
กทม. ขอความร่วมมือ “ภาครัฐ-เอกชน“ WFH 20-21 ม.ค. รับมือฝุ่นพิษพุ่ง
กทม. ประกาศขอความร่วมมือ ภาครัฐ-เอกชน WFH 20-21 ม.ค.68 คาดการณ์ค่าฝุ่นสัปดาห์หน้าเป็น “สีส้ม” มีอัตราระบายลมต่ำ
ผู้สี่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (17 ม.ค.68) นายเอกวรัญญู อัมระปาล โฆษกของกรุงเทพมหานคร (กทม.) เปิดเผยว่า จากการคาดการณ์ปัจจัยที่เกี่ยวข้องกับค่าฝุ่น PM 2.5 ในวันที่ 20-21 ม.ค.68 พบว่า 1.มีเขตที่ค่าฝุ่นเข้าเกณฑ์สีส้ม 35 เขตขึ้นไป 2.อัตราการระบายอากาศไม่ดี คืออยู่ระหว่าง 875 – 2,250 ตารางเมตรต่อวินาที (m2/s) และ 3.จุดเผา 5 วันที่ผ่านมา (วันที่ 11-15 ม.ค.68) เกินวันละ 80 จุด
จึงประกาศ Work From Home (WFH) ในวันที่ 20 – 21 ม.ค. 68 ซึ่งกทม. ยังคงต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากพบว่า ฝุ่น PM2.5 ยังคงมีแนวโน้มสูงขึ้นต่อเนื่อง จะประกาศ WFH ต่อไปจนถึงวันที่ 24 ม.ค.68 โดยได้สื่อสารประชาสัมพันธ์ให้กับภาคีเครือข่าย WFH รับทราบล่วงหน้าแล้วเพื่อให้สามารถวางแผนการทำงานล่วงหน้าและลดผลกระทบกับหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ ที่เข้าร่วม
โฆษกกทม. กล่าวอีกว่า ปัจจุบันมีหน่วยงานภาคส่วนต่าง ๆ เข้าร่วมกับกทม. เป็นภาคีเครือข่าย WFH ประมาณเกือบ 100,000 คน จึงขอเชิญชวน หากใครประสงค์จะร่วมโครงการสามารถลงทะเบียนกับกทม. ได้ผ่านลิงก์ https://bit.ly/3Nn25nR?r=qr ทั้งนี้สามารถสอบถามเพิ่มเติมได้ที่กองจัดการคุณภาพอากาศและเสียง สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร โทร. 0 2203 2951
ส่วนโรงเรียนในสังกัด กทม. ให้ผู้บริหารใช้ดุลยพินิจปิดโรงเรียนตามสถานการณ์ฝุ่นและเกณฑ์ที่กำหนด สำหรับการปิดการเรียนการสอน ให้ผู้บริหารพิจารณาดำเนินการ ดังนี้
- ค่า PM 2.5 ระหว่าง 37.6-75 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) หรือ ระดับธงคุณภาพอากาศสีส้ม ผู้อำนวยการสถานศึกษาใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจครั้งละไม่เกิน 3 วัน ผู้อำนวยการเขตใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจครั้งละไม่เกิน 7 วัน
- ค่า PM 2.5 มากกว่า 75 มคก./ลบ.ม. หรือ ระดับธงคุณภาพอากาศสีแดง ต่อเนื่องติดต่อกัน 3 วัน ผู้อำนวยการสำนักการศึกษา ใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ ครั้งละไม่เกิน 15 วัน เมื่อฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าสูงเกิน 2-5 เขต ผู้ว่าฯ กทม. ใช้ดุลยพินิจปิดการเรียนการสอนตามอำนาจ โดยไม่จำกัดระยะเวลา เมื่อฝุ่นละออง PM 2.5 มีค่าสูงเกิน มากกว่า 5 เขต
ทั้งนี้หากมีการปิดการเรียนการสอน ให้โรงเรียนจัดการเรียนการสอนชดเชยในภายหลัง หรือพิจารณาจัดการเรียนการสอนในรูปแบบทางเลือกทดแทน เช่น การจัดการเรียนการสอนออนไลน์ แต่หากไม่ปิดการเรียนการสอน โรงเรียนจะต้องมีพื้นที่ Safe Zone ให้นักเรียนกลุ่มเปราะบางและทุกคนในโรงเรียน และดำเนินการตามมาตรการป้องกันฝุ่นละอองอย่างเคร่งครัด
นายเอกวรัญญู กล่าวด้วยว่า สำหรับข้าราชการ สำนักงานคณะกรรมการข้าราชการกรุงเทพมหานคร (สำนักงาน ก.ก.) ได้ปรับปรุงแนวทางการปฏิบัติราชการที่รองรับวิถีชีวิตและการทำงานวิถีใหม่ของกรุงเทพมหานครให้เหมาะสมตามสถานการณ์ความรุนแรงของฝุ่นละออง PM2.5 โดยมีรูปแบบของการปฏิบัติงาน อาทิ การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้ง โดยการเหลื่อมเวลาทำงาน, การปฏิบัติงาน ณ สถานที่ตั้ง โดยการนับชั่วโมงทำงาน, การปฏิบัติงานนอกสถานที่ตั้ง ใช้กับงานวิชาการที่ไม่ต้องติดต่อกับผู้รับบริการหรือบุคคลภายนอกมากนัก และสามารถส่งงานผ่านระบบออนไลน์ได้
นอกจากนี้ สำนักสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร (สสล.) ได้รายงานว่า ขณะนี้มีรถยนต์ 6 ล้อ ขึ้นบัญชีเขียว (Green List) แล้ว 31,041 คันจากเป้าหมาย 10,000 คัน หรือ 310% และมีรถยนต์ทั่วไปร่วมเข้าโครงการ “รถคันนี้ลดฝุ่น” หรือโครงการรณรงค์ให้ประชาชนร่วมเปลี่ยนไส้กรองรถยนต์ 229,711 คัน จากเป้าหมาย 500,000 คัน ช่วยลด PM2.5 จากภาคจราจรแล้ว 12% และฝุ่นจากทุกแหล่งกำเนิดได้ 8% หากครบ 500,000 คันตามเป้าหมายจะสามารถลด PM2.5 ได้ 25%
ทั้งนี้จากการทดสอบใช้ระบบกล้อง CCTV ตรวจจับรถยนต์ 6 ล้อขึ้นไปที่เข้าในวงแหวนรัชดาภิเษก หรือเขตควบคุมฝุ่น Low Emission Zone (LEZ) ระหว่างวันที่ 11 – 16 ม.ค.68 พบว่า มีรถยนต์ 6 ล้อเข้าพื้นที่ 9,881 คัน เฉลี่ย 1,647 คันต่อวัน เป็นรถยนต์ในบัญชีเขียว 1,630 คัน