คำนวณไว้ในโครงการการจัดหาไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนในรูปแบบ Feed-in Tariff (FiT) ปี 2565 – 2573 สำหรับกลุ่มไม่มีต้นทุนเชื้อเพลิง พ.ศ. 2565 และในส่วนเพิ่มเติม พ.ศ. 2567 หน่วยละ 2.1679 บาท หลายเท่าตัวหรือมีส่วนต่างหน่วยละ 8.9938 บาท หากนำส่วนต่างนี้ออกไปจากสูตรคำนวณค่าไฟฟ้า ก็จะทำให้ค่าไฟฟ้าลดลงทันที และไม่กระทบต่อผู้ประกอบการ ด้วย 2 เหตุผล คือ
1. ผู้ประกอบกิจการผลิตไฟฟ้าผ่านจุดคุ้มทุนแบบ Adder และได้รับค่าตอบแทนจากโครงการพอสมควร จึงควรปรับค่าไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง
2. การรับซื้อไฟฟ้าในอดีตหน่วยละ 11.1617 บาท เนื่องจากอุปกรณ์การผลิตไฟฟ้าจากแผงพลังงานแสงอาทิตย์มีต้นทุนสูง แต่ในปัจจุบันราคาอุปกรณ์ดังกล่าวลดลงมาก ราคาไฟฟ้าที่รัฐรับซื้อควรลดลงตามมาด้วยเช่นกัน หรือแม้โครงการผ่าน 10 ปีและเงินอุดหนุน 8 บาทหมดไปแล้ว แต่ราคารับซื้อก็ยังอยู่ที่ 3.1617 บาท ซึ่งแพงกว่าราคาที่ สนพ. คำนวณในปี 2565 หน่วยละ 2.1679 บาท ซึ่งมีส่วนต่างเป็นเงินหน่วยละ 0.9938 บาท ถือเป็นกำไรที่ผู้ประกอบการไม่ควรได้รับ ประการสำคัญสัญญารับซื้อไฟฟ้าในกลุ่มนี้ระบุว่าให้ต่อสัญญาโดยอัตโนมัติ หมายความว่า ไม่มีวันสิ้นสุดสัญญา หากไม่มีการปรับปรุงอัตราการรับซื้อไฟฟ้าให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริง ผู้ประกอบกิจการก็จะได้กำไรเกินควร อันเป็นการสร้างภาระให้กับประชาชนโดยไม่มีวันสิ้นสุด
โฆษก กกพ. กล่าวอีกว่า จากการเปิดรับฟังความคิดเห็นของประชาชน กรณีค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) งวดเดือน ม.ค.-เม.ย.68 ได้ระบุค่าใช้จ่ายภาครัฐ (Policy Expense) จากการรับซื้อไฟฟ้าในกลุ่ม Adder และ FiT รวมอยู่ในค่าไฟฟ้าหน่วยละ 17 สตางค์ หากคณะรัฐมนตรี (ครม.) หรือ กพช. กำหนดนโยบายปรับค่าไฟฟ้ารับซื้อในส่วนนี้ให้สะท้อนต้นทุนที่แท้จริงก็จะลดค่าไฟฟ้าได้ทันที่ 17 สตางค์ หากค่าไฟฟ้าหน่วยละ 4.15 บาท ก็จะลดลงเหลือหน่วยละ 3.89 บาท จากประมาณการตลอดทั้งปี 2568 คาดว่า จะมีการใช้ไฟฟ้า 195,000 ล้านหน่วย ซึ่งหากลดได้หน่วยละ 17 สตางค์จะสามารถประหยัดค่าไฟฟ้าให้กับประชาชนได้ 33,150 ล้านบาท