PCE กางแผนปี 68 เร่งเพิ่มยอดขาย 40,000 ตัน ดันรายได้แตะ 3 หมื่นล้านบาท

PCE เปิดกลยุทธ์ธุรกิจปี 68 ลุยขยายกำลังผลิต และเพิ่มมูลค่าน้ำมันปาล์ม โดยสัดส่วนเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายเป็น 40,000 ตันในปีนี้ จากเดิม 15,000 ตัน/ปี พร้อมวางแผนการส่งออกกะลาปาล์มให้มากกว่า 100,000 ตันต่อปี คาดว่าสนับสนุนรายได้ปี 68 ทะยานแตะ 3 หมื่นล้านบาท เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อนหน้า ส่วนด้านฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง


นายพรพิพัฒน์ ประสิทธิ์ศุภผล รองกรรมการผู้จัดการสายงานปฏิบัติการ บริษัท เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด (มหาชน) หรือ PCE ผู้นำอุตสาหกรรมน้ำมันปาล์มแบบครบวงจรที่มีความพร้อมการจัดการระบบซัพพลายเชน เปิดเผยว่า  บริษัทฯมีกลยุทธ์การลงทุนในปี 2568 วางงบไว้ประมาณ 1,000 ล้านบาท โดยวางแผนใช้เทคโนโลยีเพื่อขยายกำลังการผลิต ควบคู่กับการเพิ่มมูลค่าสินค้าในธุรกิจการสกัดและการกลั่นน้ำมันปาล์ม โดยการขยายโรงสกัดในพื้นที่เดิม เนื่องจากตัวโรงสกัดเดิมมีการใช้งานมาแล้วกว่า 20 ปี

ตลอดจนการจัดการสิ่งแวดล้อมอย่างยั่งยืนขยายเป็น Bio Complex เช่น ลดของเสียและการปล่อยก๊าซเรือนกระจก และการบริหารจัดการน้ำเสีย รวมถึงการปฏิบัติตามมาตรฐานสากล เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน รวมถึงให้ความสำคัญด้านการบริหารความเสี่ยงจากความผันผวนของตลาดน้ำมันปาล์มและอื่นๆ ด้วยการเพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์ แตกไลน์ผลิตภัณฑ์ปาล์มที่บริษัทฯ มีอยู่ เช่น น้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์มกึ่งบริสุทธิ์ (RBDPKO) โดยสัดส่วนการเพิ่มยอดการจัดจำหน่ายเป็น 40,000 ตันในปีนี้ จากเดิมที่ทำได้ 15,000 ตัน/ปี อีกด้วย อีกทั้งยังวางแผนการส่งออกกะลาปาล์มให้มากกว่า 100,000 ตันต่อปี ซึ่งช่วยหนุนให้รายได้ในส่วนของกะลาปาล์มเติบโตขึ้นมาได้

ทั้งนี้ บริษัทฯ วางแผนขยายกำลังการผลิตน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) จาก 90 ตัน/ชม. เป็น 135 ตัน/ชม. ขยายกำลังการผลิตด้วยการกลั่นน้ำมันปาล์มโอเลอีน (RBDOL) จาก 300 ตัน/วัน เป็น 700 ตัน/วัน ตลอดจนเน้นผลิตและจำหน่ายน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) และมีแผนลงทุนด้านโรงกลั่นน้ำมันปาล์ม เพื่อให้การสกัดน้ำมันปาล์มมีประสิทธิภาพสูงสุด รวมถึงการเพิ่มช่องทางจัดจำหน่ายสินค้าและบริการทางออนไลน์ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อตอบสนองอัตราการอุปโภคบริโภคน้ำมันปาล์มที่เพิ่มมากขึ้นกว่าปีก่อน 3% (ข้อมูลจากกรมการค้าภายในกระทรวงพาณิชย์) และในส่วนของออยที่ส่งให้กับ BCP มีปริมาณวอลุ่มอยู่ประมาณ 200 ตัน/วัน หากตีโดยรวมประมาณ 5,000 ตัน/วัน ซึ่งจะส่งผลให้ปีนี้มีวอลุ่มเพิ่มขึ้นผลดังกล่าวคาดว่าจะสนับสนุนรายได้ปี 2568 ให้เติบโตขึ้นสู่ระดับ 30,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 15-20% จากปีก่อนหน้า

