ศึกยกใหม่! เปิดโผ 3 แคนดิเดต ชิงเก้าอี้ผู้ว่าแบงก์ชาติคนใหม่

ศึกยกใหม่! เปิดโผ 3 แคนดิเดต ชิงเก้าอี้ "ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย" คนใหม่ แทน "เศรษฐพุฒิ" ที่จะหมดวาระเดือน ก.ย.นี้


แม้จนถึงขณะนี้ยังไร้วี่แววว่า ใครจะมาเป็นประธานกรรมการ ในคณะกรรมการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ “ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ” แทน นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง ที่ไม่ผ่านการตรวจสอบคุณสมบัติจากคณะกรรมการกฤษฎีกา

แต่ศึกยกใหม่ได้เริ่มต้นขึ้นแล้ว เมื่อมีรายงานว่า ได้มีการเตรียมพิจารณาบุคคลที่จะมาดำรงตำแหน่ง ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย หรือ ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนใหม่ แทน ดร.เศรษฐพุฒิ สุทธิวาทนฤพุฒิ ซึ่งจะหมดวาระในวันที่ 30 กันยายน 2568

โดย นายลวรณ แสงสนิท ปลัดกระทรวงการคลัง เปิดเผยถึงกระบวนการคัดเลือก ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย คนใหม่ ว่า กระบวนการนี้ต้องดำเนินการล่วงหน้าก่อนที่ผู้ว่าการคนปัจจุบันจะหมดวาระเป็นเวลา 90 วัน โดยผู้สมัครจะต้อง ยื่นใบสมัครและดำเนินการด้วยตนเอง หรือ สมัครเอง

  • เปิดประวัติโดยสังเขป 3 แคนดิเดต
ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ / ภาพจาก กระทรวงการคลัง

คนแรก ดร.เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ ปัจจุบันดำรงตำแหน่ง อธิบดีกรมสรรพสามิต อายุ 54 ปี จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขาเศรษฐศาสตร์ (เกียรตินิยม) จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยได้รับทุนจากสมาคมธรรมศาสตร์

สำหรับระดับปริญญาโท ดร.เอกนิติ สำเร็จการศึกษาจาก มหาวิทยาลัยอิลลินอยส์ ที่เออร์บานา-แชมเปญจน์ (University of Illinois at Urbana-Champaign) ประเทศสหรัฐอเมริกา ในสาขาเศรษฐศาสตร์มหาบัณฑิต และระดับปริญญาเอก สำเร็จการศึกษาด้าน เศรษฐศาสตร์ดุษฎีบัณฑิต จาก Claremont Graduate University ประเทศสหรัฐอเมริกา ด้วยทุนรัฐบาลไทย (ก.พ.)

หลังจบการศึกษาได้เข้ารับราชการใน กระทรวงการคลัง โดยดำรงตำแหน่งต่าง ๆ ที่สำคัญ ได้แก่ อัครราชทูตฝ่ายเศรษฐกิจการคลัง ประจำสหราชอาณาจักรและยุโรป, Senior Advisor ของธนาคารโลก ณ กรุงวอชิงตันดีซี, โฆษกกระทรวงการคลัง, นักวิเคราะห์หลักทรัพย์ของบริษัท เงินทุนหลักทรัพย์ภัทรธนกิจ, รองผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) กระทรวงการคลัง และ ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ

นอกจากนี้ ดร.เอกนิติ ยังดำรงตำแหน่งอธิบดีในหลายกรม เช่น อธิบดีกรมสรรพากร และ อธิบดีกรมสรรพสามิต แสดงให้เห็นถึงความเชี่ยวชาญและประสบการณ์ที่หลากหลายในด้านการบริหารงานด้านเศรษฐกิจและการคลังของประเทศ

นายเอกนิติ ยังเป็นผู้นำแนวคิด PPP Fast Track มาขับเคลื่อนโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐ ซึ่งสามารถลดเวลาการอนุมัติโครงการเมกะโปรเจกต์จากปกติที่ใช้เวลาถึง 2 ปี เหลือเพียง 9 เดือน นอกจากนี้ยังเป็นผู้ริเริ่มจัดตั้ง กองทุนรวมโครงสร้างพื้นฐานเพื่ออนาคตประเทศไทย หรือ Thailand Future Fund เพื่อเป็นแหล่งเงินทุนในการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ ซึ่งมีส่วนช่วยลดภาระรัฐบาลในการกู้เงินและลดภาระหนี้สาธารณะอย่างมีนัยสำคัญ

