นายกฯ ไม่ปล่อยผ่าน! สั่งด่วนจาก “ดาวอส” แก้ปัญหาฝุ่น PM2.5
นายกฯ “แพทองธาร” ลั่น ฝุ่นควันคือวาระแห่งชาติ ยันไม่ได้นิ่งนอนใจ จี้ทุกหน่วยงานเร่งแก้ปัญหา PM 2.5 พรุ่งนี้นัดประชุมคอนเฟอเรนซ์จากสวิส
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันนี้ (23 ม.ค.68) นางสาวแพทองธาร ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี ซึ่งอยู่ระหว่างประชุม World Economic Forum ประจำปี 2568 (WEF Annual Meeting 2025: WEF AM25) ณ เมืองดาวอส สมาพันธรัฐสวิส ได้โพสต์ข้อความผ่านเฟซบุ๊ก Ing Shinawatra ถึงวิกฤตฝุ่น PM 2.5 ที่ประชาชนในประเทศไทยกำลังเผชิญอยู่
“กรณีฝุ่นควันประเทศไทย ดิฉันไม่ได้นิ่งนอนใจ เพราะทราบดีว่านี่คือวิกฤตสุขภาพของคนไทยทั้งประเทศ ระหว่างประชุม WEF ก็ได้มีการหารือกับทีมรัฐบาลในประเทศเป็นระยะ โดยวันนี้ดิฉันได้ขอให้ทุกหน่วยงานระดมสรรพกำลัง แก้ไขฝุ่นควันทันที” นางสาวแพทองธาร ระบุ
นายกรัฐมนตรี ระบุอีกว่า เบื้องต้นให้นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย ในฐานะผู้บัญชาการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ ใช้กลไกตามกฎหมายว่าด้วยการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย บริหารสถานการณ์ฝุ่นควัน และเร่งจัดตั้ง “ศูนย์” ที่ทำหน้าที่สื่อสารให้ข้อมูลกับประชาชน เพื่อให้คำแนะนำด้านการปฏิบัติตัวรวมถึงมาตรการต่าง ๆ ของภาครัฐ ผ่านช่องทางที่ประชาชนเข้าถึงได้ง่าย โดยให้นายภูมิธรรม เวชยชัย รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม เป็นที่ปรึกษา และเพื่อให้การแก้ไขปัญหาดังกล่าวมีความต่อเนื่อง
โดยให้รองนายกฯ อนุทิน ร่วมกับนายประเสริฐ จันทร์รวงทอง รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ในฐานะประธานคณะกรรมการอำนวยการเพื่อการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศ กำหนดมาตรการเฉพาะหน้าที่จะให้ความช่วยเหลือประชาชน และบรรเทาสถานการณ์ให้ดีขึ้นโดยเร็ว ควบคู่ไปกับการติดตามการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการแก้ไขปัญหาฝุ่น ตามมติคณะรัฐมนตรี (ครม.) และข้อสั่งการซึ่งประชุมกันไปเมื่อสัปดาห์ที่แล้วด้วย และให้นายมาริษ เสงี่ยมพงษ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ประสานกับรัฐมนตรีอาเซียน ขอความร่วมมือแก้ปัญหาเรื่องนี้ร่วมกัน
- ระยะสั้นขอให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องพิจารณามาตรการเร่งด่วนเพื่อบรรเทาปัญหา ดังต่อไปนี้
ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ร่วมกับกระทรวงศึกษาธิการ ตัดสินใจทันทีเรื่องการประกาศหยุดเรียนของนักเรียน ให้กทม.ใช้ 9 มาตรการ เช่น เข้มงวดตรวจวัดตรวจจับรถยนต์ควันดำทุกประเภท ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องตามแผนที่กำหนด, ขอความร่วมมือทำงานหรือปฏิบัติงานในที่พัก (Work From Home) , เข้มงวดตรวจตราควบคุม ไม่ให้มีการเผาขยะหรือการเผาในที่โล่งทุกประเภท
กระทรวงอุตสาหกรรม ให้ดำเนินมาตรการ งดการรับซื้ออ้อยไฟไหม้ และกวดขันโดยเจ้าหน้าที่ฝ่ายป้องกันและปราบปรามเข้าตรวจสอบเป็นระยะ
กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ร่วมกับสำนักงานตำรวจแห่งชาติ บังคับใช้กฎหมายส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมอย่างเข้มงวดกับผู้เผาป่า เผาตอซังข้าว ข้าวโพด อ้อยและพืช ในทุกหมู่บ้านทุกอำเภอทั้งประเทศ และตั้งศูนย์ปฏิบัติการในพื้นที่ 14 กลุ่มป่า ตั้งจุดเฝ้าระวังไฟในพื้นที่ป่า และแผนการจัดจ้างคนในชุมชนประจำจุดเฝ้าระวังอีก 1,585 จุด ดำเนินคดีกับผู้เผาป่า ด้วยกฎหมายป่าไม้ที่เกี่ยวข้องทุกฉบับ และบังคับใช้กฎหมายกับผู้เผา อาทิ กฎหมายสาธารณสุข กฎหมายการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และประมวลกฎหมายอาญา โดยให้รายงานสถิติการจับกุม
