กทม. ดีเดย์จ่ายค่าจ้างเดินรถสีเขียว BTS ปีละ 8 พันลบ.-เคลียร์หนี้ O&M 1.1 หมื่นล้าน Q1/68

“กรุงเทพมหานคร” ดีเดย์จ่ายค่าเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายให้ BTS เดือนละ 500-600 ล้านบาท หรือปีละ 8,000 ล้านบาท เริ่มเดือน ม.ค.นี้ หวังเบรกดอกเบี้ยค้างจ่ายพุ่ง ส่วนหนี้ O&M ที่เหลือ 1.1 หมื่นล้านบาท ที่อยู่ในศาลปกครองชั้นต้น เตรียมควักเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร ปิดหนี้บีทีเอสภายในเดือน ก.พ. หรืออย่างช้ามี.ค.นี้ ด้านบล.กรุงศรีฯ มองรายได้ค่าเดินรถสายสีเขียวส่วนต่อขยายเข้าสม่ำเสมอทุกเดือน ส่งผลดีต่อกระแสเงินสดบีทีเอส สร้างโอกาสการลงทุนใหม่ในอนาคต ราคาเป้าหมาย 6.49 บาท


นายนภาพล จีระกุล สมาชิกสภากรุงเทพมหานคร (ส.ก.) เขตบางกอกน้อย ในฐานะประธานคณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว  เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า กรุงเทพมหานครจะเริ่มจ่ายค่าเดินรถรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือนมกราคมนี้เป็นต้นไป โดยคิดเป็นเม็ดเงินประมาณ 500-600 ล้านบาทต่อเดือน ให้กับบริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เพื่อลดภาระดอกเบี้ยค้างชำระ

“เราไม่ได้จ่ายค่าเดินรถส่วนต่อขยายสายสีเขียวมานานแล้วนับตั้งแต่มีเรื่องฟ้องร้องกันอยู่ในศาล โดยจะนำเงินสะสมจากการเก็บค่าโดยสารและเงินที่ได้จากค่าโดยสารในแต่ละเดือนมาจ่าย จะไม่มีการค้างจ่ายเหมือนที่ผ่านมา เพราะหนี้ส่วนนี้มีภาระดอกเบี้ยเพิ่มขึ้นทุกวัน” นายนภาพล กล่าว

โดยปัจจุบันการจัดเก็บค่าโดยสารในส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 อยู่ที่เดือนละประมาณ 200 ล้านบาท ดังนั้นจึงต้องมีเงินสมทบจากเงินสะสมค่าโดยสารจากกทม.เข้ามาอุดหนุนเพิ่ม

สำหรับหนี้ค่าจ้างเดินรถ-ซ่อมบำรุง หรือ O&M รถไฟฟ้าสายสีเขียวก้อนที่เหลือ แบ่งเป็น หนี้ที่อยู่ระหว่างการพิจารณาของศาลปกครองชั้นต้น จำนวน 1.1 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน มิ.ย. 2564-ต.ค. 2565 คณะกรรมการวิสามัญเพื่อศึกษาปัญหาของโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียว จะมีการสรุปแนวทางการชำระหนี้ให้กับ BTS ภายในเดือน ม.ค.นี้ เพื่อเสนอนายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร

ทั้งนี้ คาดว่าผู้ว่าฯ จะสามารถเสนอสภากรุงเทพมหานครได้ภายในเดือน ก.พ.นี้ เพื่อขอตั้งงบประมาณรายจ่ายเพิ่มเติมประจำปีงบประมาณ พ.ศ. 2568 พ.ศ. … จากเงินสะสมจ่ายขาดของกรุงเทพมหานคร นำมาชำระหนี้ 1.1 หมื่นล้านบาท ภายในเดือน ก.พ.นี้ หรืออย่างช้าในเดือน มี.ค.

ส่วนหนี้ที่ยังไม่ฟ้องศาลอีก 1.3 หมื่นล้านบาท โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตั้งแต่เดือน พ.ย. 2565-มิ.ย. 2567 นั้น คณะกรรมการวิสามัญฯ ได้มีการหารือกับผู้ว่าฯ กทม. เบื้องต้นแล้ว อาจต้องมีการเจรจากับ BTS เพื่อขอให้ลดดอกเบี้ย หรือชะลอการคิดดอกเบี้ยไว้ก่อน ซึ่งอาจใช้งบกลางปีมาชำระหนี้

นายสุรพงษ์ เลาหะอัญญา ผู้อำนวยการใหญ่สายธุรกิจ MOVE และกรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท ระบบขนส่งมวลชนกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) หรือ BTSC บริษัทในเครือบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) หรือ BTS เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า หนี้ในส่วนของค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 2 ทางกรุงเทพมหานครค้างชำระมานานกว่า 4 ปีแล้ว อย่างไรก็ตามกทม.มีการชำระหนี้บางส่วนในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 แต่ยังไม่ครบ

โดยค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ตามสัญญาที่ทำไว้กับกรุงเทพมหานครจะอยู่ที่ปีละ 8 พันล้านบาท ส่วนกรณีที่กรุงเทพมหานครจะมาเจรจาเพื่อขอลดดอกเบี้ยในส่วนของหนี้ O&M ยังไม่สามารถบอกได้ว่าจะทำได้มากน้อยแค่ไหน เพราะบริษัทก็มีต้นทุนในการดำเนินงานค่อนข้างมาก โดยแบ่งเป็นหนี้ที่อยู่ในศาลปกครองชั้นต้น 1.1 หมื่นล้านบาท และที่ยังไม่ฟ้องศาลอีก 2 หมื่นล้านบาท

 BTS กระแสเงินสดพุ่ง

นายกรภัทร วรเชษฐ์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่ หัวหน้าสายงานวิจัย บริษัทหลักทรัพย์ กรุงศรี จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า กรณีที่กรุงเทพมหานครจะจ่ายค่าเดินรถโครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวในเส้นทางส่วนต่อขยายที่ 1 และส่วนต่อขยายที่ 2 ในเดือนนี้ และต่อเนื่องหลังจากนี้ นับเป็นผลดีต่อกระแสเงินสดของบริษัทที่เพิ่มขึ้น รวมทั้งสร้างโอกาสในการลงทุนใหม่ที่จะขึ้นในอนาคต

“ถ้า BTS ได้เงินเข้ามาเดือนละ 500-600 ล้านบาทอย่างสม่ำเสมอ ก็จะทำให้กระแสเงินสดดีขึ้น ลดความเสี่ยงเรื่องฐานะการเงิน มีโอกาสที่จะลงทุนเพิ่มในโครงการใหม่ ๆ” นายกรภัทร กล่าว

นอกจากนี้ ยังคาดว่าราคาหุ้น BTS จะตอบรับกรณีดังกล่าวจากรายได้ที่เข้ามาอย่างต่อเนื่องทุกเดือน โดยให้ราคาเหมาะสมไว้ที่ 6.49 บาท

Back to top button