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ภาพจาก สถาบันเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

คนที่ 2 ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ หรือ ดร.ก้อย อายุ 51 ปี เป็นนักเรียนทุนเล่าเรียนหลวง สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Harvard University และปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา มีประสบการณ์ทำงานในองค์กรระหว่างประเทศและภาคเอกชนชั้นนำ อาทิ นักเศรษฐศาสตร์จาก กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ประเทศสหรัฐอเมริกา และนักบริหารความเสี่ยงของกลุ่มการเงิน ING ประเทศเนเธอร์แลนด์

นอกจากนี้ยังเคยเข้ารับราชการ ตำแหน่ง ผู้อำนวยการส่วนวิเคราะห์เศรษฐกิจมหภาค ของสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง กระทรวงการคลัง และเป็น อนุกรรมาธิการด้านการเงิน การธนาคาร สถาบันการเงินและตลาดทุน ในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

ดร.สุทธาภา ยังดำรงตำแหน่ง รองผู้จัดการใหญ่ ในฐานะหัวหน้าทีมเศรษฐกิจบริหารสายงาน Economic Intelligence Center และดูแลสายงานวิเคราะห์ความเสี่ยง (Risk Analytics) ของธนาคารไทยพาณิชย์ นอกจากนี้ยังเป็นผู้ก่อตั้งและประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท อบาคัส ดิจิทัล (ABACUS Digital) ขึ้นแท่นเป็นผู้นำด้านเทคโนโลยีการเงิน ด้วยการให้บริการสินเชื่อออนไลน์ผ่านแอปพลิเคชัน มันนี่ทันเดอร์ (Money Thunder) ที่ตอบโจทย์ความต้องการของผู้ใช้ในยุคดิจิทัล

ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส / ภาพจาก ธนาคารแห่งประเทศไทย

และคนที่ 3 ดีกรี DNA แบงก์ชาติเต็มตัว ดร.รุ่ง มัลลิกะมาส รองผู้ว่าการ ด้านบริหาร ธนาคารแห่งประเทศไทย อายุ 57 ปี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก Harvard University ประเทศสหรัฐอเมริกา และปริญญาเอกจาก Massachusetts Institute of Technology (MIT) ประเทศสหรัฐอเมริกา

ดร.รุ่ง มีประสบการณ์ทำงานทั้งด้านนโยบายเศรษฐกิจการเงินและภาคสถาบันการเงินไทย เคยดำรงตำแหน่งรองกรรมการผู้จัดการใหญ่ สายงาน Global Business Development and Strategy ธนาคารกรุงไทย จำกัด (มหาชน)

เธอเริ่มต้นและเติบโตในสายงานธนาคารแห่งประเทศไทย เคยดำรงตำแหน่ง ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายเสถียรภาพระบบการเงินและยุทธศาสตร์องค์กร และ ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายสถาบันการเงิน ก่อนที่จะขึ้นเป็นรองผู้ว่าการฯ ตั้งแต่ปี 2565 และยังเคยเป็นคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) ด้วย

ดร.รุ่ง มีส่วนสำคัญในการผลักดันการจัดทำ “แนวนโยบายภูมิทัศน์ใหม่ภาคการเงินไทยเพื่อเศรษฐกิจดิจิทัลและการเติบโตอย่างยั่งยืน (Financial Landscape)” และเอกสาร “แนวทางการแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างยั่งยืน” ซึ่งมุ่งเน้นการสร้างสมดุลระหว่างการส่งเสริมนวัตกรรมทางการเงินกับการกำกับดูแลความเสี่ยง รวมถึงการแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร เพื่อให้เศรษฐกิจไทยสามารถปรับตัวและเติบโตอย่างยั่งยืนในยุคเศรษฐกิจดิจิทัล

ต้องจับตาดูว่าในที่สุด ผู้ว่าแบงก์ชาติ คนใหม่จะเป็น 1 ใน 3 แคนดิเดต นี้หรือไม่ และใครจะเป็นผู้กุมอำนาจ ธนาคารกลางของประเทศ ซึ่งจะส่งผลต่อทิศทางเศรษฐกิจไทยอย่างสำคัญ รวมถึงว่าจะซ้ำรอยการคัดเลือก ประธานบอร์ดแบงก์ชาติ ที่มีข้อกังขาจนเวลาล่วงเลยข้ามปีหรือไม่ ตอนนี้ก็ยังไม่มีใครสามารถตอบได้แน่ชัด

Back to top button