EA จองเพิ่มทุนวันสุดท้าย ลุ้นระดมเงิน 7.6 พันลบ. พร้อมขายโซลาร์ “พิษณุโลก” 8,000 ล้านบาท
“พลังงานบริสุทธิ์” มั่นใจวันนี้นักลงทุนแห่ใช้สิทธิ์จองซื้อหุ้นเพิ่มทุนวันสุดท้าย หลังรายย่อยใช้สิทธิ์เกินครึ่งแล้ว คาดระดมทุนได้ราว 7,600 ล้านบาท พร้อมขายโซล่า พิษณุโลก อีก 8,000 ล้านบาท รวมเป็น 1.5 หมื่นล้านบาท สร้างความมั่นคงทางการเงิน ล่าสุดกระแสเงินสดแตะ 5,000 ล้านบาท EBITDA อีก 6,000 ล้านบาท
นายวสุ กลมเกลี้ยง ประธานเจ้าหน้าที่บริหารการเงิน บริษัท พลังงานบริสุทธิ์ จำกัด (มหาชน) หรือ EA กล่าวกับ “ข่าวหุ้นธุรกิจ” ว่า วันนี้ (23 ม.ค. 2568) เป็นวันจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนวันสุดท้าย คาดนักลงทุนน่าจะใช้สิทธิ์เต็มจำนวน ซึ่งในส่วนของรายย่อยมีการใช้สิทธิ์เกินครึ่งแล้ว หากไม่ใช้สิทธิ์จะเสียโอกาส ส่วนรายใหญ่คาดว่าจะมีการใช้สิทธิ์วันสุดท้าย และน่าจะสรุปเม็ดเงินว่าบริษัทจะได้รับเงินจำนวนเท่าไรประมาณวันที่ 24 ม.ค. 2568 ขณะที่บริษัทมีเป้าหมายจะระดมทุนได้ประมาณ 7,600 ล้านบาท
โดยก่อนหน้านี้ผู้ถือหุ้นไฟเขียวเพิ่มทุนจำนวน 4,951,121,866 หุ้น แบ่งจัดสรรให้ผู้ถือหุ้นเดิมตามสัดส่วนการถือหุ้น (RO) จำนวน 3,713,341,400 หุ้น อัตราส่วน 1 หุ้นเดิมต่อ 1 หุ้นใหม่ ราคาจองซื้อหุ้นละ 2 บาท พร้อมรับใบสำคัญแสดงสิทธิ (วอร์แรนต์) EA-W1 ฟรี ในอัตราส่วน 3 หุ้นสามัญเพิ่มทุนต่อ 1 วอร์แรนต์ โดยกำหนดราคาใช้สิทธิแปลงสภาพเป็นหุ้นสามัญที่ 4 บาทต่อหุ้น ระยะเวลาใช้สิทธิ 3 ปี และกำหนดจองซื้อหุ้นสามัญเพิ่มทุนระหว่างวันที่ 17-23 ม.ค. 2568
ทั้งนี้หลังจากเพิ่มทุนเสร็จ บริษัทมีแผนจะขายโครงการโรงไฟฟ้าของบริษัท อีเอ โซล่า พิษณุโลก (ESP) ซึ่งจะเสนอขออนุมัติจากที่ประชุมผู้ถือหุ้นในวันที่ 31 ม.ค. 2568 ราคาประมาณ 8,000 ล้านบาท เมื่อรวมกับเงินเพิ่มทุนประมาณ 7,600 ล้านบาท ก็จะมีเงินประมาณ 15,000 ล้านบาท บริษัทก็จะนำเงินนี้ไปแก้ปัญหาได้ ความมั่นคงทางการเงินของบริษัทจะกลับมาสามารถไปเจรจากับสถาบันการเงินได้
อย่างไรก็ตาม เมื่อบริษัทมีเงินเข้ามา จะช่วยแก้ปัญหาทางด้านการเงินได้ในธุรกิจหลักของบริษัท จากที่มีดีลใหม่ ๆ ที่เข้ามา เพื่อให้โครงการดำเนินการไปได้ ทั้งโครงการโรงไฟฟ้าขยะที่ จ.ภูเก็ต โรงไฟฟ้าขยะที่ จ.ปทุมธานี หรือโครงการที่ชนะพลังงานหมุนเวียน หากไม่มีเงินก็จะดำเนินการต่อไม่ได้ เมื่อแก้ปัญหาเรื่องเงินได้ ธุรกิจก็จะดำเนินการต่อไปได้ รวมถึงการลงทุนที่ สปป.ลาว ก็จะเดินหน้าไปต่อได้
“เงินจากการเพิ่มทุนและขายโครงการได้ รวมประมาณ 15,000 ล้านบาท ได้มาจะบอกว่าสถานการณ์ทางการเงินของบริษัทแข็งแรงขึ้น ทางสถาบันการเงินหรือผู้ถือหุ้นกู้ จะเห็นถึงศักยภาพ ให้โอกาสเรามากขึ้น ดังนั้นเงินตรงนี้ จะช่วยสร้างความเชื่อมั่น ส่วนการแก้ปัญหา สิ่งที่จะบอกได้คือเงินเพียงพอที่จะจ่ายหนี้ โดยกระแสเงินสด (Cash Flow) ในช่วง 9 เดือนแรกของปี 2567 มีอยู่กว่า 5,000 ล้านบาท และมีกำไรก่อนหักดอกเบี้ย ภาษี ค่าเสื่อมราคาและค่าตัดจำหน่าย (EBITDA) อยู่ที่ประมาณ 6,000 ล้านบาท ซึ่งเราไม่ได้แย่และด้วยภาพตรงนี้คือมีความแข็งแรงพอที่จะเดินต่อไปได้ ส่วนการจัดสรรเงินแบ่งใช้อะไรเท่าไรจะต้องมาดูอีกที” นายวสุ กล่าว
ด้านคำสั่งซื้อรถหัวลากรถบัสไฟฟ้า รวมถึงการหาลูกค้าใหม่นั้น บริษัทต้องมีการระบายรถในสต๊อกที่มีอยู่ให้หมดก่อนเดินสายการผลิตใหม่ ส่วนโรงงานผลิตแบตเตอรี่ อยู่ระหว่างเจรจาพันธมิตรใหม่ โดยมีการมองหาพันธมิตรที่มีลูกค้า อีกทั้งช่วยระบายสินค้าให้กับบริษัทด้วย