กระทรวงพาณิชย์ ร่วมกับ กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกำหนดมาตรการห้ามนำเข้าอ้อยไฟไหม้ รวมทั้งพืชเกษตรอื่นๆ ที่ผ่านการเผาอย่างเด็ดขาด และให้ตรวจสอบตามด่านพรมแดนที่มีการนำเข้าอย่างเข้มงวด
กระทรวงคมนาคม และ สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ขอให้กวดขันจับกุม ห้ามใช้ยานพาหนะที่ปล่อยควันดำเกินมาตรฐานอย่างจริงจัง โดยเฉพาะรถปิคอัพ รถโดยสาร รถบรรทุกขนาดใหญ่ ที่ปล่อยควันดำ รวมทั้งรถโดยสารของ ขสมก. และรถร่วมบริการเส้นทางต่างๆ ที่อยู่ในความดูแลของรัฐ โดยขอให้ตรวจสอบและกวดขันการจับคุมอย่างเข้มงวด และในกรุงเทพมหานคร ขอให้กองบังคับการตำรวจจราจรตั้งด่านตรวจควันดำใน 4 มุมเมืองของกรุงเทพมหานคร
กระทรวงมหาดไทย กำชับให้ กทม. และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นทุกแห่ง ควบคุมการก่อสร้างในเขตพื้นที่รับผิดชอบ รวมทั้งกำหนดมาตรการป้องกันการปล่อย PM 2.5 จากไซต์งานก่อสร้าง รวมทั้งบังคับใช้กฎหมายอย่างเคร่งครัดให้กับผู้ประกอบการที่ฝ่าฝืน หรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายหรือมาตรการดังกล่าวอย่างจริงจัง โดยให้จังหวัดและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น ดำเนินการตามกฎหมายกับผู้เผาและให้รายงานสถิติการดำเนินการ
กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมฝนหลวงและการบินเกษตร ขอให้ขึ้นบินปฏิบัติการต่อเนื่องในการเจาะชั้นบรรยากาศเร่งระบายและลดการสะสมของฝุ่น PM 2.5 รวมทั้งให้ทุกหน่วยงานในสังกัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ อาทิ กรมการข้าว และ กรมฝนหลวง และการบินเกษตร ลงพื้นที่ให้ความรู้แก่เกษตรกรในการทำเกษตรกรรมแบบปลอดการเผา
กระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม ร่วมกับ กระทรวงอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม และกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม พัฒนา Platform ฐานข้อมูลกลางเกี่ยวกับ hotspot และ ventilation โดยใช้ข้อมูลจากดาวเทียม หรือ low cost sensors เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ นำไปใช้ในการแก้ปัญหาการฟุ้งกระจายของ PM2.5 อย่างบูรณาการ
กระทรวงการต่างประเทศ หารือกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อร่วมมือและให้ความช่วยเหลือในการลดปัญหาฝุ่นควันข้ามพรมแดน
กระทรวงสาธารณสุข ให้ สธ. ทั่วประเทศ คุมเข้ม 5 มาตรการ 1.ให้ศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุขเตรียมพร้อม, 2.เร่งประชาสัมพันธ์เชิงรุกและสร้างความรอบรู้ภัยสุขภาพ, 3.สำนักงานสาธารณสุขจังหวัดทั่วประเทศ (สสจ.) จัดทีมปฏิบัติการทางการแพทย์ลงพื้นที่ดูแลกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง, 4.ขยายบริการด้านการแพทย์สาธารณสุขให้ครอบคลุม เช่น เพิ่มห้องปลอดฝุ่น มุ้งสู้ฝุ่น และ 5.สนับสนุนอุปกรณ์เวชภัณฑ์ต่าง ๆ เช่น หน้ากากอนามัย อย่างเร่งด่วนต่อไป
“ฝุ่นควัน คือวาระแห่งชาติ รัฐบาลไม่นิ่งนอนใจและจะเดินหน้า ทำทุกมาตรการให้เกิดผลโดยเร็วค่ะ” นางสาวแพทองธาร ระบุทิ้งท้าย
ด้านนายจิรายุ ห่วงทรัพย์ ที่ปรึกษาของนายกรัฐมนตรีและโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยด้วยว่า นางสาวแพทองธาร จะวิดีโอคอนเฟอเรนซ์จากประเทศสวิตเซอร์แลนด์เพื่อประชุมติดตามความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาเร่งด่วนอีกครั้งกับส่วนราชการที่เกี่ยวข้องในพรุ่งนี้ (24 ม.ค.68)