ขณะเดียวกันบริษัทมีแผนขยายธุรกิจภายใน 3 ปีข้างหน้า เป็นตัวน้ำมันปาล์มมาพัฒนาให้เป็นไฮมาร์จิ้นมากยิ่งขึ้น ที่สามารถนำไปทำช็อกโกแลตสามารถทดแท่นเมล็ดช็อกโกแลตที่มีราคาแฟง และปลูกยากในปัจจุบัน ดังนั้นจะเป็นโปรดักส์ใหม่เพื่อการส่งออกในอนาคต อีกทั้งในส่วนของน้ำมันปาล์มดิบ (CPO) และน้ำมันเมล็ดในปาล์ม (CPKO) ออกมาเพื่อใช้ต่อยอดในอุตสาหกรรมให้กับฝั่งจีนและทั่วโลกเนื่องจากตลาดในประเทศไทยค่อนข้างมีขีดจำกัด โดยหากมองไปในอนาคตอีก 5-10 ปี ผลผลิตของปาล์มเติบโตขึ้นทุกปี 5% ดังนั้นหากบริษัทเตรียมไว้การส่งออกน้ำมันปาล์มในอนาคตจะได้มากขึ้น

“ปี 2568 มีแนวโน้มว่าการส่งออกน้ำมันปาล์มไปจีน และอินเดียยังคงเป็นไปในทิศทางที่ดี เราจะขยายกำลังการผลิต เน้นเพิ่มมูลค่าสินค้า เพิ่มช่องทางจัดจำหน่าย เพื่อรองรับความต้องการของตลาดที่มีมากขึ้น ให้ความสำคัญกับการพัฒนากลยุทธ์เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพ ลดต้นทุน และสร้างความได้เปรียบในการแข่งขัน ด้วยการนำเทคโนโลยีใหม่ๆ มาปรับใช้ และที่สำคัญ PCE ยังคงมุ่งมั่นดำเนินธุรกิจภายใต้หลักธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบต่อสังคม ให้ความสำคัญด้าน ESG ซึ่งมีโครงการส่งเสริมการนำน้ำมันพืชใช้แล้วนำกลับมาใช้ใหม่ด้วยการนำน้ำมันเก่า 2 ขวดมาแลกเป็นน้ำมันใหม่ 1 ขวด รวมถึงโครงการรวมพลังสร้างปาล์มน้ำมันไทย ก้าวไกลสู่มาตรฐาน RSPO (Roundtable on Sustainable Palm Oil) ซึ่งเป็นมาตรฐานการผลิตน้ำมันปาล์มอย่างยั่งยืนที่ปัจจุบันได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติมากที่สุด โดยเป็นการร่วมลงนาม MOU กับหน่วยงานภาครัฐ” นายพรพิพัฒน์ กล่าว

ทั้งนี้ กลุ่มบริษัทฯ ยังคงยึดนโยบายขยายขอบเขตธุรกิจ เพื่อเพิ่มศักยภาพการแข่งขัน และสร้างผลตอบแทนระยะยาวผ่านการนำเทคโนโลยีขั้นสูงมาใช้ และพัฒนากระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ การบริหารจัดการควบคุมความเสี่ยงในธุรกิจสกัดและกลั่นน้ำมันปาล์ม ธุรกิจขนส่ง และธุรกิจเทรดดิ้งเป็นพิเศษ ด้วยการพิจารณาถึงปัจจัยความเสี่ยงที่ซับซ้อนจากราคาพลังงาน กฎระเบียบ สิ่งแวดล้อม และการเคลื่อนไหวน้ำมันปาล์มในตลาดโลก เพื่อสร้างผลตอบแทนที่เป็นรูปธรรมควบคู่กับความรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน

