“จุฬา สุขมานพ” ยืนยันทำ “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” เขตพื้นที่ EEC ได้!

"จุฬา สุขมานพ" เลขาธิการ EEC เผยทำ “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ในพื้นที่ EEC ได้ ชี้อย่าจำกัดคำแค่ “คาสิโน” หลังเอกชนเตรียมเดินหน้า “แอร์พอร์ต ซิตี้” ไม่รอรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน


ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ม.ค.68) นายจุฬา สุขมานพ เลขาธิการคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.) หรือ EEC ให้สัมภาษณ์ในรายการเจาะลึกทั่วไทย Inside Thailand ขยายความกรณี บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) ผู้รับสัมปทานสนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบินภาคตะวันออก จะเริ่มก่อสร้างในส่วนอาคารผู้โดยสารและเมืองการบิน หรือ แอร์พอร์ต ซิตี้ (Airport City) 1,058 ไร่ โดยจะไม่รอโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา)

เลขาธิการ EEC กล่าวว่า เพราะแอร์พอร์ต ซิตี้ เป็นเป้าหมายในการเดินทางใหม่หรือแหล่งท่องเที่ยวใหม่ แทนที่จะมองแค่สนามบินเป็นโครงสร้างพื้นฐานในการเดินทาง เพราะตัวที่จะเป็นการสร้างดีมานด์ในการเดินทางจริง ๆ คือ แอร์พอร์ต ซิตี้ เช่นเดียวกับการมีห้างสรรพสินค้าใหม่ที่จะดึงดูดผู้คนให้มาที่สถานที่นั้น ๆ

  • เข้าถึงอู่ตะเภาใช้มอเตอร์เวย์ได้

นายจุฬา ยังได้กล่าวในประเด็นที่บางฝ่ายมองว่ารถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินยังไม่เริ่มก่อสร้าง อะไรคือความมั่นใจที่ทำให้ผู้รับสัมปทานกล้าเดินหน้าสร้างแอร์พอร์ต ซิตี้ ว่า เพราะการเข้าถึงอู่ตะเภา ถ้าขับรถจากกรุงเทพฯ ใช้เวลา 2 ชั่วโมง รถไฟความเร็วสูงใช้เวลา 1 ชั่วโมง ซึ่งปัจจุบันมีคนที่ตัดสินใจเดินทางไปพัทยา มีการไปทุกวันเสาร์-อาทิตย์ อยู่แล้ว เมื่อเพิ่มอีกจุด ซึ่งอยู่ห่างจากพัทยา ประมาณ 30 กิโลเมตร เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ ที่มีอะไรแตกต่างจากสิ่งที่พัทยาหรือบริเวณนั้นไม่มี อีกทั้งยังเข้าถึงได้ง่ายด้วยระบบมอเตอร์เวย์ก็สามารถไปได้ และเมื่อมีรถไฟความเร็วสูงตามมา ก็จะเพิ่มทางเลือกให้คนเดินทางไปได้ง่ายขึ้น

ส่วนโอกาสทางธุรกิจของแอร์พอร์ต ซิตี้ ซึ่งมูลค่าการลงทุนตามพิมพ์เขียวเป็นหลักหมื่นถึงแสนล้านบาท กลายเป็นทางผ่านการท่องเที่ยวพัทยาจะคุ้มค่าหรือไม่

“ผมคิดว่าถ้าเขาไม่ตัดสินใจว่ารอด เขาไม่ทำตั้งแต่แรก เพราะมันเป็นการตัดสินใจในทางธุรกิจ และเขาคิดว่าจะทำมา 4-5 ปีแล้ว ตอนแรกเขาคิดว่ารอรถไฟ ในขณะที่การคุยส่วนหนึ่ง EEC ก็พยายามแนะนำว่าวิธีการที่จะทำให้เกิดเร็วขึ้นหรือทำให้สนามบินมันมีผู้โดยสารเยอะขึ้น ต้องไปสร้าง Destination เขาถึงพยายามให้อะไรที่เมืองไทยยังไม่มี พยายามเอาไปไว้ในแอร์พอร์ต ซิตี้นั้น” นายจุฬา กล่าว

  • เจาะ “แม่เหล็ก” ใน “แอร์พอร์ต ซิตี้”

ทั้งนี้ นายจุฬา ยอมรับด้วยว่า “แม่เหล็ก” ที่จะดึงดูดผู้คนให้เดินทางมายังเมืองการบินจะต้องเป็นสิ่งที่ทำให้คนสามารถใช้ชีวิตอยู่ในบริเวณนั้นได้ทั้งวันและเป็นสถานที่ที่คนสามารถใช้จ่ายเงินได้ตามความพึงพอใจของแต่ละคน

