“ซิตี้แบงก์” มองเศรษฐกิจไทยปี 68 เติบโต 3.2% ภาคเอกชนรับแรงหนุนการจ้างงาน

“ซิตี้แบงก์” คาดจีดีพีปีประเทศไทย ปี 2568 โต 3.2% จากการบริโภคภาคเอกชนที่ได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานและการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และการลงทุนภาคเอกชนที่มีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น พร้อมกันนี้ คาดว่าการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐปีนี้จะเพิ่มขึ้นเพื่อดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ ด้านภาคการท่องเที่ยวยังคงเติบโตต่อเนื่อง


นางสาวนลิน ฉัตรโชติธรรม นักเศรษฐศาสตร์ ธนาคารซิตี้แบงก์ ประเทศไทย กล่าวว่า “ซิตี้แบงก์ คาดว่าจีดีพีของประเทศไทยปี 2568 จะเติบโตที่ 3.2% เพิ่มจาก 2.7% ในปี 2567 โดยการบริโภคภาคเอกชน แม้จะเติบโตในอัตราชะลอลงจากปัญหาหนี้ครัวเรือน และยอดขายรถยนต์ที่ซบเซา แต่ยังคงได้รับแรงหนุนจากการจ้างงานที่แข็งแกร่ง การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจากภาครัฐ ขณะที่การลงทุนภาคเอกชนมีแนวโน้มเร่งตัวขึ้น จากการดำเนินโครงการที่ได้รับอนุมัติจากสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (สกท.) เช่น การลงทุนในยานยนต์ไฟฟ้า ดาต้าเซนเตอร์ และการแปรรูปอาหาร ซึ่งประเทศไทยยังคงได้รับอานิสงส์จากจุดแข็งทางภูมิศาสตร์ และความพร้อมของโครงสร้างพื้นฐาน แต่ภาครัฐต้องมีการพัฒนาปัจจัยด้านอื่น ๆ เพื่อรักษาศักยภาพในการแข่งขัน เช่น ปรับปรุงกฎระเบียบเพื่อความสะดวกในการดำเนินธุรกิจการเพิ่มกำลังการผลิต และพัฒนาทักษะแรงงานในประเทศ

ด้านภาคการท่องเที่ยวยังเติบโตต่อเนื่อง แต่ซิตี้แบงก์ได้ปรับลดประมาณการจำนวนนักท่องเที่ยวปี 2568 ลงมาที่ 39.8 ล้านคน หลังการท่องเที่ยวปีก่อนหน้าฟื้นตัวช้ากว่าคาดการณ์ อย่างไรก็ตาม ค่าใช้จ่ายต่อหัวของนักท่องเที่ยวอาจเพิ่มเป็น 1,298 ดอลลาร์สหรัฐ (หรือราว 44,000 บาท) ทำให้คาดว่ารายได้การท่องเที่ยวไทยปีนี้จะอยู่ที่ราว 9.3% ของจีดีพี ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะเติบโตลดลง อยู่ที่ประมาณ 3% จากสถานการณ์การค้าโลกชะลอตัว และความไม่แน่นอนในการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐอเมริกา

นอกจากนี้ คาดว่าเศรษฐกิจจะยังรัฐบาลบาลมีแผนกระตุ้นการเติบโตทางเศรษฐกิจด้วยการเพิ่มการใช้จ่ายภาครัฐ โดยซิตี้แบงก์คาดว่าการเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2568 จะเพิ่มขึ้น ส่วนหนึ่งมาจากงบประมาณค้างจ่ายในปีงบประมาณ 2567 ขณะที่งบขาดดุลในปีงบประมาณ 2568 วางไว้ที่ลดลง 4.5% ของจีดีพี ซึ่งกว้างขึ้นเล็กน้อย เพื่อสนับสนุนการดำเนินมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจ เช่น โครงการดิจิทัลวอลเล็ตเฟส 2 โครงการ Easy E-Receipt 2.0 และ โครงการ คุณสู้เราช่วย ที่ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศช่วงครึ่งปีแรก สำหรับบัญชีเดินสะพัดปี 2568 ซิตี้แบงก์คาดการณ์ไว้ที่ 2.7% ของจีดีพี เพิ่มจาก 2.1% ของจีดีพี ในปี 2567 จากต้นทุนการนำเข้าน้ำมันลดลง และการท่องเที่ยวที่เติบโตต่อเนื่อง ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจะช่วยสนับสนุนค่าเงินบาทได้ในระดับหนึ่ง แม้จะต่ำกว่าช่วงก่อนการระบาดของโควิด-19 ท่ามกลางความผันผวนในตลาดอัตราแลกเปลี่ยน

Young Asian beautiful mother holding grocery basket with her child walking in supermarket. She is choosing green salad vegetable picking up from shelf with her little daughter. Shopping for healthy.

“สำหรับสถานการณ์เงินเฟ้อ มีการปรับลดคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อปี 2568 อยู่ที่ 1.2% ส่วนหนึ่งมาจากอัตราเงินเฟ้อปี 2567 ต่ำกว่าที่คาด รวมถึงความเสี่ยงขาลงจากสินค้าคงทนที่นำเข้าจากจีน โดยคาดว่าอัตราเงินเฟ้อพื้นฐานจะทยอยกลับเข้าสู่กรอบเป้าหมายที่ 1-3% นอกจากนี้ รัฐบาลอาจใช้โอกาสที่ราคาน้ำมันดิบลดลง เก็บค่าธรรมเนียมน้ำมันเพิ่มเติมอย่างค่อยเป็นค่อยไป เพื่อเติมเงินเข้ากองทุนน้ำมันเชื้อเพลิงของรัฐ ทั้งนี้ ตลอดปีนี้ไปจนถึงปี 2569 ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) มีโอกาสคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 2.25% และดำเนินนโยบายแบบเป็นกลาง เพื่อรักษาช่องว่างของการใช้นโยบาย ตลอดจนช่วยแก้ไขปัญหาหนี้ครัวเรือน อย่างไรก็ดี ซิตี้แบงก์คาดว่ามีโอกาส 40% ที่ธปท. จะปรับลดอัตราดอกเบี้ย 0.25% ในครึ่งแรกของปี 2568 หากเศรษฐกิจยังไม่ฟื้นตัวตามคาดการณ์” นางสาวนลิน กล่าวทิ้งท้าย

Back to top button