ด้านนายสมศักดิ์ ศิริชัยนฤมิตร ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเซท โปร แมเนจเม้นท์ จำกัด (APM) ในฐานะที่ปรึกษาทางการเงิน ของ บมจ.เพชรศรีวิชัย เอ็นเตอร์ไพรส์ (PCE) กล่าวเพื่อเรียกความเชื่อมั่นนักลงทุนและกลุ่มผู้ถือหุ้น PCE ว่าบริษัทมีความน่าสนใจ เนื่องจากทางผู้บริหารเองมีความตั้งใจในการบริหารธุรกิจ รวมถึงเป็นบริษัทที่มีพื้นฐานแข็งแกร่ง ดูจากผลการดำเนินงานงวด 9 เดือนแรกโชว์ให้เห็นแล้วว่าเติบแข็งแกร่ง และในฐานะทาง FA ยังมีความเชื่อมั่นต่อตัวกิจการของบริษัท โดยเฉพาะอย่างยิ่งสถานทางการเงินและความสามารถในการทำกำไร

ขณะเดียวกันทาง  PCE ถือว่าเป็น Top three ของผู้ดำเนินธุรกิจปาล์มครบวงจรของประเทศไทย และที่สำคัญผู้เกี่ยวข้องธุรกิจปาล์มในประเทศอินโดนีเซีย มาเลเซีย จะต้องรู้จัก PCE และด้วยศักยภาพบ่งบอกว่าเป็นผู้นำ พร้อมมีส่วนสำคัญอย่างยิ่งในการขับเคลื่อนสินค้าเกษตรอย่างปาล์มให้เติบโต ประกอบกับมีรายได้จากการส่งออกเบอร์ต้นๆ ของประเทศไทยที่มีศักยภาพโดดเด่น

นอกจากนี้ ต้องยอมรับว่าอัตรากำไรสุทธิของกลุ่มธุรกิจคอมมูนิตี้อยู่ประมาณ 2% ซึ่งการรักษาการทำกำไรถือเป็นเรื่องสำคัญที่ทาง PCE มีมาอย่างต่อเนื่อง โดยที่รู้จักบริษัทมาสามารถทำกำไรอย่างสม่ำเสมอ ส่วนในจุดแข็งอีกอย่างคือ รายได้ งวด 9 เดือนแรกปี 2567 เติบโต 2.1 หมื่นล้านบาท ซึ่งใกล้เคียงทั้งปี 2566 อยู่ที่ 2.4 หมื่นล้านบาท ส่วนในปีนี้ตั้งเป้ารายได้จะโตประมาณ 20-30% โดยรักษาความสามารถในการทำกำไรสุทธิ บ่งบอกว่าบริษัทยังมีความโดดเด่นจากอุตสาหกรรมปาล์มไม่ด้อยกว่าคู่เทียบอื่น

ขณะที่ Current ratio อยู่ที่ 2.1 เท่า ถือว่าบริษัทมีสภาพคลองสูงมาก และเรื่องของรีเทิร์นราว 10%  อีกทั้ง ROE อยู่ที่ 9.50% จากเดิม 10.50% ถือว่าปรับตัวลงเล็กน้อยจากก่อนเข้ามาซื้อขายในตลาด แต่ถือว่ายังแข็งแกร่ง เนื่องด้วยยังมากกว่า 7% ถือว่าดี ส่วน ROA จากเดิมก่อนระดมทุนอยู่ที่ 7.50% แต่ปัจจุบันปรับตัวขึ้นมาอยู่ที่ 8.50% ถือเป็นการตอกย้ำว่า ratio ของ PCE เทียบกับราคาหุ้นอยู่ที่ 3.08 บาท นับว่าเป็นหุ้นที่น่าสนใจเป็นอย่างมาก เพราะมีความสามารถในการทำกำไร และในเรื่องฐานะทางการเงินแข็งแกร่ง รวมถึง D/E หลังระดมทุนไปแล้วหรือ 0.4 เท่า จากเดิม 0.9 เท่า

Back to top button