พลิกเกมพลังงาน! ทักษิณจุดประเด็นร้อน เลิกอ้างอิง “ราคาสิงคโปร์” จะเป็นไปได้แค่ไหน?

พลิกเกมพลังงาน! ทักษิณจุดประเด็นร้อน เลิกอ้างอิง “ราคาสิงคโปร์” จะเป็นไปได้แค่ไหน?


เป็นประเด็นร้อนที่ชาเลนจ์สังคมอีกครั้ง เมื่อ “ทักษิณ ชินวัตร” อดีตนายกรัฐมนตรี ได้เสนอแนวคิดเกี่ยวการพลิกโฉมด้านพลังงานไทย ผ่านเวทีการเมืองในการหาเสียงเลือกตั้ง นายก อบจ. ด้วยการตั้งคำถามแบบดัง ๆ ว่า ทำไมราคาน้ำมันหน้าโรงกลั่นของไทย ต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปจากตลาดสิงคโปร์ ซึ่งเป็นกลไกที่ใช้มายาวนานในการกำหนดราคาน้ำมันในประเทศไทย ซึ่งอาจช่วยให้ราคาน้ำมันในไทยลดลงและเป็นประโยชน์ต่อประชาชนผู้บริโภค

ดร.ทักษิณ ชินวัตร / ภาพจากพรรคเพื่อไทย

อย่างไรก็ตาม ฝ่ายสนับสนุน เห็นว่า การปรับเปลี่ยนตามแนวทางนี้จะประโยชน์ต่อผู้บริโภคและธุรกิจในระยะยาว โดยช่วยให้ราคาน้ำมันสอดคล้องกับต้นทุนจริง แต่ฝ่ายคัดค้าน กังวลว่าการเลิกอ้างอิงราคาจากตลาดสิงคโปร์ อาจส่งกระทบต่อความน่าเชื่อถือของตลาดพลังงานไทย และอาจเกิดความไม่เสถียรในระบบราคาน้ำมัน

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ / ภาพจาก กรมเชื้อเพลิงธรรมชาติ กระทรวงพลังงาน

ศ.ดร.พรายพล คุ้มทรัพย์ อดีตคณะกรรมการกองทุนเพื่อส่งเสริมการอนุรักษ์พลังงาน และนักวิชาการอิสระด้านพลังงาน เปิดเผยกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจออนไลน์” ว่า คำถามที่ว่าราคาน้ำมันในไทยไม่อ้างอิงราคาตลาดสิงคโปร์ได้หรือไม่ เป็นประเด็นที่ถูกตั้งคำถามบ่อยครั้งมาแล้วหลายยุคหลายสมัย โดยต้องทำความเข้าใจก่อนว่าราคาที่พูดถึงกันนี้คือ “ราคาหน้าโรงกลั่น” ซึ่งเป็นราคาที่โรงกลั่นน้ำมันขายให้กับผู้ซื้อที่มารับน้ำมันหน้าโรงกลั่นโดยตรง

  • อีก 2 แนวคิดดึงราคาหน้าโรงกลั่น

ศ.ดร.พรายพล กล่าวว่า ที่ผ่านมาเคยมีข้อเสนอเป็นทางเลือกหนึ่งว่า ให้โรงกลั่นในประเทศไทยกำหนดเองและแข่งขันกัน แต่ปัญหาในอดีตและปัจจุบันอาจยังมีอยู่บ้าง คือ โรงกลั่นในไทยมีอำนาจผูกขาด เพราะฉะนั้นอาจนำไปสู่การตั้งราคาตามอำเภอใจ จึงนำไปสู่อีกแนวคิด คือให้รัฐเป็นผู้กำกับ กำหนดราคาในประเทศเอง ด้วยใช้ระบบคิดราคาตามต้นทุนของโรงกลั่น ซึ่งเป็นข้อเสนอเดียวกับนายพีระพันธุ์ สาลีรัฐวิภาค รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงานในปัจจุบัน

แต่ประเทศไทยมีโรงกลั่นน้ำมัน 5-6 แห่ง แต่ละแห่งมีลักษณะการกลั่น วิธีการผลิต และสัดส่วนผลิตภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ต้นทุนการผลิตไม่เท่ากัน นอกจากนี้น้ำมันดิบที่ใช้ในการกลั่นก็มาจากแหล่งต่าง ๆ และมีชนิดที่แตกต่างกันอีกด้วย จึงเป็นไปได้ยากที่จะมีการกำหนดราคาที่เหมือนกันทุกโรงกลั่น

ที่สำคัญบางโรงกลั่นเป็นของเอกชน การเปิดเผยต้นทุนการผลิตถือเป็นเรื่องที่ซับซ้อน เนื่องจากข้อมูลดังกล่าวถือเป็นข้อมูลเชิงพาณิชย์ที่มีความสำคัญ การเปิดเผยต้นทุนอย่างละเอียดอาจส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันของบริษัทเอกชน และอาจถือเป็นการเปิดเผยความลับทางธุรกิจ