ส่วนแม่เหล็กที่กล่าวถึงนั้นจะเป็น เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ (Entertainment Complex) หรือไม่นั้น เลขาธิการ EEC กล่าวว่า ปัจจุบันคาสิโนจะไม่ได้อยู่ในพื้นที่แอร์พอร์ต ซิตี้ ในสัญญาสัมปทานไม่ได้ระบุ เพราะตอนนี้ยังผิดกฎหมาย แต่ที่เตรียมทำตั้งแต่แรกก็ทำในลักษณะที่ใช้คำว่า เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ก็ได้ เพราะว่าบันเทิงครบวงจรกับคาสิโน ตนว่าไม่ใช่เรื่องเดียวกัน

“ถ้าเกิดในอนาคตมันถูกกฎหมายแล้วไปลง อันนี้เราไม่ทราบว่าคนที่จะลงทุนเขาจะเลือกตรงนั้นหรือเปล่า เพราะในแอร์พอร์ต ซิตี้ จะมีการแบ่งพื้นที่ไว้ทำกิจกรรมหลายอย่างมาก เหมือนที่เราไปดูในประเทศอื่น ๆ เขาไม่มีทางที่จะทำสำหรับคาสิโนอย่างเดียวอยู่แล้ว… คงไม่มีใครทำคาสิโนเป็นพันไร่หรอก… เราต้องเข้าใจว่า ปัจจุบันกลุ่มผู้รับสัมปทานเป็นคนดูแลพื้นที่ เขาสามารถจะกำหนดได้ ส่วนคนที่จะไปลงทุนคาสิโนเขาก็ต้องดูว่าตรงนั้นเหมาะหรือเปล่า หรืออย่างในกรุงเทพฯ เขาก็ต้องดูว่าตรงไหนของกรุงเทพฯ มีความพร้อมที่จะทำได้มากที่สุด ก็เป็นการตัดสินใจของนักลงทุนที่จะใช้พื้นที่อีกที” นายจุฬาระบุ

นอกจากนี้ เลขาธิการ EEC กล่าวด้วยว่า อยู่ที่การให้คำจำกัด “เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์” ว่าอย่างไร เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ คือทุกอย่างที่ให้ความบันเทิงอยู่ในพื้นที่นั้น และไม่สามารถบอกว่า เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ คือ คาสิโนได้ เพราะว่าในปัจจุบันยังไม่ถูกกฎหมาย

ทั้งนี้ นายจุฬา ยังยืนยันว่า ถ้าจะมีการลงทุนทำเอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ในพื้นที่ EEC สามารถทำได้ และไม่เป็นการผิดเงื่อนไขในสัมปทาน

ผู้สื่อข่าวรายงานเพิ่มเติมว่า บริษัทร่วมทุน บริษัท อู่ตะเภา อินเตอร์เนชั่นแนล เอวิเอชั่น จำกัด (UTA) มีผู้ร่วมทุน 3 ราย ประกอบด้วย บริษัท กรุงเทพการบิน จำกัด มหาชน หรือ BA, บริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด มหาชน หรือ BTS และ บริษัท ซิโน-ไทย เอ็นจีเนียริ่งแอนด์คอนสตรัคชั่น จำกัด (มหาชน) หรือ STEC

เมื่อวันที่ 13 ม.ค.68 ที่ผ่านมา ครม. ได้อนุมัติหลักการร่างพระราชบัญญัติการประกอบธุรกิจสถานบันเทิงครบวงจร พ.ศ. …. หรือร่าง พ.ร.บ.เอนเตอร์เทนเมนต์ คอมเพล็กซ์ ตามที่กระทรวงการคลังเสนอ และให้สำนักงานคณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจพิจารณา ก่อนนำเข้าสู่สภาผู้แทนราษฎร

ก่อนหน้านี้ นายจุลพันธ์ อมรวิวัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการคลัง กล่าวว่า รัฐบาลได้ประเมินกรอบเวลาการขับเคลื่อนนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร โดยหลังจาก ครม. เห็นชอบในหลักการและส่งร่างกฎหมายให้คณะกรรมการกฤษฎีกาตรวจจะใช้เวลา 45 วัน ก่อนที่จะเสนอกลับมาที่ ครม. และเสนอต่อรัฐสภาในเดือน มี.ค.68 ซึ่งคาดว่า จะใช้เวลา 9 เดือน ก่อนประกาศใช้เป็นกฎหมาย ในไตรมาส 1 ปี 2569

ทั้งนี้ หากเป็นไปตามกรอบเวลาดังกล่าว จะทำให้คณะกรรมการนโยบายสถานบันเทิงครบวงจร ศึกษาพื้นที่และประกาศเงื่อนไขการลงทุนได้ในปี 2569 หลังจากนั้นจะเปิดประมูล และคาดว่าเริ่มก่อสร้างในปี 2570 ก่อนที่รัฐบาลจะครบวาระ ซึ่งจะใช้เวลาก่อสร้าง 3-4 ปี

Back to top button