นักวิชาการอิสระด้านพลังงาน ได้ชี้ให้เห็นถึงอุปสรรคและข้อจำกัดหลายประการในการใช้ต้นทุนของโรงกลั่นน้ำมันในประเทศเพื่อกำหนดราคาน้ำมันในประเทศเอง หนึ่งในปัญหาหลักคือโรงกลั่นอาจไม่ให้ข้อมูลที่ครบถ้วน หรือไม่อัพเดทข้อมูล ซึ่งทำให้การคำนวณเฉลี่ยเพื่อนำไปกำหนดราคากลายเป็นเรื่องยาก

นอกจากนี้ การมีผลิตภัณฑ์น้ำมันหลากหลายชนิด เช่น เบนซิน ดีเซล น้ำมันเตา แก๊สหุงต้ม น้ำมันอากาศยาน และอื่น ๆ ซึ่งแต่ละชนิดมีต้นทุนร่วมกัน (Joint cost) การแบ่งสัดส่วนต้นทุนระหว่างผลิตภัณฑ์ต่าง ๆ ย่อมไม่เหมือนกันในแต่ละโรงกลั่น ทำให้เกิดความซับซ้อนในการคำนวณต้นทุนที่แท้จริง หากไม่มีการตรวจสอบที่โปร่งใส อาจทำให้เกิดการได้เปรียบเสียเปรียบระหว่างโรงกลั่น และที่น่ากลัวที่สุดคือความเสี่ยงต่อการฮั้วกันระหว่างโรงกลั่นต่าง ๆ การตรวจสอบข้อมูลที่ได้รับจากโรงกลั่น จึงเป็นเรื่องที่ท้าทายและอาจทำให้รัฐบาลมีปัญหาในการตรวจสอบความถูกต้องของข้อมูล ดังนั้นจึงมีการใช้อ้างอิงราคาจากตลาดที่มีจุดร่วม

  • ทำไมอิงราคาตลาดสิงคโปร์มายาวนาน

ศ.ดร.พรายพล กล่าวอีกว่า ไทยใช้การอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์ มานานกว่า 20-30 ปีแล้ว เช่นเดียวกับหลายประเทศในภูมิภาคนี้ โดยจุดเด่นของตลาดสิงคโปร์ คือการนำเข้าน้ำมันดิบจากทั่วโลกมาผลิตและขายน้ำมันสำเร็จรูปไปยังประเทศต่าง ๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยมีการเก็บข้อมูลราคาน้ำมันรายวันอย่างโปร่งใสผ่านบริษัทเก็บข้อมูล ทำให้สามารถทราบราคาน้ำมันเฉลี่ยในแต่ละวัน ซึ่งช่วยสะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง แม้ว่าราคาดังกล่าวอาจไม่สะท้อนต้นทุนการผลิตทั้งหมด 100% แต่ก็ถือว่าเป็นราคาที่มีการแข่งขันที่เหมาะสม ไม่สูงหรือต่ำเกินไป

ข้อได้เปรียบอีกประการหนึ่งคือ สิงคโปร์มีทำเลที่ตั้งเป็นศูนย์กลางทางการค้าและทางผ่านของเรือบรรทุกน้ำมัน ทำให้การค้าขายระหว่างประเทศมีความคล่องตัวสูง รัฐบาลสิงคโปร์ยังส่งเสริมการค้าและมีระบบข้อมูลที่ดีและโปร่งใส ต่างจากประเทศไทยที่ผลิตน้ำมันและขายภายในประเทศเป็นหลัก การอ้างอิงราคาจากตลาดที่มีการแข่งขันเช่นสิงคโปร์ จึงเป็นทางเลือกที่เหมาะสมเพื่อให้ราคาน้ำมันในประเทศไทยสะท้อนกลไกตลาดได้อย่างสมดุล

  • ปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ลดราคาขายปลีก

ศ.ดร.พรายพล ได้กล่าวถึงการปรับโครงสร้างราคาน้ำมันใหม่ เพื่อลดค่าใช้จ่ายซ้ำซ้อน โดยชี้ให้เห็นว่า การเก็บภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันเบนซินและดีเซลในประเทศไทย มีอัตราค่อนข้างสูงอยู่ที่ประมาณ 5-6 บาทต่อหน่วย หากสามารถลดภาระภาษีส่วนนี้ลงได้จะส่งผลให้ราคาขายปลีกน้ำมันลดลง อย่างไรก็ตาม ในส่วนของราคาหน้าโรงกลั่นที่ยังคงอ้างอิงกับตลาดสิงคโปร์นั้น ยังคงไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้โดยง่าย เพราะเป็นการอ้างอิงราคาจากตลาดที่มีการแข่งขันเสรี ซึ่งสะท้อนกลไกตลาดที่แท้จริง

นอกจากนี้ยังมีการพูดถึงเงินที่ต้องส่งเข้ากองทุนน้ำมันต่าง ๆ ซึ่งมีบทบาททั้งในด้านการเป็นภาษีและการให้เงินอุดหนุน เช่น รัฐบาลอุดหนุนราคาของแก๊สหุงต้ม (LPG) ทำให้เงินที่เก็บเข้ากองทุนฯ สำหรับผลิตภัณฑ์นี้มักเป็นลบ ในขณะที่น้ำมันเบนซินและดีเซล มักมีการเก็บเงินเข้ากองทุนฯ ในอัตราที่เป็นบวกเสมอ ซึ่งส่งผลต่อราคาขายปลีกของผลิตภัณฑ์เหล่านี้นั่นเอง ดังนั้นการพิจารณาปรับโครงสร้างในส่วนนี้อย่างเหมาะสม อาจช่วยลดภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้บริโภคและเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดการราคาน้ำมันของประเทศได้

  • TDRI หนุนรัฐบาลเลือกอ้างอิงราคาน้ำมันตลาดสิงคโปร์

ขณะที่มุมมองของ ดร.อารีพร อัศวินพงศ์พันธ์ นักวิชาการด้านนโยบายพลังงาน สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI เห็นด้วยกับแนวคิดของนายทักษิณ ที่เสนอให้ไทยเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ เพื่อทำให้ราคาน้ำมันในประเทศถูกลง ซึ่งถ้ารัฐบาลหยิบมาเป็นนโยบายก็เชื่อว่ามีความเป็นไปได้ เนื่องจากไทยไม่มีความจำเป็นต้องอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปตลาดสิงคโปร์ ที่มีการบันทึกค่าขนส่งทางเรือ, ค่าประกันภัยการเดินทางและค่าปรับคุณภาพน้ำมัน ซึ่งเป็นค่าใช้จ่ายที่ไม่ได้เกิดขึ้น เพราะว่า โรงกลั่นไทยสามารถกลั่นน้ำมันสำเร็จรูปได้เองเกือบ 100% ซึ่งหากยกเลิกการอ้างอิงราคาน้ำมันสำเร็จรูปสิงคโปร์ได้ ก็จะทำให้ราคาน้ำมันของไทยถูกลงได้กว่า 1 บาท

ยังคงเป็นเรื่องที่ต้องจับตามองกันต่อไปว่า ข้อเสนอของ “ทักษิณ” ในการเลิกอ้างอิงราคาน้ำมันจากตลาดสิงคโปร์ จะสามารถเปลี่ยนแปลงทิศทางของแวดวงพลังงานไทยได้หรือไม่ โดยเฉพาะในสไตล์ที่เจ้าตัวมักประกาศชัดเจนถึงแนวทาง “ชอบทุบ” เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่

  • อินโนเวสท์เอกซ์ เชื่อเลิกอ้างอิงราคาน้ำมัน ตลาดสิงคโปร์อาจไม่ง่าย

ด้าน บล.อินโนเวสท์เอกซ์ มองว่า การเลิกอิงราคาน้ำมันสิงคโปร์ จะยังคงส่งผลกระทบเชิงลบต่อราคาหุ้นโรงกลั่นโดยรวม เนื่องจากความไม่ชัดเจนว่าจะกำหนดราคาอย่างไร และจะมีการกำหนดโควต้าการส่งออกด้วยหรือไม่ เพราะรัฐบาลอาจจะกำหนดให้โรงกลั่นคิดส่วนเพิ่มจากต้นทุนต่ำเกินไปจนไม่จูงใจให้มีการผลิต โดยเฉพาะโรงกลั่นที่มีต้นทุนสูง หากพิจารณาต้นทุนต่อหน่วย TOP ก็จะเป็นผู้ผลิตที่ต้นทุนต่ำเนื่องจากได้ economy of scale ที่ดีกว่าเมื่อเทียบกับ BCP, SPRC และ BSRC

แต่ในระยะยาวราคาน้ำมันสำเร็จรูปหน้าโรงกลั่นก็น่าจะเข้าใกล้ราคาสิงคโปร์ เนื่องจากการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิตและประเทศไทยก็ยังต้องนำเข้าน้ำมันดิบ ซึ่งก็มีค่าขนส่งและค่าประกันภัยเหมือนเดิม ส่วนที่ต่างกันคือภาษีที่ภาครัฐอาจจะต้องกลับมาทบทวนความเหมาะสมในระยะยาว เพราะภาษีและเงินสมทบเข้ากองทุนก็คิดเป็นกว่า 30% ของราคาน้ำมัน

นอกจากนี้โรงกลั่นน่าจะได้ประโยชน์จากกลไก cost plus มากกว่า ปัจจุบันเนื่องจากน้ำมันในประเทศที่เป็นเกรด ยูโร 5 แต่ภาครัฐก็ยังไม่ให้ปรับราคาเพื่อสะท้อนต้นทุนการผลิตที่เพิ่มขึ้น ทั้งนี้สังเกตจากการที่สภาอุตสาหกรรมเริ่มออกมาสนับสนุน เพราะโรงกลั่นเองก็เป็นสมาชิกในสภาอุตสาหกรรมเช่นกัน และยังไม่มีข้อสรุปของราคาน้ำมันยูโร 5 ที่ต้นทุนสูงขึ้น แต่รัฐยังไม่มีความชัดเจนในประเด็นดังกล่าว

Back to top button